ปลากะมงพร้าวยักษ์ ที่คนนิยมตกปลาชนิดนี้เล่นเป็นเกมกีฬา
ปลากะมงพร้าวยักษ์ ปลากินเนื้อเป็นปลาขนาดใหญ่ที่นิยมตกปลาชนิดนี้ เล่นเป็นเกมกีฬา
ปลากะมงพร้าว หรือ ปลากะมงยักษ์ หรือ ปลาตะคองยักษ์ (อังกฤษ: Giant trevally, Lowly trevally, Giant kingfish; ชื่อย่อ: GT; ชื่อวิทยาศาสตร์: Caranx ignobilis) ปลาทะเลขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง ในวงศ์ปลาหางแข็ง (Carangidae)
ข้อมูลเบื้องต้น ปลากะมงพร้าว, สถานะการอนุรักษ์ ...
มีส่วนหัวโค้งลาด ปากกว้าง ลำตัวแบนข้าง ครีบหางเว้าลึก ข้างลำตัวและโคนหางมีเส้นแข็งสีคล้ำ ลำตัวสีเทาเงินหรืออมเหลือง ครีบอกสีเหลือง ครีบหลังยาวและมีแต้มสีขาวที่ตอนปลาย ครีบอื่นสีคล้ำ ในปลาขนาดใหญ่อาจมีจุดประสีคล้ำที่ข้างลำตัว
มีความยาวเมื่อโตเต็มที่ได้ถึง 170 เซนติเมตร น้ำหนัก 80 กิโลกรัม
ปลาขนาดเล็กจะอยู่รวมเป็นฝูง อาจรวมฝูงปะปนกับปลากะมงชนิดอื่น เช่น ปลากะมงตาโต (C. sexfasciatus) หรือมักว่ายคู่กับปลาขนาดใหญ่ เช่น ปลาฉลามวาฬ หรือ ปลากระเบนแมนตา เมื่อโตขึ้นจะแยกตัวอยู่ตามลำพังเพียงตัวเดียว หรือเป็นฝูงเล็ก ๆ แค่ 2 หรือ 3 ตัว
เป็นปลาที่กินเนื้อเป็นอาหาร โดยไล่ล่าปลาขนาดเล็กต่าง ๆ เช่น ปลากะตัก รวมทั้ง หมึก, กุ้ง และปู รวมถึงปลากะมงด้วยกันเป็นอาหาร บ่อยครั้งที่พบเห็นออกล่าเหยื่อแถบน้ำตื้นด้านข้างของเกาะหรือใกล้หาดทราย และยังมีรายงานว่าที่เกาะห่างไกลแห่งหนึ่งในเซเชลส์เคยไล่โฉบนกทะเลที่บริเวณผิวน้ำอีกด้วย
ในปลาขนาดเล็กอาจพบได้ในแหล่งน้ำกร่อยหรือน้ำจืด เช่น ท่าเรือ, ชายฝั่ง และปากแม่น้ำ ปลาขนาดใหญ่อยู่นอกแนวปะการังหรือกองหินใต้น้ำ ในทะเลเปิด ที่แอฟริกาตะวันออก ปลากะมงพร้าวขนาดโตเต็มวัยจะว่ายเป็นฝูงเข้ามาในแม่น้ำที่เป็นน้ำจืด อย่างช้า ๆ และว่ายเป็นวงกลมรอบ ๆ ไปมา โดยที่ยังไม่ทราบสาเหตุถึงพฤติกรรมเช่นนี้
เป็นปลาที่แพร่กระจายไปในมหาสมุทรแปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดีย ตั้งแต่ฮาวาย, ญี่ปุ่น, ชายฝั่งแอฟริกาตะวันออก จนถึงออสเตรเลีย ในน่านน้ำไทยสามารถพบได้ทั้ง 2 ฟากฝั่งทะเล จัดเป็นปลาที่พบได้บ่อย
เป็นปลาขนาดใหญ่ที่นิยมตกกันเป็นเกมกีฬา โดยถือเป็นปลาเกมที่เป็นปลาทะเล 1 ใน 3 ชนิดที่นิยมตกกัน โดยเฉพาะที่คิริบาสหรือหมู่เกาะเซเชลส์ มีชาวตะวันตกที่ชื่นชอบการตกปลายินดีที่จ่ายเงินคนละสามแสนบาท เพื่อที่ล่องเรือไปในทะเลเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ เข้าพักในรีสอร์ตที่สามารถพักได้เพียง 20 คน เพียงเพื่อที่จะตกปลาชนิดนี้
โดยเมื่อตกได้ จะไม่ทำอันตรายใด ๆ ต่อปลา จะเพียงแค่ถ่ายรูปหรือบันทึกสถิติ จากนั้นจึงจะปล่อยลงทะเลไป นอกจากนี้แล้วยังนิยมเลี้ยงกันในพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งปลากะมงพร้าวมีพฤติกรรมพุ่งเข้าอาหารด้วยความรุนแรง ทำให้หลายครั้งสร้างความบาดเจ็บแก่ผู้ให้อาหารแบบที่สวมชุดประดาน้ำลงไปให้ถึงในที่เลี้ยง
อีกทั้ง ยังมีผู้ที่นิยมเลี้ยงปลาสวยงามประเภทปลาใหญ่ หรือปลากินเนื้อ เลี้ยงเป็นปลาสวยงามด้วย เช่นเดียวกับปลากะมงตาโต โดยจะนำมาเลี้ยงในน้ำจืดตั้งแต่ยังเล็ก ๆ ทั้งนี้มีรายงานระบุอย่างไม่เป็นทางการว่า ในหลายพื้นที่ได้พบปลากะมงพร้าวขนาดกลางหรือค่อนไปทางใหญ่ในแหล่งน้ำจืด เช่น ในเหมืองร้างแห่งหนึ่ง
ในอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา และที่จังหวัดชุมพร สันนิษฐานว่าคงเป็นปลาที่ผลัดหลงมาจากเหตุการณ์สึนามิในปี ค.ศ. 2004 ซึ่งปลามีน้ำหนักประมาณ 2-10 กิโลกรัม นอกจากนี้แล้วที่ประเทศอินโดนีเซีย ยังมีผู้เลี้ยงปลากะมงพร้าวในน้ำจืดได้ในบ่อปลาคาร์ป จนมีขนาดใหญ่ราว 60 เซนติเมตรได้ โดยเลี้ยงมาตั้งแต่ตัวประมาณ 5 เซนติเมตร
ซึ่งการจะเลี้ยงปลาให้เติบโตและแข็งแรงจนโตได้ ต้องเลี้ยงในสถานที่ ๆ มีความกว้างขวางพอสมควร และต้องผสมเกลือลงไปในน้ำในปริมาณที่มากพอควร แม้จะมีปริมาณความเค็มไม่เท่ากับน้ำทะเลก็ตาม
อ้างอิงจาก: ปลากะมงพร้าว ในฝูงปลากะมงตาโต. "ท่องโลกใต้ทะเล" ,วิกิพีเดีย,YouTube