ประวัติความเป็นมา ของ ปิ่นโต
ปิ่นโต เป็นภาชนะชนิดหนึ่งสำหรับบรรจุอาหาร ประกอบด้วยภาชนะรูปทรงกระบอกซ้อนกันเป็นชั้นๆ มีโครงเป็นโลหะเรียกว่าขาร้อยตรงส่วนหูสองข้าง หิ้วได้ มักจะมีตั้งแต่ 2 ชั้นขึ้นไป ลักษณนามเรียก "เถา"
ที่มา เดิมมีการเข้าใจผิดว่า "ปิ่นโต" มาจากคำว่า "ปินโต" ในภาษาโปรตุเกส แต่โสมทัต เทเวศร์ (นามปากกาของ ส.พลายน้อย หรือ สมบัติ พลายน้อย)
นักภาษาศาสตร์ เห็นแย้งว่า น่าจะเป็นการจำไขว้เขวกับฝรั่งโปรตุเกสที่เข้ามาอยู่เมืองไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา ชื่อ ฟืร์เนา เมงดึช ปิงตู (Fernão Mendes Pinto) จึงทำให้เชื่อคล้อยตามกันมาก ความจริงแล้วตามพจนานุกรมภาษาโปรตุเกส คำว่า "Pinto" หมายถึงลูกไก่ ดังนั้นภายหลังส่วนใหญ่ลงความเห็นสอดคล้องกันว่าน่าจะมาจากคำว่า "เบนโต" (弁当) ในภาษาญี่ปุ่น ซึ่งหมายถึง ข้าวกล่อง ซึ่งอาจจะผ่านมาจากภาษาจีน คำว่า "เปี้ยนตัง" (便當, biàndāng)
การใช้งาน
ปิ่นโตชั้นล่างสุดมักจะมีขนาดใหญ่กว่าชั้นอื่นๆ เล็กน้อย นิยมใส่ข้าว ส่วนชั้นอื่นๆ อาจใส่กับข้าว ขนม หรืออื่นๆ ก็ได้
ปิ่นโตนิยมใช้ใส่อาหารสำหรับนักเรียนนำไปรับประทานตอนกลางวัน หรือผู้ที่ทำงานนอกบ้าน นอกจากนี้แล้วพุทธศาสนิกชนยังนิยมบรรจุอาหารใส่ปิ่นโตเพื่อนำไปถวายพระตอนเช้า หรือกลางวัน ขณะที่ร้านอาหารที่บริการส่งถึงบ้าน ก็นิยมใช้ปิ่นโตใส่อาหาร
อ้างอิงจาก: คิดต่างระหว่างบรรทัด ฟ้าวันใหม่, วิกิพีเดีย