ป๊อปอายไม่ได้กินผักโขม!?
ข้อความบนกระป๋องน่ะเขียนไว้ถูกต้องแล้ว เพราะว่าจริงๆ Spinach ไม่ใช่ผักโขม แต่เป็นผักปวยเล้งต่างหาก!
ผักโขม มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Amaranth (ไม่ใช่ Spinach นะจ๊ะ) มีอยู่หลากหลายสายพันธุ์ ทั้งแบบปลูกเพื่อกินใบ กินเมล็ด หรือแม้กระทั่งปลูกเป็นไม้ประดับ แต่ผักโขมสายพันธุ์ที่คนไทยคุ้นเคยมีอยู่ 3 ชนิด คือ ผักโขมจีน ผักโขมสวน และ ผักโขมหนาม เรานิยมนำผักโขมมาลวกจิ้มกินกับน้ำพริก ผัดกระเทียม ทำแกงจืด อบชีสแบบที่เป็นเมนูยอดนิยม หรือถ้าใครเป็นสายแข็งผู้ชอบกินผักดิบก็นำใบผักโขมมาล้างแล้วกินสดๆได้เลย แต่ต้องแข็งแกร่งพอตัวทีเดียว เพราะผักโขมมีกลิ่นเหม็นเขียวอยู่ไม่ใช่น้อย ถ้านำไปลวกก่อนก็จะช่วยกำจัดกลิ่นได้
แต่ละท้องถิ่นเรียกผักโขมด้วยชื่อที่แตกต่างกันออกไป คนทั่วไปจะคุ้นชินกับชื่อ “ผักโขม” หรือ “ผักขม” ทางใต้จะเรียกว่า “ผักโหม” หรือ “ผักหม” ชาวแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “ผักโหมเกลี้ยง” ส่วนชาวกะเหรี่ยงในแถบนั้นจะเรียกด้วยชื่อเท่ๆว่า “กะเหม่อลอเดอ”
ป็อปอายกินผัก Spinach
ส่วนเจ้าผัก Spinach ของโปรดป๊อปอายนั้นแท้จริงแล้วคือ ผักปวยเล้ง ผักชื่อจีนที่ไม่ได้มีต้นกำเนิดอยู่ในประเทศจีน แต่ว่ามาจากแถบอาหรับเปอร์เซีย และนำเข้ามาในจีนโดยกษัตริย์เนปาล (ซับซ้อนเหลือเกิน) ผักปวยเล้งเป็นผักยอดนิยมของชาวอิหร่านจนได้ชื่อว่าเป็น “เจ้าชายแห่งผัก” ที่ต้องพกไปกินแม้ยามออกรบกับสเปน จนทำให้ชาวสเปนนิยมกินตามไปด้วย
สาเหตุที่ผักนี้ได้ชื่อว่าปวยเล้งก็เพราะมีการบันทึกชื่อเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของราชวงศ์ถัง ผักจากอีกซีกโลกจึงได้มีชื่อเป็นภาษาจีนไปโดยปริยาย ผักปวยเล้งนำมาทำอาหารได้หลายเมนูตั้งแต่ผัดกระเทียม ผัดน้ำมันหอย ทำแกงจืด ผัดกับครีมเป็นไส้ขนมคีชและพาย เป็นเครื่องเคียงข้างจานสเต๊ก ไปจนถึงอบชีสแบบที่เราคุ้นชิน
ปวยเล้ง หรือ Spinach ถือเป็นผักใบเขียว ที่มีถิ่นกำเนิดในแถบประเทศอาหรับ จุดเด่นที่สำคัญก็คือเป็นผักที่มีสารอาหารมากมายและครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นแคลเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม เหล็ก วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินซี ที่ล้วนสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ร่างกาย นอกจากนี้ยังมีลูทีนที่ทำหน้าที่กรองแสงสีฟ้าจากแหล่งกำเนิดแสงที่เป็นอันตรายต่อดวงตา เช่น แสงจากดวงอาทิตย์ จอคอมพิวเตอร์ หรือแสงจากหลอดไฟ ลูทีนในปวยเล้งยังทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ สามารถป้องกันการถูกทำลายของเซลล์รับภาพหรือจอประสาทตาได้ การรับประทานปวยเล้งเป็นประจำจึงส่งผลให้มีสายตาดีและมองเห็นได้อย่างชัดเจน อีกทั้งปวยเล้งยังมีสารแคโรทีนอยด์ที่ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้ ยังไม่หมดเพียงแค่นั้น ปวยเล้งยังเป็นผักที่มีธาตุเหล็กและโฟเลตสูงมาก โดยธาตุเหล็กถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของเม็ดเลือดแดง ที่มีผลต่อการขนส่งและลำเลียงออกซิเจนไปสู่เซลล์ต่างๆในร่างกาย ส่วนโฟเลตจะทำหน้าที่ช่วยในกระบวนการสังเคราะห์ดีเอ็นเอ การแบ่งเซลล์และการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกาย
อย่างไรก็ตามเมื่อมีข้อดีก็ต้องมีข้อเสีย เพราะถึงแม้ว่าปวยเล้งจะมีธาตุเหล็กและแคลเซียมในปริมาณที่สูง แต่ก็ยังพบว่ามีปริมาณกรดออกซาลิกสูงเช่นกัน ซึ่งกรดออกซาลิกในปวยเล้งจะเป็นตัวขัดขวางการดูดซึมของธาตุเหล็กและโฟเลต ทำให้ร่างกายได้รับสารทั้งสองได้อย่างไม่เต็มที่ และอาจทำให้เกิดภาวะขาดแคลเซียมหรือสังกะสีได้ นอกจากนี้ออกซาลิกยังมีผลทำให้เกิดโรคนิ่วได้ด้วย เนื่องจากกรดออกซาลิกจะเข้าทำปฏิกิริยากับแคลเซียมทำให้เกิดการตกตะกอนภายในร่างกาย
วิธีการแก้ไขก็คือ การรับประทานผักปวยเล้งร่วมกับผักผลไม้อื่นๆที่มีวิตามินซีสูง เช่น ฝรั่ง มะเขือเทศ เป็นต้น เพื่อให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กจากปวยเล้งได้ดีขึ้น หรืออีกทางแก้หนึ่งก็คือการลวกผักในน้ำเดือดก่อนนำมาปรุงอาหาร เพราะความร้อนจะช่วยทำลายกรดออกซาลิกได้ถึง 80% เพียงเท่านี้คุณก็จะสามารถรับประทานปวยเล้งได้อย่างปลอดภัยแล้ว
สำหรับผู้ป่วยโรคเก้าต์อาจจะต้องหลีกเลี่ยงการรับประทานผักชนิดนี้ในปริมาณมาก เนื่องจากในปวยเล้งมีกรดยูริกค่อนข้างสูง จึงอาจส่งผลต่ออาการปวดตามข้อได้ หากรับประทานอย่างต่อเนื่อง