ปลาหมอแคระอกาสซิสสิอายปลาหมอแคระชนิดที่มีราคาซื้อขายสูงสุด
ปลาหมอแคระอกาสซิสสิอายปลาหมอแคระชนิดที่มีราคาซื้อขายสูงสุด
ปลาหมอแคระอกาสซิสสิอาย
ปลาหมอแคระอกาสซิสสิอาย หรือ ปลาหมอแคระอกาสซิสซี่ (อังกฤษ: Agassiz' dwarf cichlid; ชื่อวิทยาศาสตร์: Apistogramma agassizii) ปลาน้ำจืดขนาดเล็กชนิดหนึ่ง ในวงศ์ปลาหมอสี (Cichlidae)
ข้อมูลเบื้องต้น ปลาหมอแคระอกาสซิสสิอาย, การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ ...
จัดเป็นปลาหมอแคระในสกุลอพิสโตแกรมมาชนิดหนึ่ง ซึ่งถือได้ว่าเป็นชนิดที่ได้รับการอนุกรมวิธานไว้เก่าแก่มากที่สุดชนิดหนึ่งของสกุลนี้ โดยถูกตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ หลุยส์ อกาสซี นักธรณีวิทยาและนักมีนวิทยาชาวสวิสเซอร์แลนด์ ที่บั้นปลายใช้ชีวิตพำนักในสหรัฐอเมริกา
เป็นปลาขนาดเล็ก มีขนาดความยาวไม่เกิน 10 เซนติเมตร มีครีบหางปลายแหลมเหมือนเปลวเทียน ลำตัวยาว มีลายคาดลำตัวขนาดหนา และมีสีสันสดใสสวยงาม กระจายพันธุ์อยู่ทั่วแม่น้ำอเมซอน ตั้งแต่ตอนบนซึ่งอยู่ค่อนมาทางด้านตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้ตามลุ่มแม่น้ำต่าง ๆ
บริเวณสามเหลี่ยมชายแดนประเทศโคลัมเบีย, เปรู และบราซิล ต่อเนื่องไปยังแม่น้ำพูทูมาโย, เทเฟ, จาปูรา และริโอเนโกร ผ่านเมืองซานตาเรมที่ตั้งอยู่บนปากแม่น้ำทาปาโฮส และไล่ต่อเนื่องไปทางทิศตะวันออกของเมืองเบเล็มที่ปากแม่น้ำอเมซอน โดยพบในแหล่งน้ำที่มีน้ำสีชา และมีค่าความเป็นกรดเป็นด่างต่ำกว่ามาตรฐานปกติ (ต่ำกว่า 6.5 pH) แต่ก็อาจพบได้ในแหล่งน้ำใส หรือแหล่งน้ำขุ่นได้เช่นกัน
โดยปลาในแต่ละพื้นที่จะมีสีสันของลำตัวและครีบต่าง ๆ แตกต่างกัน รวมถึงลวดลายต่าง ๆ เช่น ปลาที่พบในแม่น้ำเทเฟ จะไม่มีลายซิกแซก แต่จะมีสีสันและลวดลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ เป็นต้น
เป็นปลาที่นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม ซึ่งสามารถเพาะขยายพันธุ์ในที่เลี้ยงได้จนมีสายพันธุ์ที่มีลักษณะสวยงามแปลกไปจากปลาที่พบในธรรมชาติ เช่น "ดับเบิลเรด" หรือ "ซุปเปอร์เรด" ที่มีครีบสีแดง "เรดโกลด์" ที่มีส่วนท้องเป็นสีเหลืองเข้ม หรือ "ไฟร์เรด" ที่เป็นปลาที่มีเม็ดสีผิดปกติ ขนาดเม็ดสีดำบนลำตัวและครีบต่าง ๆ ทำให้สีลำตัวเป็นสีขาว หรือสีทองตัดกับครีบสีต่าง ๆ เป็นต้น
มีพฤติกรรมผสมพันธุ์ โดยตัวผู้หนึ่งตัวจะเฝ้าอาณาเขตของตัวเอง และจะผสมพันธุ์กับตัวเมียหลายตัวที่จับจองพื้นที่ในอาณาเขตนั้น
ปลาหมอแคระอกาสซิสสิอาย จัดได้ว่าเป็นปลาหมอแคระชนิดที่มีราคาซื้อขายสูงสุด และได้รับความนิยมมากที่สุดในแง่ของการเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม โดยนิยมเลี้ยงและเพาะขยายพันธุ์ในตู้ไม้น้ำ ในประเทศไทยได้ถูกนำเข้าจากต่างประเทศราวปี พ.ศ. 2545-พ.ศ. 2546 ในแง่ของการเพาะขยายพันธุ์ให้ได้ผลผลิตและต่อยอดออกไป ยังต้องนำเข้าพ่อแม่พันธุ์จากต่างประเทศกันอยู่
อ้างอิงจาก: วิกิพีเดีย,Fish manman,YouTube