นายกรัฐมนตรี คนแรกของไทย
พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นามเดิม ก้อน หุตะสิงห์ (15 กรกฎาคม พ.ศ. 2427 – 1 ตุลาคม พ.ศ. 2491) เป็นขุนนางชาวสยาม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสยามคนแรก หลังจากการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 โดยได้รับเลือกจากสมาชิกคณะราษฎร เพื่อเป็นการประนอมอำนาจกับอำนาจเก่า เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม (พ.ศ. 2475)
ประวัติ
เริ่มจากการพบรักกับคุณนิตย์ สาณะเสน บุตรีพระยาวิสูตรโกษา (ฟัก สาณะเสน) และคุณหญิงสมบุญ ที่ลอนดอน ภายหลังที่คุณนิตย์กลับจากประเทศอังกฤษแล้ว ได้มีการจัดงานสมรสเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2455 คุณนิตย์ในเวลาต่อมาได้เป็นคุณหญิงมโนปกรณ์นิติธาดา
แม้ไม่มีบุตรธิดาด้วยกัน แต่ก็มีชีวิตสมรสที่ราบรื่นตลอดมา คุณหญิงนิตย์ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้รับราชการเป็นนางสนองพระโอษฐ์ในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รวม 2 วาระ วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2470 และ 20 มีนาคม พ.ศ. 2472 คุณหญิงเป็นผู้รู้ภาษาต่างประเทศอย่างดีทั้ง ฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมัน และอิตาเลียน
คุณหญิงมโนปกรณ์นิติธาดา (ยืนซ้ายสุด) ตามเสด็จสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จสถานปาสเตอร์ เมืองไซ่ง่อน 14 เมษายน พ.ศ. 2473 อาจเป็นภาพสุดท้ายก่อนรถยนต์ที่คุณหญิงนั่งในขบวนเสด็จพระราชดำเนินจะประสบอุบัติเหตุ (ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
เป็นที่กล่าวถึงกันหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่น้อยเหมือนกันว่า คุณหญิงมโนปกรณ์นิติธาดาจริง ๆ นั้นเป็นใคร ไม่ใคร่เป็นที่รู้จัก ทั้งนี้ เป็นเพราะคุณหญิงได้ถึงแก่กรรมเสียตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2473 ขณะอายุได้ 42 ปี เมื่อเจ้าคุณมโนฯ เข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงไม่มีคุณหญิง
ช่วงเวลาแห่งการสูญเสียคุณหญิงครั้งนั้นยังความเสียใจมายังเจ้าคุณมโนฯ อย่างใหญ่หลวง เป็นการไกลกันอย่างไม่ได้ตั้งตัวเตรียมใจ
จากเหตุการณ์อุบัติเหตุรถยนต์คว่ำในขณะที่คุณหญิงโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จประพาสประเทศอินโดจีนฝรั่งเศส (เวียดนามและกัมพูชา) ระหว่างวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2473 ดังปรากฏอยู่ใน จดหมายเหตุรายวันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสประเทศอินโดจีน พ.ศ. 2473 ความว่า
“วันนี้ [4 พฤษภาคม พ.ศ. 2473] เกิดเหตุอันน่าสลดใจอย่างยิ่งคือ ประมาณอีก 7 กิโลเมตรจะถึงกัมพงจาม รถยนต์คันที่พระยาสุรวงศ์ฯ คุณหญิงมโนปกรณ์ฯ และคุณวรันดับ บุนนาค นั่งมานั้น โดยความเลินเล่อของคนขับรถชาติญวน รถได้แล่นขึ้นไปบนกองหิน ซึ่งเจ้าหน้าที่กองไว้ริมถนนสำหรับจะทำการซ่อมแซม แล้วตรงไปชนเสาโทรเลข ซึ่งอยู่ข้างหน้าระดับเดียวกับกองหิน รถจึงคว่ำลงในท้องนาริมถนน
…ผู้ที่ต้องอันตรายนั้น คือ พระยาสุรวงศ์ฯ คุณหญิงมโนปกรณ์ฯ และคุณวรันดับ สำหรับพระยาสุรวงศ์ฯ และคุณวรันดับ แม้อยู่ภายใต้รถที่คว่ำอยู่ก็ดีหาต้องอันตรายร้ายแรงไม่…ส่วนคุณหญิงมโนปกรณ์ฯ นั้นไม่ได้อยู่ใต้รถด้วย แต่ได้รับบาดเจ็บสาหัสโดยศีรษะฟาดกับเสาโทรเลขหรือถนนหรือรถยนต์ไม่ทราบแน่ถึงกับสลบแน่นิ่งไปทันที แพทย์ตรวจว่ากะโหลกศีรษะแตกตั้งแต่ตอนล่าง
พระยาสุรวงศ์ฯ และคนอื่น ๆ ได้จัดการช่วยกันอุ้มขึ้นรถยนต์เพื่อนำไปโรงพยาบาลโดยเร็ว แต่ในขณะที่ข้ามแม่น้ำโขงนั้นคุณหญิงมโนปกรณ์นิติธาดาทนพิษบาดแผลเจ็บไม่ได้ สิ้นชีพเวลา 12.35 น. …”
ในการส่งศพคุณหญิงมโนปกรณ์นิติธาดาจากประเทศอินโดจีนของฝรั่งเศสเข้ามายังชายแดนสยามมีข้าราชการฝรั่งเศสได้มีแก่ใจเอื้อเฟื้อช่วยเหลือในการนี้เป็นอย่างดี โดยที่เจ้าคุณมโนฯ เดินทางจากกรุงเทพฯ เพื่อมารับศพคุณหญิงที่เขมรด้วยตนเอง
ส่วนการนำศพคุณหญิงมโนปกรณ์ฯ จากอรัญประเทศเข้ากรุงเทพฯนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชโทรเลขรับสั่งให้กรมรถไฟหลวงจัดรถไฟไปรับ ส่วนการศพคุณหญิง แผนกพระราชพิธีกระทรวงวังได้รับพระราชทานเตรียมปฏิบัติการศพเป็นพิเศษกว่าธรรมดา
อนุสาวรีย์ที่รัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชทานคุณหญิงมโนปกรณ์นิติธาดา กำแพงแก้วช่องล่างขวาบรรจุอังคารคุณหญิง ช่องซ้ายบรรจุอังคารเจ้าคุณมโนฯ หน้าพระวิหาร วัดปทุมวนาราม กระถางหน้าอนุสาวรีย์ในอดีตคือน้ำพุ
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับเป็นเจ้าภาพงานศพ และการพระราชทานเพลิงศพคุณหญิงเป็นงานพิเศษคล้ายงานหลวง และโปรดเกล้าฯ ให้แผนกศิลปากรคิดแบบอนุสาวรีย์ เพื่อพระราชทานเป็นที่ระลึกแก่คุณหญิงมโนปกรณ์นิติธาดา