อาหาร Low GI
อาหาร Low GI
สำหรับคำว่า GI ย่อมาจากคำว่า Glycemic Index ซึ่งก็คือดัชนีที่ใช้ในการวัดหาค่าความเร็วของการดูดซึมน้ำตาลและแป้งเข้าสู่กระแสเลือด โดยค่า GI ที่เหมาะสม ก็คือจะต้องมีค่าน้อยหรือต่ำ เพื่อให้น้ำตาลถูกย่อยเข้าสู่กระแสเลือดได้ช้าลงกว่าปกติ ดังนั้น อาหาร Low GI จึงเป็นอาหารที่ดีที่สุดในการเลือกทาน เพราะทำให้อิ่มนาน ระหว่างมื้ออาหารไม่กินจุกจิก โดยส่วนมากมักพบในอาหารที่มีกากใยสูง หวานน้อย และในพืชผักหลายชนิด
อาหาร Low GI จึงจัดอยู่ในกลุ่มของอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และอาหาร Hi GI ก็ถูกจัดอยู่ในกลุ่มของอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงมากที่สุด เพราะจะทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลินได้ เป็นผลให้ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงขึ้นอย่างรวด เร็ว และอาจเสี่ยงต่อโรคเบาหวานชนิดที่ 2 รวมถึงภาวะความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูงและโรคอ้วนได้อีกด้วย
การแบ่งค่า Glycemic Index ( GI ) เป็น 3 ระดับ
ค่า GI แบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ | |
GI = 0-55 | Low |
GI = 56-70 | Medium |
GI = 71-100 | High |
- อาหารที่มีแนวโน้มว่าจะมีค่า Glycemic Index (GI) สูงได้แก่ ข้าวเจ้า อาหารแปรรูปจากแป้งขัดขาว เครื่องดื่มที่ผสมไปด้วยน้ำตาลและน้ำหวาน เป็นต้น โดยอาหารเหล่านี้เมื่อทานเข้าสู่ร่างกายจะเกิดกระบวนการย่อยได้ง่ายและถูกแปรเป็นน้ำตาลอย่างรวดเร็ว ตามด้วยถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดในเวลาสั้นๆ ต่อไป
- อาหาร Low GI ต่ำ ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารที่มีปริมาณของไฟเบอร์สูง เพราะไฟเบอร์จะช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลในเลือดได้ดีและยังช่วยให้รู้สึกอิ่มท้องเร็ว จึงไม่ทำให้อ้วนอีกด้วย โดยอาหารประเภทนี้ได้แก่ ผักผลไม้ ธัญพืช ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ พืชตระกูลถั่ว กล้วย องุ่น ลูกแพร์ เชอร์รี่ ส้ม กีวี แอปเปิ้ล และลูกพีช เป็นต้น และยังรวมถึงผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวทุกชนิดอีกด้วย
- อาหารที่มีโปรตีนสูง โดยเฉพาะโปรตีนที่ได้จากถั่ว ปลาและเนื้อสัตว์ที่มีไขมันน้อยมาก ซึ่งพบว่าอาหารที่มีโปรตีนเหล่านี้ก็จะเป็นอาหาร Low GI เช่นกัน
ได้รู้จักข้อดีของอาหาร Low GI แล้วก็ลองหันมาทานอาหาร Low GI ให้มากขึ้นและเน้นทานอาหารประเภท Hi GI ให้น้อยลงจะดีกว่า เพื่อการมีสุขภาพที่ดีตลอดไปนั่นเอง โดยอาจเริ่มจากการเปลี่ยนข้าวขาวมาเป็นข้าวกล้อง ทานขนมปังโฮลวีตแทนขนมปังขาวหรือทานผักผลไม้ให้มากขึ้นกว่าปกติ เท่านี้สุขภาพดีก็จะอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม และหมดกังวลเรื่องปัญหาน้ำตาลในเลือดพุ่งสูงไปได้เลย