ผ่าฟันคุด คืออะไร อันตรายแค่ไหน ส่งผลร้ายแรงอย่างไร ถ้าไม่รักษา!?
ฟันคุดเป็นฟันกรามด้านในที่ทุกคนมีกัน แต่ก็อยู่ที่ว่า ฟันคุดของแต่ละคนนั้นจะโผล่ขึ้นมาในลักษณะใด ถ้าหากฟันคุดโผล่ขึ้นมาเบียดฟันซี่อื่น หรือส่งผลให้เหงือกบวม ทันตแพทย์ก็จะแนะนำให้เราเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าฟันคุด แล้วการผ่าฟันคุดคืออะไร มีความอันตรายหรือไม่ เราจะต้องดูแลตัวเองทั้งก่อนและหลังผ่าฟันคุดอย่างไร บทความนี้ ได้รวมข้อมูลมาไว้ให้คุณแล้ว
ฟันคุดเกิดจาก
ก่อนอื่น เรามารู้จักกันก่อนว่า ฟันคุดคืออะไร ซึ่งฟันคุด (Impacted Tooth หรือ Wisdom Tooth) คือ ฟันกรามซี่สุดท้าย ซึ่งมักจะขึ้นในช่วงวัยรุ่นตอนปลายจนถึงช่วงอายุ 20 ต้น โดยปกติ เราจะมีฟันคุดทั้งหมด 4 ซี่ (ด้านบนซ้าย บนขวา ล่างซ้าย และล่างขวา) บางครั้ง ฟันเหล่านี้ไม่สามารถขึ้นได้ตามปกติในช่องปากแบบฟันซี่อื่น ๆ โดยอาจโผล่ออกมาเพียงบางส่วนเท่านั้น หรืออาจจะฝังอยู่ในกระดูกขากรรไกรทั้งซี่ก็ได้ ด้วยขากรรไกรไม่มีพื้นที่ที่เพียงพอจะให้ฟันคุดขึ้นได้ตามปกติ
โดยปกติแล้ว ฟันคุดจะโผล่ขึ้นมาในลักษณะตั้งตรง เอียง หรือนอนในแนวราบ และมักจะอยู่ชิดกับฟันซี่ข้างเคียงเสมอ แต่ถ้าหากฟันคุดขึ้นในตำแหน่งและมุมที่ไปชนกับฟันซี่อื่น ก็จะทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้ ทำให้เรามีอาการปวดฟันคุด เช่น เกิดเหงือกและอวัยวะโดยรอบอักเสบ หรือติดเชื้อ ปวดฟันรุนแรง เป็นต้น ดังนั้น แพทย์จึงแนะนำให้รักษาด้วยการผ่าฟันคุด
เพราะถ้าหากเรามีอาการฟันคุดแล้วไม่ทำการรักษาด้วยการผ่าฟันคุด อาจจะส่งผลให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา เช่น อาการปวดจากแรงดันของฟันที่ไม่สามารถขึ้นมาในช่องปากได้ อาการบวมของเหงือกที่ปกคลุมฟันคุด ฟันซี่ข้างเคียงผุ เกิดถุงน้ำ (ซีสต์) รอบ ๆ ฟันคุด และส่งผลต่อการจัดฟัน
ฟันคุดลักษณะแบบไหนที่ต้องรักษาด้วยการผ่าฟันคุด
ฟันคุดเกิดขึ้นได้หลายลักษณะและมีรูปแบบการขึ้นที่หลากหลาย โดยบางลักษณะก็สามารถปล่อยทิ้งไว้ได้ ไม่จำเป็นต้องผ่าฟันคุด ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบ ดังนี้
- Mesial impaction มีลักษณะทำมุมเอียง และดันฟันกรามซี่ข้างเคียงจากทางด้านหน้า พบได้บ่อยที่สุด และมักขึ้นมาไม่เต็มซี่
- Distal impaction มีการเรียงตัวในทิศตรงข้ามกับ Mesial โดยเอียงไปด้านหลังที่ไม่มีฟันอยู่ มีโอกาสโผล่ขึ้นมาได้โดยไม่ก่อให้เกิดการอักเสบ โดยฟันคุดลักษณะนี้ ไม่ต้องผ่าฟันคุด
- Vertical impaction มีลักษณะตั้งตรงในมุมปกติ ไม่เอียงไปดันฟันซี่ข้างเคียง มีโอกาสสูงที่จะสามารถขึ้นมาได้ตามปกติ โดยที่ไม่ต้องผ่าตัดฟันคุด
- Horizontal impaction มีลักษณะเรียงตัวในตำแหน่งแนวนอน เป็นฟันคุดที่รักษายากที่สุด จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาจากทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ส่วนอาการฟันคุดแบบใดที่ควรผ่าฟันคุด ตามปกติ แพทย์จะแนะนำให้เราผ่าตัดฟันคุด ในกรณีที่ฟันคุดซี่นั้น ทำความสะอาดยาก มีโอกาสเกิดการอักเสบ และติดเชื้อได้ในภายหลัง นอกจากนี้ เรายังพิจารณาจากอาการที่เกิดขึ้น ได้แก่
- อาการปวด อักเสบ และอาจมีเลือดออกบริเวณเหงือก
- อาการปวดบริเวณขากรรไกร
- อาการเหงือกบวม บางครั้งอาจบวมไปถึงแก้ม หรือกราม ซึ่งเป็นผลจากการอักเสบ หรือติดเชื้อ
- อ้าปากลำบาก หรือมีความเจ็บในเวลาที่อ้าปาก ทำให้อ้าปากได้เพียงเล็กน้อย
- อาการฟันผุ เนื่องจากการแปรงฟัน และการใช้ไหมจัดฟันยากกว่าปกติ
- การรับรส และลมปากมีกลิ่นผิดปกติ เพราะเศษอาหารเข้าไปติดในบริเวณที่ทำความสะอาดยาก
- กลืนน้ำลายแล้วเจ็บคอ
ถ้าหากเรามีอาการเหล่านี้ ก็จำเป็นที่จะต้องรีบพบทันตแพทย์ เพื่อเอกซเรย์ฟันคุดและวางแผนการรักษาด้วยการผ่าฟันคุด ก่อนที่จะเกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา
ผ่าฟันคุด กับ ถอนฟันคุด ต่างกันยังไง
ด้วยวิธีการรักษาอาการฟันคุด มีทั้งการผ่าฟันคุดและถอนฟันคุด แล้วทั้ง 2 วิธีนี้ ล้วนแต่วิธีการรักษาด้วยการเอาฟันกรามซี่ที่ 3 ซึ่งเป็นซี่สุดท้ายในช่องปากออก แต่เป็นคนละกรณีกัน โดยในกรณีของการผ่าฟันคุด คือ การที่ฟันคุดซี่นั้น ยังอยู่ใต้เหงือก หรือโผล่พ้นเหงือกมาแล้ว แต่ขึ้นไม่หมดทั้งซี่
แต่ถอนฟันคุด คือ การที่ฟันคุดโผล่ขึ้นมาทั้งซี่เรียบร้อยแล้ว ทำให้การถอนฟันคุดใช้เวลาในการรักษาที่สั้นกว่า ไม่ต้องเย็บแผล และมีค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่าด้วย
ผ่าฟันคุดอันตรายไหม
การผ่าฟันคุดภายใต้การดูแลของทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญย่อมมีความปลอดภัยกว่าที่จะเสี่ยงปล่อยให้เกิดอาการฟันคุด และเกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา โดยภาพรวมแล้ว การผ่าตัดฟันคุดนั้นอยู่ในระดับต่ำ แต่ทั้งนี้ ก็ต้องพิจารณาจากตำแหน่งและลักษณะของฟันคุดด้วย โดยอันตรายและผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ คือ
- ภาวะเลือดออก
- ภาวะ Dry Socket
- การอักเสบติดเชื้อ
- การบาดเจ็บต่อเส้นประสาท
ผ่าฟันคุดกี่วันหายปวด หายบวม
สำหรับการรักษาด้วยการผ่าฟันคุด จะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ จึงจะหายปวดและหายบวม โดยปกติแล้ว เลือดควรจะหยุดภายใน 3 - 4 ชม. ซึ่งอาจจะมีอาการเหงือกบวม ทำให้รับประทานอาหารลำบาก ภายในระยะเวลา 2 - 3 วันแรก ถือว่าเป็นเรื่องปกติ สามารถทานยาแก้ปวดหรือประคบเย็นได้ และต้องมาตัดไหมตามนัด ประมาณ 7 - 10 วัน หลังจากผ่าฟันคุด
เตรียมตัวก่อนผ่าฟันคุด
เมื่อเราตัดสินใจที่จะผ่าฟันคุดแล้ว เราต้องมีการเตรียมตัว ก่อนที่จะเข้ารับการรักษา ดังนี้
- แจ้งและปรึกษาทันตแพทย์ เกี่ยวกับโรคประจำตัวและยาที่รับประทานเป็นประจำ เพราะยาบางประเภทก็จำเป็นที่จะต้องงดทาน
- ควรนอนหลับพักผ่อนมาให้เต็มที่
- ควรรับประทานอาหารรองท้อง ก่อนเข้าผ่าตัดฟันคุด
- วางแผนการเดินทางไป-กลับบ้าน
- ทำความสะอาดช่องปากมาให้เรียบร้อยก่อนการผ่าฟันคุด
- งดสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
วิธีดูแลตัวเองหลังผ่าฟันคุด
หลังผ่าฟันคุดเรียบร้อยแล้ว เราก็ต้องยิ่งระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำของทันตแพทย์อย่างเคร่งครัด แม้ว่า การผ่าฟันคุดจะมีอัตราความสำเร็จสูง ความอันตรายต่ำ แต่เราก็ต้องหลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจจะทำให้แผลของเราอักเสบและติดเชื้อได้ ดังนี้
- ควรกลืนเลือดที่ออกมาจากแผลและน้ำลายเข้าไป ไม่ควรอมหรือบ้วนทิ้ง เนื่องจากจะทำให้เลือดออกมามากและนานกว่าปกติ
- ควรกัดผ้าก๊อซให้แน่นพอประมาณ ประมาณ 1 - 2 ชั่วโมง โดยไม่ควรพูดในระหว่างนั้น
- ใน 1 - 2ชั่วโมงแรก ยังไม่ควรนอนราบ เพราะเวลาหลับ อาจมีน้ำลายและเลือดไหลออกมาจากปาก เนื่องจากอาการชา ส่งผลให้เลือดออกมากขึ้นและหยุดไหลช้าลง
- ควรรับประทานอาหารอ่อน รสไม่จัด รวมถึงไม่ร้อนหรือเย็นจนเกินไป
- หลีกเลี่ยงการดูดเครื่องดื่มด้วยหลอดดูด เพราะแรงดูดจะกระตุ้นให้เลือดออกมาจากแผลมากขึ้น
- ไม่ควรออกแรงทำกิจกรรมต่างๆ หนักเกินไป เช่น ออกกำลังกาย ยกของหนัก ขุดดิน เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการใช้น้ำยาบ้วนปาก ในวันแรกหลังจากผ่าตัดฟันคุด
- สามารถแปรงฟันได้ปกติ แต่ควรระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงบริเวณที่เพิ่งผ่าฟันคุด
- ควรจะรับประทานยาตามที่ทันตแพทย์สั่ง ได้แก่ ยาแก้ปวด และยาแก้อักเสบ
- กลับมาตัดไหม ตามระยะเวลาที่ทันตแพทย์นัด ประมาณ 5 - 7 วัน หลังจากผ่าฟันคุด
- หากพบว่ามีความผิดปกติใด ๆ ควรกลับไปพบทันตแพทย์โดยเร็วที่สุด
ฟันคุดสามารถกิน และ ห้ามกินอะไรบ้าง
สิ่งสำคัญ หลังผ่าฟันคุดที่เราจะต้องระมัดระวังให้มากที่สุด คือ เรื่องของการรับประทานอาหาร เพราะอาหารบางประเภท เราก็ควรหลีกเลี่ยง เพื่อลดโอกาสการเกิดแผลอักเสบและติดเชื้อได้
ผ่าฟันคุดกินอะไรได้บ้าง
เมื่อเราผ่าฟันคุดเรียบร้อยแล้ว เราควรรับประทานอาหารอ่อน ๆ ไม่แข็งไม่เหนียว ไม่ต้องเคี้ยว ได้แก่
- ซุป โจ๊ก หรือข้าวต้ม เพราะสามารถกลืนง่าย และให้สารอาหารที่เพียงพอ และเป็นผลดีต่อการฟื้นตัวของแผล
- สมูตตี้ ถือว่า เป็นแหล่งของวิตามินสำคัญ ๆ จากผักและผลไม้
- โยเกิร์ต ซึ่งอุดมไปด้วยโปรตีน และแคลเซียม
- ไข่กวน หรือไข่ตุ๋น จะทำให้ร่างกายได้รับโปรตีนที่มีประโยชน์ ช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวเร็ว
ผ่าฟันคุดห้ามกินอะไร
ส่วนอาหารที่ควรงดรับประทานหลังผ่าฟันคุด ได้แก่
- อาหารรสเผ็ดจัด และร้อนจัด
- อาหารที่มีความแข็งที่อาจส่งผลกระทบฟันและแผลผ่าตัด เช่น ป๊อปคอร์น มันฝรั่งทอดกรอบ ถั่วต่าง ๆ ลูกอมแข็ง ๆ ขนมกรุบกรอบ แคบหมู เอ็นข้อไก่ทอด เป็นต้น
- อาหารที่เหนียวมาก เช่น คาราเมล ท็อฟฟี่ หมากฝรั่ง
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ฟันคุด ราคาเท่าไหร่
ในการผ่าตัดฟันคุดแต่ละครั้ง ย่อมมีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกัน โดยผ่าฟันคุดราคาขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้
- ตำแหน่งของฟันคุด ถ้าหากฟันคุดอยู่ลึกในกระดูกขากรรไกร หรือมีลักษณะที่ทำให้จะต้องใช้เวลาในการผ่าฟันคุดนาน หรือมีความซับซ้อนมาก ก็ยิ่งทำให้มีราคาที่สูงขึ้น
- การวางตัวของฟันคุดที่วางตัวกลับหัว หรือพาดอยู่ใกล้เคียงกับฟันกรามซี่อื่นนั้น ก็ต้องใช้ความระมัดระวังเพิ่มเติมในการรักษา
- ผลข้างเคียงอื่น ๆ เช่น เหงือกอักเสบมาก หรือมีถุงน้ำ ก็ทำให้อาจจะต้องได้รับการรักษาเพิ่มเติม ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงมากขึ้น
- ทันตแพทย์ผู้รักษา หากในเคสของคุณเป็นฟันคุดที่จะต้องให้ทันตแพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรม ดูแลเพิ่มเติม ก็ส่งผลให้ค่ารักษาของคุณอาจจะสูงขึ้นด้วย
- คลินิกทันตกรรมที่เข้ารับการรักษา โดยแต่ละที่ก็มีอัตราค่ารักษาผ่าฟันคุดที่แตกต่างกัน
สรุป
การผ่าฟันคุด คือ การนำฟันกรามซี่ที่ 3 ที่มีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการไม่โผล่พ้นเหงือก หรือโผล่มาไม่เต็มซี่ การเรียงตัวที่ผิดปกติ ซึ่งส่งผลให้เกิดเหงือกอักเสบ ติดเชื้อ อักเสบ ฟันผุ หรือถุงน้ำในกระดูก ออกจากช่องปาก โดยผ่าตัดฟันคุดราคาในการรักษา ก็ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและความซับซ้อนของฟันคุด ทั้งนี้ เราควรเข้ารับการรักษากับทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและคลินิกที่ได้รับมาตรฐาน เพื่อความปลอดภัยของตนเอง