ต้นกำเนิด “โยโย่” ของเล่นสนุกสำหรับเด็ก!!
มาพูดถึงเรื่องของ “โยโย่” ที่เป็นของเล่นจริง ๆ กันดีกว่า
โยโย่ (Yo-yo) หรือที่บางทีก็เรียกว่า “ลูกดิ่ง” เป็นของเล่นอย่างหนึ่ง ทำจากแผ่นจานกลม 2 แผ่นที่มีแกนเชื่อมถึงกัน และมีเชือกพันอยู่รอบแกนดังกล่าว วิธีเล่นก็ไม่ยาก ผู้เล่นจะถือปลายเชือกเอาไว้ จากนั้นจึงขว้างหรือทิ้งให้ตัวลูกดิ่งออกจากตัวจนสุดความยาวของเชือกที่พันไว้ ก่อนจะดึงให้เชือกม้วนกลับไป ลูกดิ่งก็จะลอยกลับมายังมือของผู้เล่นอีกครั้งหนึ่ง
มีหลักฐานว่าชาวกรีกมีของเล่นที่มีลักษณะคล้ายกับโยโย่มาตั้งแต่พันปีก่อนคริสตกาล เช่นเดียวกับที่จีน รวมถึงที่อินเดีย นอกจากนั้นยังมีภาพวาดของพระเจ้าหลุยส์ที่ 17 แห่งฝรั่งเศส ได้ถือของเล่นลักษณะคล้ายกับโยโย่อยู่ในมือ แต่สำหรับโยโย่ที่เรารู้จักกันในปัจจุบันนั้น เกิดขึ้นในอเมริกา มีการจดสิทธิบัตรของเล่นลักษณะนี้ครั้งแรกเมื่อปี 1866 อย่างไรก็ตามในระยะแรกก็ยังไม่มีผู้สนใจแต่อย่างใด
จนกระทั่งในปี 1920 โลกของโยโย่จึงถือกำเนิดขึ้นอย่างแท้จริง โดยเปโดร ฟลอเรส (Pedro Flores) ผู้อพยพชาวฟิลิปปินส์ซึ่งเข้ามาทำงานเป็นพนักงานยกกระเป๋าโรงแรมซานตา โมนิกา ได้ใช้เวลาว่างนำโยโย่มาเล่นให้บรรดาแขกของโรงแรมชม ปรากฏว่าได้รับความสนใจมาก ฟลอเรสเมื่อเห็นโอกาสดีเช่นนี้จึงลาออกจากงานออกมาก่อตั้งบริษัทผลิตของเล่นชนิดนี้ และได้ตั้งชื่อว่าโยโย่ ซึ่งมาจากภาษาฟิลิปปินส์ที่แปลว่า “มา” ซึ่งจะว่าไปก็ถือว่าเป็นชื่อที่ดีมาก เพราะเป็นคำที่เรียกง่ายจำสะดวก เหมาะกับการเป็นชื่อของเล่นสำหรับเด็ก
หลังจากนั้นในปี 1928 โดนัลด์ เอฟ ดันแคน ได้เกิดสนใจของเล่นชนิดนี้ จึงตัดสินใจเข้าซื้อกิจการของฟลอเรส และต่อยอดความนิยมของเล่นชนิดออกไป โดยเริ่มจากการว่าจ้างนักเล่นที่มีฝีมือจากฟิลิปปินส์ไปจัดแสดตามสถานที่ง จากนั้นจึงสนับสนุนให้มีการแข่งขันโยโย่ จนทำให้เกิดกระแสคลั่งไคล้การเล่นโยโย่ มีการคิดค้นลูกเล่นใหม่ ๆ ในการเล่นโยโย่เกิดขึ้นมากมาย เช่น “walk the dog,”, “shoot the moon,” “rock the cradle,” และ “around the world” เป็นต้น
ในปี 1970 ได้มีการพัฒนาโยโย่ชนิดใหม่ โดยเพิ่มตลับลูกปืนและคลัตช์ ซึ่งช่วยทำให้ผู้เล่นสามารถเล่นท่าพลิกแพลงต่าง ๆ ได้มากยิ่งขึ้น
นอกจากจะใช้เป็นของเล่นเพื่อความเพลิดเพลินแล้ว โยโย่ยังสามารถนำมาใช้ในการศึกษาทางด้านฟิสิกส์ เช่น การหมุน ระบบรอก นอกจากนั้นในปี 1985 นักบินอวกาศที่เดินทางไปกับกระสวยอวกาศดิสคัฟเวอรี่ขององค์การนาซ่า ก็ได้นำโยโย่ติดตัวไปด้วยเพื่อทดสอบการเคลื่อนที่ของโยโย่ภายใต้สภาวะไร้น้ำหนักอีกด้วย
เพิ่มเติม
“โย-โย่ ทีม” เกิดขึ้นได้อย่างไร
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาใครที่ติดตามข่าวสารฟุตบอลอังกฤษอยู่ก็คงได้ทราบว่า ในลีกเดอะแชมเปี้ยนชิพ หรือลีกระดับสองของอังกฤษ ซึ่งแม้ว่าจะยังแข่งไม่จบ แต่ก็ได้ทีมที่เลื่อนชั้นขึ้นสู่พรีเมียร์ลีกในฤดูกาลหน้าแน่นอนแล้ว 1 ทีม คือ เบิร์นลีย์ FC ที่เพิ่งจะตกจากพรีเมียร์ลีกไปเมื่อฤดูกาลก่อน แล้วก็ใช้เวลาแค่ปีเดียวในการกลับขึ้นสู่พรีเมียร์ลีกอีกครั้ง ซึ่งแม้จะนับเฉพาะในยุคพรีเมียร์ลีก ก็เป็นการเลื่อนชั้นขึ้นพรีเมียร์ลีกเป็นครั้งที่ 4 แล้วของทีมเบิร์นลีย์
พูดถึงเรื่องของทีมเบิร์นลีย์ที่ได้เลื่อนชั้นกลับมาอีกครั้งภายในปีเดียวแล้ว ในวงการฟุตบอลอังกฤษจะมีคำว่า “โย-โย่ทีม” (yo-yo club) ซึ่งหมายถึงทีมที่มักจะขึ้น ๆ ลง ๆ ระหว่างลีกสูงสุดกับลีกรองอยู่หลายรอบในเวลาไม่กี่ปี เหมือนกับลูกดิ่งหรือโย-โย่ที่เด็กเล่นกัน ซึ่งพอขว้างไปจนสุดแล้วก็จะดึงตัวกลับมาหาคนขว้างได้เอง
ทีมที่จัดอยู่ในจำพวกโยโยทีมนี้ก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย อย่างเช่นในสมัยนี้ก็จะเป็นพวกเบิร์นลีย์ บอร์นมัธ นอริช ฟูแลม เวสต์บรอมวิช ฯลฯ แต่ถ้าย้อนไปซักประมาณ 20 ปีก่อนก็จะเป็นทีมพวกเลสเตอร์ เบอร์มิงแฮม ซันเดอร์แลนด์ มิดเดิลสโบรช์ ฯลฯ
โย-โย่ทีม เกิดขึ้นได้อย่างไร ? แน่นอนนอกจากเรื่องของคุณภาพทีมที่อาจจะดีเกินไปกว่าจะเล่นในระดับลีกล่าง แต่ไม่ดีพอที่จะยืนระยะในลีกสูงสุดแล้ว อีกอย่างหนึ่งที่มีส่วนช่วยทีมเหล่านี้ก็คือ “เงินช่วยเหลือ” (Parachute money) ที่ทางพรีเมียร์ลีกจะมอบให้กับทีมที่ตกชั้นจากพรีเมียร์ลีกไป เพื่อชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปจากการตกชั้น ซึ่งจะจ่ายให้เป็นเวลา 3 ปี ซึ่งแน่นอนว่า เงินส่วนนี้ย่อมทำให้ทีมที่เพิ่งตกชั้นจากพรีเมียร์ลีกได้เปรียบทีมอื่น ๆ ในเดอะแชมเปี้ยนชิพ เนื่องจากจะทำให้พวกเขาสามารถรักษานักเตะฝีเท้าดีที่เคยเล่นในระดับพรีเมียร์ลีกมาแล้วให้อยู่ในทีมได้ต่อไป
ในขณะเดียวกัน เมื่อทีมเหล่านี้อยู่ในลีกสูงสุดเพียงช่วงสั้น ๆ แค่ 1-2 ปี ก็ทำให้นักเตะบางคนในทีมที่อยู่กับทีมมาตั้งแต่อยู่ในลีกรอง เมื่อทีมเลื่อนชั้นแล้วก็อาจจะยังไม่ได้เซ้นสัญญาฉบับใหม่ ยังคงเล่นอยู่ภายใต้สัญญาเดิมที่ทำไว้สมัยทีมยังอยู่ในลีกรอง ผิดกับทีมที่อยู่ในลีกสูงสุดติดต่อกันเป็นเวลานาน (อย่างน้อย 4-5 ปีขึ้นไป) ที่นักเตะทั้งทีมก็จะเซ็นสัญญากันในระหว่างที่ทีมอยู่ในพรีเมียร์ลีกแล้ว ซึ่งแน่นอนว่าย่อมมีอัตราค่าจ้างสูงกว่าสัญญาที่ทำไว้ตอนทีมอยู่ในลีกรอง ดังนั้นผลจากการตกชั้นลงไปอยู่ในลีกรองนั้นจะกระทบกับทีมที่อยู่ในพรีเมียร์ลีกมาต่อเนื่องหลายปีที่เกิดต้องตกชั้นไปมากกว่าพวกทีมที่ขึ้น ๆ ลง ๆ ระหว่างลีกสูงสุุดกับลีกรองเป็นประจำ
อย่างไรก็ตาม บรรดาทีมโย-โย่เหล่านี้ หากไม่สามารถกลับคืนสู่ลีกสูงสุดได้ในเวลา 2-3 ปี ก็อาจจะประสบปัญหาด้านการเงิน และหมดสภาพการเป็นทีมโย-โย่ กลายเป็นต้องจมอยู่ในลีกรองไปอีกหลายปีได้เช่นกัน