"สูตรอิ๊วโซดา" แชร์กันขำๆ แต่ห้ามทำตาม!!
"สูตรอิ๊วโซดา แชร์กันขำๆ แต่ห้ามทำตามครับ"
คงเห็นกันแล้ว กับคอนเทนต์ขำๆ ของบริษัทซีอิ๊วแห่งหนึ่ง ที่ตอนแรกทำทีเหมือนจะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ คือ "อิ๊วโซดา กระป๋อง" ทำเอาฮือฮากันมาก ว่าจะรสชาติเป็นอย่างไร จะขายดีมั้ย ?
แต่ต่อมา ทางบริษัทชี้แจงว่า มันเป็นแค่เรื่องล้อเล่น ไม่มีการทำอิ๊งโซดากระป๋องออกมาขาย แต่พร้อมแจกสูตร ให้ผู้สนใจไปลองทำกินกันเอง
ประเด็นคือ สูตรอิ๊วโซดานี้ ให้เอาซีอิ๊วดำ 3 ช้อนโต๊ะ มาผสมกับโซดากระป๋อง 1 กระป๋องนั้น เมื่ดูองค์ประกอบแล้ว ก็น่ากังวลเกี่ยวกับปริมาณ "โซเดียม" ที่จะได้รับครับ !!
คิดง่ายๆ ว่า ซีอิ๊วดำ 3 ช้อนโต๊ะ มีโซเดียมประมาณ 650 มิลลิกรัม ถ้าเอาไปทำและกินจนหมดกระป๋อง ร่างกายก็จะได้โซเดียมไป เท่ากับปริมาณโซเดียมที่ไม่ควรกินเกินในแต่ละมื้อ (ไม่ควรเกิน 2000 มิลลิกรัม ต่อวัน) แล้วครับ !!
ดังนั้น ก็หวังว่า คงจะไม่มีใครเอาสูตร "อิ๊วโซดา" ไปทำกินกันจริงๆ กินกันประจำ นะครับ จะเสี่ยงเป็นอันตรายต่อสุขภาพโดยไม่จำเป็น
ขอเอาบทความคำเตือนเรื่องนี้ จาก "เครือข่ายลดบริโภคเค็ม" มาเสริม ด้านล่างนี้ครับ
-------------
(บทความ) "เตือนภัยสุขภาพของอิ๊วโซดา ที่เผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย"
โดย รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม
จากผลทางสุขภาพของอิ๊วโซดาที่เผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย จากการเชิญชวนให้ผู้บริโภคดื่ม ซีอิ๊วดำสูตร 1 ผสมกับโซดาหรือเครื่องดื่มอื่น ๆ โดยผสมซีอิ๊ว 3 ช้อนโต๊ะ กับโซดา 1 แก้วหรือเครื่องดื่ม 1 แก้ว นั้น
ทางเครือข่ายลดบริโภคเค็มได้ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร ร่วมกันแสดงให้ความเห็นในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
1) ซีอิ้วดำ 3 ช้อนโต๊ะ ให้โซเดียมเท่าไร ?
ซีอิ๊วดำ 3 ช้อนโต๊ะ มีโซเดียม ประมาณ 650 มิลลิกรัมเท่ากับปริมาณโซเดียมที่ควรได้รับตามคำแนะนำต่อ
อาหาร 1 มื้อ และน้ำตาล 24 กรัมเท่ากับปริมาณที่ควรได้รับต่อวัน
และถ้าผสมกับเครื่องดื่มรสหวานหรือโซดา จะได้โซเดียมเพิ่มไปอีกเป็น 708-763 มิลลิกรัม และจะทำให้ได้รับน้ำตาลสูงขึ้นไปอีก
2) ถ้าดื่มเป็นประจำจะเกิดผลเสียต่อสุขภาพอย่างไร ?
ถ้าดื่มเครื่องดื่มนี้ ที่มีทั้งรสชาติหวานและเค็มมากเป็นประจำ จะทำให้เสี่ยงต่อโรคอ้วน เบาหวานและความดันโลหิตสูง ซึ่งนำไปสู่โรคไต โรคหัวใจและอัมพาตได้ในอนาคต
โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีโรคประจำตัว เช่นเบาหวานความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไต จะทำให้โรคกำเริบได้
3) คนปกติ ก็ไม่ควรได้โซเดียมจากเครื่องดื่ม เพราะปกติเราได้โซเดียมจากอาหารหลักมากเกินพออยู่แล้ว
สถานการณ์การกินโซเดียมเกินของคนไทยเกือบ 2 เท่า เราต้องช่วยกันรณรงค์ให้กินหวานและเค็มลดลง การขายสินค้าควรตั้งอยู่บนพื้นฐานด้านสุขภาพของผู้บริโภคด้วย
รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า
การบริโภคเกลือ (โซเดียม) ในปริมาณมาก ในการปรุงรสชาติอาหารให้มีรสเค็ม เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต
ปัจจุบันคนไทยมีพฤติกรรมการบริโภคเกลือ (โซเดียม) สูง 2-3 เท่า ของปริมาณที่ร่างกายต้องการ
ซึ่งการรับประทานอาหารที่มีเกลือ (โซเดียม) สูงมีผลเสียทำให้ความดันโลหิตสูง เพิ่มการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะ และยังมีผลเสียต่อไตโดยตรง
นอกจากนี้ยังทำให้หัวใจทำงานหนักก่อให้เกิดภาวะหัวใจวาย และความดันโลหิตสูงยังส่งผลให้ความดันในสมองเพิ่มขึ้น มีโอกาสเป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต
จากข้อมูลล่าสุด พบว่าคนไทยเป็นโรคความดันโลหิตสูง เป็น 21.4 % หรือ11.5 ล้านคน
โรคไตถึง 17.5% หรือ 7.6 ล้านคน โรคหัวใจขาดเลือดเป็น1.4% หรือ 0.75 ล้านคน
โรคหลอดเลือดสมอง (โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต) เป็น 1.1 % หรือ 0.5 ล้านคน
คนไทยควรบริโภคเกลือไม่เกิน 5 กรัมต่อวัน (โซเดียม 2,000 มิลลิกรัม) แต่จากการสำรวจพบว่า คนไทยบริโภคเกลือเฉลี่ย 10.8 กรัมต่อวัน (โซเดียม 5,000 มิลลิกรัม) ซึ่งสูงเป็น 2 เท่า ของที่ร่างกายควรได้รับ
โดยร้อยละ 71 มาจากการเติมเครื่องปรุงรสระหว่างการประกอบอาหาร
แหล่งอาหารที่พบเกลือ (โซเดียม) สูง ได้แก่ เครื่องปรุงรสต่าง ๆ เช่น น้ำปลา ซีอิ้ว และผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป และกึ่งสำเร็จรูป
เกลือ 1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณโซเดียม 6,000 มิลลิกรัม
น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณโซเดียม 1,160 - 1,420 มิลลิกรัม
ซีอิ้วขาว 1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณโซเดียม 960 – 1,420 มิลลิกรัม
ซอสปรุงรส 1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณโซเดียม 1,150 มิลลิกรัม
กะปิ 1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณโซเดียม 1,430-1,490 มิลลิกรัม
ซอสหอยนางรม 1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณโซเดียม 420-490 มิลลิกรัม
โดยปกติอาหารตามธรรมชาติก็มีเกลือ (โซเดียม) เป็นส่วนประกอบอยู่แล้ว เมื่อมีการใช้เครื่องปรุง รสดังกล่าวปริมาณมาก จึงทำให้ปริมาณเกลือ (โซเดียม) ในอาหารสูงมากตามไปด้วย
ผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสที่ครัวเรือนคนไทยนิยมใช้กันมาก 5 ลำดับแรก คือ น้ำปลา ซีอิ้ว เกลือ กะปิ และซอสหอยนางรม
ดังนั้นในเรื่องของการนำซีอิ้วดำ ซึ่งมีความเค็มอยู่แล้ว มาบริโภคร่วมกับเครื่องดื่มอื่น ๆ นั้น จึงไม่มีความเหมาะสม โดยเด็กและเยาวชนหรือประชาชนทั่วไป ไม่สมควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง
หากเด็กอายุ 6-14 ปี ดื่มในลักษณดังกล่าว จะมีโทษภัยต่อสุขภาพในระยะยาว ซึ่งอาจส่งผลเป็นโรคฟัน เบาหวาน ความดันโลหิตสูงและโรคไตในอนาคต
ดังนั้นในส่วนของผู้ปกครองและครูที่โรงเรียนควรให้ความรู้ในเรื่องดังกล่าว รวมถึงทางเครือข่ายลดบริโภคเค็มขอความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้ความรู้ไปยัง โรงเรียน ทุกระดับชั้นด้วย