เรื่องลับๆ ของ สะพานพุทธ ที่หลายคนอาจยังไม่รู้
1 สะพานพุทธ เป็นสะพานข้ามเจ้าพระยาแห่งที่ ที่เกิดขึ้นหลังการสร้างสะพานพระราม 6 ซึ่งเป็นสะพานรถไฟเชื่อมทางรถไฟสายใต้กับสถานีหัวลำโพง
2.ลักษณะเด่นของสะพานพุทธคือการออกแบบที่แปลกตา โครงสร้างสะพานมีรูปทรงเป็นรูปลูกศร โดยหัวลูกศรหันไปทางฝั่งธนบุรี รูปลูกศรนี้ออกแบบตามพระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 7 ซึ่งเป็นผู้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพานแห่งนี้ขึ้นอีกทั้งในวันเปิดทำการ พระองค์เสด็พระราชดําเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารําไพพรรณี พระบรมราชินี ไปทรงเป็นประธานในพิธีเปิดสะพาน
3.สะพานพุทธเคยเป็นสะพาน “อกแตก” เพราะเมื่อแรกเริ่มสร้าง ช่วงตอนกลางสะพานสามารถยกขึ้นเปิด-ปิดได้ด้วยแรงไฟฟ้า สามารถเปิดช่องกว้าง 60 เมตร ให้เรือรบ เรือสินค้าขนาดใหญ่ผ่านได้ แต่หลังการบูรณะสะพานเมื่อปี พ.ศ.2529 ตอนกลางสะพานก็ยกเปิด-ปิดไม่ได้อีกต่อไป อีกทั้งไม่มีความจำเป็นต้องใช้ เนื่องจากกรมอู่ทหารเรือ อู่ซ่อมเรือรบ ได้ย้ายไปอยู่ที่สมุทรปราการแล้ว และเรือขนสินค้าก็ได้ย้ายไปเทียบท่ายังท่าเรือคลองเตย ไม่จะเป็นต้องเข้าเทียบท่าที่ตอนในของฝั่งนครอีกต่อไป
4.สะพานแห่งนี้เป็นสะพานสีเขียวแห่งเดียวในกรุงเทพฯ เพราะเป็นสีประจำวันพระราชสมภพของ รัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 7
5.บริเวณลานเชิงสะพานฝั่งพระนครนั้นรัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีและกรุงรัตนโกสินทร์
6.ผู้ออกแบบสะพานพุทธคือ บริษัท ดอร์แมน ลอง ประเทศอังกฤษ ส่วนผู้อำนวยการสร้าง หรือ ควบคุมงานสร้างคือ สมเด็จฯ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคมขณะนั้น
7.โครงสร้างของสะพานพุทธถือได้ว่าเป็นความก้าวหน้าและโมเดิร์นสุดๆ ในยุคนั้น ตัวสะพานเป็นสะพานเหล็กยาว 229.76 เมตร กว้าง 16.68 เมตร ท้องสะพานสูงเหนือน้ำ 7.50 เมตร
8.สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 สะพานพุทธเป็นเป้าหมายในการทิ้งระเบิด ดังที่ปรากฏในนิยายเรื่องคู่กรรม และฉากสำคัญในภาพยนตร์ คู่กรรม ฉบับล่าสุด นำแสดงโดย ณเดชน์ คูกิมิยะ เมื่อโกโบริได้ช่วยชีวิตอังศุมาลินขณะที่อังศุมาลินเดินข้ามสะพานเหม่อลอย และเครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตรมาทิ้งระเบิด ณ สะพานแห่งนั้น สะพานพุทธเสียหายจากระเบิดในสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่มากนัก มีตำนานเสียงเล่าลือในหมู่ชาวบ้านย่านนั้นว่า เคยเห็นเงาคนรูปร่างสูงใหญ่มาปัดระเบิดให้พ้นไป สะพานจึงยังคงรักษาโครงสร้างเดิมมาถึงปัจจุบัน
9. ย่านการค้าใหม่เกิดทันทีพร้อมกำเนิดสะพานพระพุทธยอดฟ้า หลังสะพานพุทธเปิดใช้ในปี 2475 ได้สร้างความเจริญให้เกิดขึ้นทั้งสองฝั่งเชิงสะพาน โดยฝั่งพระนคร เกิดย่านการค้าสำคัญ คือ ปากคลองตลาด และพาหุรัด และเชื่อมเส้นทางการค้าเดิม อย่างย่านสะพานหัน สําเพ็ง ราชวงศ์ และทรงวาด ส่วนทางฝั่งธนบุรีมีย่าน บ้านสมเด็จเจ้าพระยา หรือเรียกสั้นๆ ว่า บ้านสมเด็จ (อดีตเคหสถานของตระกูลบุนนาค) กลายเป็นย่านการค้าสำคัญและกลายเป็นจุดต่อรถโดยสารจากฝั่งธนฯ ข้ามสะพานพุทธมายังฝั่งพระนคร และอีกย่านเกิดใหม่ที่สำคัญในฝั่งธนบุรีอันผลสืบเนื่องจากการเปิดสะพานพุทธ คือ ย่านวงเวียนเล็ก ซึ่งในอดีตเป็นจุดต่อรถ ทั้งรถม้า รถสามล้อ มารอรับผู้โดยสารอยู่รอบวงเวียนเล็ก โดยเฉพาะในช่วงกลางคืนวงเวียนเล็กจะคึกคักมาก เรือนแถวไม้ริมถนนย่านนั้นก็เปิดเป็นร้านต่างๆ รวมทั้งมีแหล่งมหรสพให้ความบันเทิงอย่างโรงลิเก โรงภาพยนตร์ ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ย่านวงเวียนเล็กจะมีวงดนตรีมาแสดงในช่วงวันเสาร์อาทิตย์ด้วย
10. ตลาดนัดสะพานพุทธเป็นหนึ่งตลาดนัดในตำนานของกรุงเทพฯ จากการโปรโมตการทองเที่ยวแหล่งท่องเที่ยวยามค่ำคืน ใน กรงุเทพมหานคร ได้โปรโมตตลาดดอกไม้ปากคลองตลาด เชื่อมต่อกับ ตลาดนัดขายของตอนกลางคืน ในยุคหนึ่ง ตลาดนัดสะพานพุทธ เป็นตลาดนัดกลางคืนที่คึกคักมากดึงดูดวัยรุ่นทั่วทั้งกรุงเทพฯเพราะมีทั้งสินค้าแฟชั่น เสื้อผ้าเครื่องประดับ กระเป๋ารองเท้ามือสอง มีศิลปินอิสระจากโรงเรียนเพาะช่าง มาเปิดบริการวาดภาพเหมือนกันริมถนน มีร้านอาหารริมทาง วัยรุ่นมาเล่นสเก็ตบอร์ด รวมตัวกันหน้าลานพระบรมรูปฯ ตั้งแต่ 6 โมงเย็นถึง ตี 1 ของทุกวัน หลังการจัดระเบียบทางเท้าของกรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2561 ตลาดนัดกลางคืนย่านสะพานพุทธ ก็ย้ายจากฝั่งพระนครไปอยู่ย่านฝั่งธนแต่ก็ไม่ได้คึกคักเหมือนครั้งอดีต