ถนนสายใหญ่ของไทยที่ก่อสร้างต่อเนื่องนานถึงห้าสิบปี
โดยปกติแล้ว การก่อสร้าง ต่อเติมหรือซ่อมแซม
ระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอย่างระบบน้ำ ไฟฟ้า หรือทางสัญจร
มักจะต้องรีบดำเนินการให้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุด
เพื่อลดความเดือดร้อนของผู้ที่อยู่ในพื้นที่หรือเดินทางผ่านไปมา
แต่หลายพื้นที่โครงการที่อาจจะมีขนาดใหญ่ ใช้เงินลงทุนสูง
หรืออยู่ในทำเลที่มีข้อจำกัดมากมาย ก็อาจจะเกิดการล่าช้าได้
เช่นเดียวกับเรื่องราวของการก่อสร้างถนนเส้นหนึ่ง
ที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานมากจนเป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวาง
นั่นคือโครงการของถนน 'พระรามที่ 2' ถนนสายที่เป็นตำนาน
ถนนพระรามที่ 2 ที่เป็นข่าวโด่งดังนี้
คือโครงการตัดถนนเพื่อเชื่อมต่อ
ระหว่างกรุงเทพมหานครไปยังพื้นที่จังหวัดภาคใต้ มีชื่ออย่างเป็นทางการคือ
'ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 35 สายดาวคะนอง-วังมะนาว'
มีความยาวทั้งหมด 84 กิโลเมตร โดยมีจุดเริ่มต้นในพื้นที่เขตจอมทองของกรุงเทพ
ตัดผ่านจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และสิ้นสุดในเขตจังหวัดราชบุรี
โครงการเริ่มต้นครั้งแรกในปี 2513 สมัยของจอมพลถนอม กิตติขจร
สร้างเสร็จและเปิดใช้งานจริงครั้งแรกในปี 2516
หลังจากเปิดใช้บริการได้นาน 16 ปี จึงได้เริ่มมีการก่อสร้างอีกครั้งในปี 2532
เพื่อแก้ปัญหาพื้นผิวจราจรที่ชำรุด รวมถึงเป็นการขยายช่องจราจร
ที่แต่เดิมมีอยู่ 2 ให้เป็น 4 ช่องจราจร การก่อสร้างและซ่อมแซมถนนพระรามที่ 2
เกิดขึ้นอีกหลายครั้ง โดยค่อยๆเป็นการขยายช่องจราจรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
เพิ่มทางแยกอีกหลายจุด ปัจจุบันบางช่วงของถนนเส้นดังกล่าว
ถูกขยายเพิ่มเป็นอย่างน้อย 14 ช่องจราจร และแม้แต่ในปี 2562 ที่ผ่านมานี้
ก็ยังคงมีโครงการก่อสร้างใหม่ๆเพิ่มเติมอีก
จนทำให้ถนนเส้นนี้ กลายเป็นถนนเส้นใหญ่อีกเส้นหนึ่ง
ที่เหมือนจะ 'สร้างไม่เสร็จเสียที' แม้จะผ่านระยะเวลามานานถึง 52 ปีแล้วก็ตาม