โรคเก๊าท์ โรคของพระราชา.??
มองประวัติศาสตร์ผ่านโรคเก๊าท์ โรคของพระราชา
เชื่อหรือไม่? โรคเก๊าท์ที่สร้างความเจ็บปวดแก่ใครทั้งหลายนั้นเคยเป็นแฟชั่นสุดฮิตเพื่ออวดความร่ำรวยในอดีต
โรคเก๊าท์ เกิดจากร่างกายมีกรดยูริก (uric acid) ในเลือดสูงติดต่อกันเป็นเวลานานจนเกิดเป็นผลึกสะสมอยู่ในข้อ ในระยะแรกผู้ป่วยจะมีอาการปวด บวมแดง ร้อนบริเวณข้ออย่างฉับพลันทันทีทันใด มักเริ่มจากข้อบริเวณโคนนิ้วหัวแม่เท้า แต่ก็สามารถเกิดกับข้ออื่นๆ ได้ เช่น ข้อเท้า ข้อเข่า ข้อมือ ซึ่งจะเป็นๆ หายๆ ในระยะแรก หากไม่ได้รับการรักษาหรือดูแลอย่างถูกต้อง อาการอักเสบจะรุนแรงมากขึ้นทำให้ผู้ป่วยปวดถี่ขึ้นและนานขึ้นจนอาจกลายเป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรัง และอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา ถ้ามีการสะสมของกรดยูริกมากๆเข้า จนจับตัวเป็นก้อนที่ ข้อกระดูก หรือ เนื้อเยื่อใกล้เคียง จะเรียกก้อนที่เกิดขึ้น นั้นว่าโทไฟ(tophi)
โรคเก๊าท์เป็นโรคที่อยู่คู่กับโลกเรามานานว่าที่คิด ชาวอียิปต์เมื่อ 2640 ปีก่อนคริสตกาล สามารถวินิจฉัย podagra หรือโรคเก๊าท์ที่แสดงอาการอักเสบเฉียบพลันบริเวณนิ้วโป้งเท้าได้ ต่อมาแพทย์ชาวกรีกนามว่าฮิปโปรเครติส (Hippocrates) บิดาแห่งการแพทย์ มีชีวิตอยู่ในช่วง 400 ปีก่อนคริสตกาล บรรยายถึงโรคเก๊าท์ไว้ว่าเป็นโรคที่เกิดจากเสมหะ (phlegm)เข้าไปสะสมอยู่ในข้อ เขาได้บันทึกว่า ผู้ป่วยสูงอายุที่เป็นโรคเกาท์ จะมีโทไฟ (Tophi) เกิดขึ้นบริเวณข้อ และจะมีอาการท้องผูกเรื้อรังที่รักษาไม่ได้ ฮิปโปรเครติดได้ตั้งชื่อโรคนี้ว่าคือ โรคที่เดินไม่ได้ (the unwalkable disease) และ โรคข้ออักเสบของคนรวย (arthritis of the rich) นอกจากนี้ ฮิปโปเครติสเองได้ตั้งข้อสังเกตุว่าผู้หญิงจะไม่เป็นโรคเก๊าท์ จนกว่าจะเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ซึ่งเป็นข้อมูลที่ใกล้เคียงกับการแพทย์แผนปัจจุบันมาก
ตั้งแต่ยุคกรีกโรมันไปจนหลังยุคปฎิวัติอุตสาหกรรม โรคเก๊าท์คือโรคที่เกิดขึ้นในชนชั้นสูงผู้มีอันจะกินเท่านั้น เพราะปัจจัยเสียงของโรคเกาท์อันได้แก่ แอลกอฮอล์และเนื้อสัตว์ปริมาณมาก ก็มีแต่คนรวยเท่านั้นที่จ่ายได้ และโรคเก๊าท์เกิดในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง(หญิงวัยหมดประจำเดือนจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น) ซึ่งกษัตริย์ ผู้นำตระกูล นักรบ นักการเมือง ขุนนางในอดีตล้วนมีแต่ผู้ชายทั้งสิ้น จึงเป็นสาเหตุที่โรคเก๊าท์ได้รับการขนานนามว่าโรคของพระราชา หรือ disease of the king
ในเมื่อโรคเก๊าท์เกิดเฉพาะกษัตริย์หรือชนชั้นสูง เหล่าชนชั้นสูงเองก็จะสร้างแนวคิดหรือสร้างกระแสว่าสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่(และชนชั้นล่างไม่เป็น)นั้นดีงามเหลือเกิน ตัวอย่างเช่น ศตวรรษที่ 16 ผู้ชายในยุคนั้นก็เชื่อกันว่าเจ้าก้อนโทไฟ (Tophi) ของชายชาตรีเป็นสิ่งกระตุ้นอารมย์ทางเพศของผู้หญิง นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสนามว่า Michel de Montaigne ได้กล่าวไว้ว่า ยิ่งขาของชายนั้นอ่อนแรง(ปวดเท้าจากโรคเกาท์)มากเท่าไหร่ อวัยวะเพศของชายผู้นั้นจะแข็งแรงและดุดันมากเท่านั้น และในศตวรรษที่ 18 ก็มีแนวคิดว่าโรคเก๊าท์เป็นสิ่งที่ดีต่อร่างกาย ทำให้ระบบสืบพันธ์ของท่านชายได้พักผ่อน ก็เพราะเดินไม่ได้ต้องนอนพักอยู่กับที่ ทำให้อสุจิไหลย้อนกลับไปที่ไต ใครที่อ่านก็ต้องงงอย่างแน่นอน แต่อย่าลืมว่าคนสมัยนั้นมีความรู้เรื่องการทำงานของร่างกายน้อยมากเมื่อเทียบกับสมัยปัจจุบัน
ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา มีบุคคลดังหลายคนที่เป็นโรคเก๊าท์ ได้แก่ กษัตริย์เฮนรี่ที่ 8 แห่งราชวงศ์ทิวดอร์ผู้โด่งดังจากการมีราชินีถึง 6 พระองค์ คนต่อมาคือ ปิเอร์โร ดิ โคซิโม (Pierro di Cosimo) หนึ่งในผู้นำตระกูลเมดิซี ตระกูลพ่อค้าแห่งฟลอเรนซ์ ป่วยเป็นโรคเก๊าท์ เขาทรมาณกับโรคนี้มากจนได้ฉายาว่า เจ้าเก๊าท์ปิแอร์โร (Pierro the Gouty) แม้กระทั่งเบนจามิน แฟรงค์คลิน (Benjamin Franklin) หนึ่งในบิดาผู้สร้างชาติของสหรัฐอเมริกาก็ป่วยเป็นโรคเก๊าท์เช่นกัน ความเจ็บปวดทรมาณแสนสาหัสที่เท้า ทำให้เขาเดินลำบากและต้องนั่งเสลี่ยง (sedan chair) เพื่อเดินทางเข้าประชุมสภา เขาถึงกับเขียนจดหมาย(เหมือนเขียนไดอารี่)ถึงโรคเก๊าท์ของเขา “โอ้ แม่นางเก๊าท์ ฉันได้ทำอะไรลงไปถึงได้รับความทรมาณที่แสนจะโหดร้ายเยี่ยงนี้” ในบั้นปลายชีวิต แฟรงค์คลินได้เสพติดฝิ่นเพื่อบรรเทาความเจ็บปวดที่เขาเผชิญ
มีความเป็นไปได้ว่าเหตุการณ์ Boston tea party เกิดขึ้นเพราะชายผู้นี้ปวดเก๊าท์?! รัฐบุรุษของบริเตนนามว่าวิลเลียม พิตต์ (William Pitt) เขาเป็นผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการเก็บภาษีชาวอาณานิยมอเมริกันโดยไม่ถามความเห็นของชาวอาณานิคมและพยายามผลักดันแนวคิดนี้อยู่หลายครั้ง แต่โชคร้ายที่เขาเป็นโรคเก๊าท์ ความเจ็บปวดแสนสาหัสนั้นทำให้เขาต้องขาดประชุมสภาหลายครั้ง ครั้งหนึ่งที่เขาขาดประชุมสภาไป เป็นครั้งที่สภาผ่านกฎหมาย stamp act เป็นกฎหมายที่บังคับให้เอกสารต่าง ๆ ที่ผลิตในอาณานิคมจะต้องติดแสตมป์เสียภาษี ไม่ว่าจะเอกสารทางกฎหมาย นิตยสาร หนังสือพิมพ์ หรือไพ่ และอีกครั้งหนึ่งที่วิลเลียม พิตต์ขาดประชุมสภาก็คือครั้งที่สภาลงมติที่จะขึ้นภาษีใบชา นั่นทำให้ชาวอาณานิคมจำนวนมากไม่พอใจและปลอมตัวเป็นอินเดียนแดงขึ้นเรือขนส่งสินค้าแล้วโยนใบชาลงทะเลไป เกิดเป็นงานเลี้ยงน้ำตาแห่งบอสตัน หรือ Boston tea party ขึ้นนั่นเอง เจ้าโรคเก๊าท์โจมตีได้ถูกที่ถูกเวลาเสียจริง…
อีกครั้งหนึ่งที่โรคเก๊าท์เปลี่ยนประวัติศาสตร์ นั่นคือสมัยของจักรพรรดิชาร์ลที่ 5 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์และกษัตริย์ชาร์ลที่ 1 แห่งสเปน (ท่านมีหลายตำแหน่ง) เขาได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเก๊าท์ตั้งแต่สมัยที่ยังมีชีวิตอยู่ ในปี 1552 ช่วงที่เขาขี่ม้านำทัพรบกับฝรั่งเศส อยู่ดีๆอาการปวดก็ดันกำเริบขึ้นมาทำให้เขาไม่สามารถนำทัพได้อีกต่อไป จึงต้องเลื่อนการบุกเมือง Meltz ในประเทศฝรั่งเศสออกไปก่อน และก็ถูกฝรั่งเศสตีกลับในเวลาต่อมา เหตุการณ์นี้ผลักดันให้เขาสละราชบัลลังก์และกลายมาเป็นบาทหลวง อย่างน้อยเขาก็ไม่ต้องตัดสินใจอะไรที่ยิ่งใหญ่ระหว่างที่กำลังปวดเก๊าท์นั่นแล เชื่อว่าหลังจากที่เขาสละราชบัลลังค์ อาการของโรคเกาท์ได้กำเริบหนักมากจนเดินแทบไม่ได้
การรักษาโรคเก๊าท์ก็มีมานานเช่นกัน การรักษาโรคเก๊าท์ครั้งแรกถูกบันทึกในคริสตศตวรรษที่ 6 โดยแพทย์ชาวคริสเตียนนามว่า Alexander of Tralles แห่งอาณาจักรไบแซนไทน์ (ตุรกีในปัจจุบัน)เขาได้รักษาโรคเก๊าท์ด้วยยาที่ทำจากดอกไม้ที่ชื่อว่า autumn crocus ในเวลาต่อมาอีกนานแสนนาน เจ้าดอก autumn crocus ได้ถูกนำมาสกัดเป็นยา colchicine หนึ่งในยาที่ใช้รักษาโรคเก๊าท์ในปัจจุบัน
จากบทความนี้ จะเห็นได้ว่าโรคภัยไข้เจ็บนั้นอยู่ควบคู่กับประวัติศาสตร์มนุษยชาติเสมอ และบางครั้งก็มีอำนาจพอที่จะเปลี่ยนประวัติศาสตร์ได้ แม้โรคเก๊าท์จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ได้เท่ากับกาฬโรคในอดีตหรือโควิด-19 ในปัจจุบันก็ตาม ถ้าโลกนี้ไม่มีเก๊าท์ เราอาจจะไม่เห็นสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศและอาจจะไม่มีฝรั่งเศสในแผนที่โลกก็เป็นได้ ปัจจุบันได้มีการคิดค้นยาเพื่อรักษาโรคเก๊าท์โดยเฉพาะและยาลดอาการปวดที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้ป่วยโรคเก๊าท์ไม่ต้องทนทุกข์ทรมาณกับการปวดเท้า(และอาการอื่นๆ) สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีและดำเนินชีวิตได้เหมือนคนทั่วไป
.
.
ชมคลิปวีดีโอเพิ่มเติม👇👇