การเลือกของเล่นให้เบบี๋ช่วงวัยแรกเกิดถึงขวบปีแรก เป็นสิ่งสำคัญเพราะเป็นช่วงที่ลูกมีพัฒนาการที่รวดเร็ว ช่วยเพิ่มทักษะการเรียนรู้ให้กับลูกได้เป็นอย่างดี วันนี้จะมาแนะนำเทคนิคการเลือกของเล่นให้ลูกวัยแรกเกิด ถึงขวบปีแรกมาฝาก จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ตัดสินใจในการเลือกซื้อของเล่นให้ลูกได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังเหมาะสมกับพัฒนาการและวัยของลูกอีกด้วยค่ะ
เด็กแรกเกิด – 3 เดือน
1. โมบาย
ของเล่นที่สามารถติดบริเวณเตียงหรือเปลได้ เช่น โมบายล์ ตุ๊กตาของเล่นแขวนที่ขอบเปลนิ่มๆ เป็นต้น
ประโยชน์ : ลูกนอนมองโมบายล์ด้วยความเพลิดเพลิน แถมยังสามารถเสริมพัฒนาการด้านร่างกายด้วยการให้ลูกเอื้อมคว้าโมบายล์ได้อีกด้วย
2. ของเล่นมีเสียงกรุ๊งกริ๊ง
ของเล่นที่มีเสียงดนตรีหรือเสียงกรุ๊งกริ๊งอยู่ในของเล่น
ประโยชน์ : เด็กจะพยายามหาต้นกำเนิดของเสียง เพิ่มความสนใจของเล่นที่แขวนอยู่ในเปลได้อีกด้วย
3. ของเล่นที่มีสีสัน
ของเล่นที่มีสีสันให้เห็นอย่างเด่นชัด เช่น สีขาว-ดำ แดง-ขาว เขียว-น้ำเงิน บางชนิดทันสมัยมีกระจกเงาเล็กสะท้อนแสงแวบๆ ด้วย
ประโยชน์ : เนื่องจากช่วง 3 เดือนแรกนี้ สายตาเด็กจะมองเห็นสิ่งของที่มีสีสันตัดกันได้ชัดกว่าสีเรียบๆ ลูกจะรู้จักมองตามของเล่น แม้ในตอนนี้จะมองได้ไม่ชัดเท่าผู้ใหญ่ อีกทั้งภาพและแสงสะท้อนในกระจกก็เรียกความสนใจได้ดีเช่นกัน
เด็กวัย 4 – 6 เดือน
วัยนี้สามารถเคลื่อนไหวตัวได้มากขึ้น และมีพัฒนาการหลายอย่างมากขึ้นด้วย เช่น การคว้าจับถนัดขึ้น ฟันเริ่มขึ้น มองเห็นชัดขึ้น ฉะนั้นของเล่นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเข้ากับพัฒนาการลูกได้ด้วย
1. ยางกัดนิ่มๆ
ควรเลือกที่ได้คุณภาพเป็นพลาสติกหรือยางที่มีความคงทนแข็งแรง เมื่อบีบดูแล้วไม่มีของเหลวข้างในไหลออกมา เลือกสีสันให้สดใสหรือมีลูกเล่นข้างในยางกัดด้วยก็ได้
ประโยชน์ : วัยนี้ฟันกำลังขึ้น ถ้าสังเกตจะเห็นว่า ลูกจะชอบหยิบจับของเข้าปาก จึงควรเตรียมยางกัดเอาไว้เป็นของเล่นแก้คันเหงือกดีกว่าคว้าของอย่างอื่นมากัดเล่น
2. ตุ๊กตานิ่มที่มีเสียงกระดิ่งดังข้างใน
เลือกตุ๊กตาหรือของเล่นที่มีเสียงกรุ๊งกริ๊งอยู่ด้านใน แต่ต้องสังเกตด้วยว่ากระดิ่งและสีไม่หลุดลอกง่าย พลาสติกต้องไม่มีขอบคม แตกหักยาก สีสดใส และขนาดเหมาะมือ
ประโยชน์ : ลูกเริ่มใช้มือในการคว้าจับ และถ้ามีเสียงด้วย ก็จะยิ่งอยากจับและเขย่า ช่วยให้ลูกใช้มือและกล้ามเนื้อแขนได้ดีขึ้นเรื่อยๆ
เด็กวัย 7 – 9 เดือน
นั่งได้ถนัดขึ้น เด็กบางคนก็เริ่มคลานคล่องแล้ว ของเล่นก็ต้องเพิ่มลูกเล่นไปตามศักยภาพของลูก ให้สมกับวัยนักสำรวจตัวน้อย
1. ของเล่นกดแล้วมีเสียง
เลือกเครื่องเล่นที่ต้องใช้ทักษะหลายๆ ด้าน เช่น กดแล้วมีเสียงต่างๆ ต้องใช้การหมุน บิด ตี ดึง เป็นต้น
ประโยชน์ : นักสำรวจน้อย จะหยิบๆ จับๆ ของเล่นและหัดเล่น เรียนรู้ด้วยตนเอง ของเล่นที่หลากหลายจะเพิ่มทักษะและประสบการณ์ชีวิตได้อย่างไม่น่าเบื่อ
2. บล็อกทรงเรขาคณิต
บล็อกหรือตัวต่อรูปทรงเรขาคณิต สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม วงกลม ขนาดเหมาะมือ ที่ทำจากไม้หรือผ้า
ประโยชน์ : ได้ใช้ความคิดหยิบจับไปวางตรงนู้นตรงนี้ ตาเริ่มสัมพันธ์กับมือไปเรื่อยๆ
3. หนังสือผ้า
หนังสือก็เป็นของเล่นได้เหมือนกันแต่ควรเป็นหนังสือที่มีภาพสวยงามสดใส เหมือนจริง เล่มใหญ่ และตัวหนังสือน้อย หรือเป็นหนังสือผ้าที่แต่ละหน้ามีพื้นผิวต่างๆ ให้ลูกจับสัมผัส
ประโยชน์ : เป็นการปลูกนิสัยรักการอ่าน เด็กจะรู้สึกว่าหนังสือคือสิ่งที่สามารถจับต้องได้เคยชิน และได้เรียนรู้ จดจำภาพแต่ละภาพที่มีอยู่ในหนังสือด้วย
เด็กวัย 10 – 12 เดือน
เริ่มซนจนจับไม่อยู่แล้ว แต่ในขณะเดียวกันของเล่นก็ยังมีความจำเป็นต่อการพัฒนาเด็กมากอยู่ดี เพราะระหว่างที่เขาได้เล่นจะเกิดความสุขใจ เกิดประสบการณ์จากการเล่น พัฒนาทั้งสติปัญญาและร่างกายอีกด้วย
1. บล๊อกตัวต่อ
บล็อกตัวต่อ เป็นของเล่นที่มีลักษณะต่างๆ เช่น สี่เหลี่ยม กากบาท รูปดาว เป็นต้น ใส่ช่องตามรูปร่าง หรือหยิบใส่ เทออกจากกล่องบรรจุ
ประโยชน์ : ได้เรียนรู้ถึงรูปร่างของของเล่นแต่ละชิ้นที่หยิบจับ เริ่มรู้จักการกะปริมาณอย่างง่าย เช่น ใส่จนเต็ม หรือเททิ้งจนภายในถังว่างเปล่า
2. รถลากของเล่น
เช่น รถชนิดแล่นไปแล้วชนกำแพงตีลังกากลับมาได้เอง รถดึงลาก มีเสียง
ประโยชน์ : ล่อตาล่อใจให้ลูกเคลื่อนตัวไปจับไปเข็น ซึ่งเมื่อเคลื่อนไหวบ่อยครั้ง แขนขาก็จะแข็งแรงขึ้นไม่ล้มง่าย
การที่คุณพ่อคุณแม่เลือกของเล่นให้ลูกได้เหมาะสมกับวัย จะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบตัวด้วยการใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ทั้งการมองเห็น การได้ยิน การใช้ปาก จมูก และการสัมผัส หากเราเติมเต็มสิ่งเหล่านี้ได้ก็จะทำให้ลูกน้อยได้เรียนรู้หลักพื้นฐานของเหตุและผลจากการเล่น และช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางสมองให้ลูกเติบโตอย่างสมวัยค่ะ
อ่านจบแล้วแม่ๆอย่าลืมเลือกของเล่นที่เหมาะสมกับวัยของลูกให้ลูกรักนะคะ