ย้อนรอยเส้นทางรัฐธรรมนูญ 40 ฉบับประชาชน เนื่องในวันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันรัฐธรรมนูญไทย
สำหรับ“วันรัฐธรรมนูญ” คือ วันที่จัดขึ้นเพื่อระลึกถึงการมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ฉบับแรกของไทย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชนชาวไทย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 วันนี้จึงถือเป็นวันที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และการเมืองไทย
ความหมายของรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญ หมายถึง กฎหมายสูงสุดของประเทศ เป็นกฎหมายแม่บทที่บัญญัติกฎเกณฑ์การบริหารและปกครองทางการเมือง หากกฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญจะมีผลเป็นโมฆะและบังคับใช้ไม่ได้
กำเนิดรัฐธรรมนูญไทย หลังคณะราษฎรได้ทำการอภิวัฒน์สยาม เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) มีการประกาศใช้ “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475” เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2475 ถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ฉบับแรกของไทย ต่อมา ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 ทรงพระราชทาน “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475” เป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ฉบับแรกของไทย ทำให้วันรัฐธรรมนูญตรงกับวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง ประเทศไทยได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญมาแล้วทั้งหมด 20 ฉบับ โดยฉบับปัจจุบันคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
แต่สำหรับถ้ารัฐธรรมนูญฉบับที่พูดถึงกันมากที่สุดคงไม่พ้น รัฐธรรมนูญ 40 ฉบับประชาชน ดังนั้นจะมีความเป็นมาอย่างไรเรามาทราบกัน ย้อนกลับไปเมื่อ วันที่ 11 ตุลาคม 2540 คือวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 16 ของประเทศไทย รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้นับการขนานนามว่าเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ขณะที่หลังจากรัฐธรรมนูญ 2540 สิ้นสุดประเทศไทยก็มีรัฐธรรมนูญเพิ่มอีก 4 ฉบับ ปัจจุบันมีรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นฉบับที่ 20 หลังรัฐธรรมนูญ 2540 ถูกยกเลิกตลอด 12 ปี เรามีกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ 2 ครั้ง คือ รัฐธรรมนูญ 2550 และรัฐธรรมนูญ 2560 และมีแนวโน้มที่อนาคตเรากำลังจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งการจัดทำรัฐธรรมนูญในละยุคแต่ละสมัยมักจะมีการกล่าวถึงรัฐธรรมนูญ 2540 ทั้งๆ เป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด เหตุผลที่รัฐธรรมนูญ 2540 ถูกขนานนามว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เนื่องมาจากเป็นรัฐธรรมนูญที่มีส่วนร่วมจากประชาชนมากที่สุด บรรยากาศของสังคมไทยก่อนหน้ามีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2540 นับว่าประชาชนมีความตื่นตัวเกี่ยวกับบ้านเมืองอย่างมาก ไม่เพียงแต่ในกรุงเทพฯ แต่ยังกระจายไปยังทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยทำให้เกิดบรรยากาศชู “ธงเขียว” รณรงค์ให้รัฐสภารับร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ส.ส.ร. พบว่าประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากกว่า 800,000 คน ยังไม่รวมการมีส่วนร่วมที่ภาคประชาชน องค์กรธุรกิจ และพรรรคการเมืองจัดขึ้นกันเอง ซึ่งนี่คือสาเหตุสำคัญที่รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นที่ยอมรับของประชาชนโดยทั่วไป
สสร. จากการเลือกตั้ง กระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ 2540 นอกจากมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างกว้างขวางแล้ว ยังมีอีกกระบวนการที่สำคัญคือ การเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญโดยอ้อมจากประชาชนแต่ละจังหวัดจำนวน 76 คน เข้ามามีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ ร่วมกับตัวแทนนักวิชาการอีก 23 คน นั้นทำให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ 2540 แตกต่างจากกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านๆ ที่ส่วนใหญ่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญจะมาจากชนชั้นนำ ขณะที่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญหลังจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่แม้จะมีการออกเสียงประชามติ แต่ก็การรรณรงค์ก็ถูกปิดกั้น
รัฐธรรมนูญ 2540 คือ มาตรฐานของการร่างรัฐธรรมนูญในหมวดสิทธิเสรีภาพของรัฐธรรมนูญไม่ว่าฉบับใดหลังจากนี้ เพราะนี้คือจุดเริ่มต้นของการมีสิทธิเสรีภาพของประชาชนจำนวนมาก เช่น สิทธิชุมชน สิทธิในกระบวนการยุติธรรม และเสรีภาพในทางวิชาการ ฯลฯ ยิ่งในยุคสมัยของการร่างรัฐธรรมนูญในยุครัฐประหารที่ต้องหาความชอบธรรมในการสืบทอดอำนาจ การบัญญัติเขียนหมวดสิทธิเสรีภาพให้ดีกว่ารัฐธรรมนูญ 2540 จึงเป็นสิ่งที่ต้องทำ
วุฒิสภามาจากการเลือกตั้ง รัฐสภาไทยตามรัฐธรรมนูญฉบับถาวรส่วนใหญ่จะเป็นสองสภา คือ สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และ วุฒิสภา (ส.ว.) และก่อนหน้ารัฐธรรมนูญ 2540 ส.ว. จะถูกกำหนดให้มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารหรือฝ่ายบริหาร แต่รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นครั้งแรกที่กำหนดให้มี ส.ว. จำนวน 200 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน อย่างไรก็ตามหลังจากรัฐธรรมนูญ 2540 ถูกยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 ก็กำหนดให้มี ส.ว. มาจากการเลือกตั้งและแต่งตั้งอย่างละครึ่ง และรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ ส.ว. มาจากการแต่งตั้งทั้งหมดโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
เป็นที่มาขององค์กรอิสระ องค์กรอิสระทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และศาลรัฐธรรมนูญ ฯลฯ ต่างเป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญ 2540 ที่มีไว้เพื่อเป็นองค์กรอิสระที่มีไว้ตรวจสอบการทำงานของฝ่ายการเมือง โดยในช่วงแรกที่มาองค์กรอิสระเหล่านี้ถูกออกแบบให้เหมาะสมกับอำนาจหน้าที่และมีผู้มีอำนาจในการคัดเลือก เช่น ภาคประชาสังคม สื่อมวลชน พรรคการเมือง และมีวุฒิสภาจากการเลือกตั้งทำหน้าที่เห็นชอบบุคคลให้เข้าไปดำรงตำแหน่งต่างๆ แต่การรัฐประหารสองครั้งหลังสุดข้าราชการ และตุลาการกลายเป็นผู้มีบทบาทหลังในการสรรหา
ทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองก่อนรัฐธรรมนูญ 2540 ทำให้การพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างไปต่อเนื่อง เพราะระบบเลือกตั้งที่ทำให้เกิดพรรคการเมืองหลายพรรค เกิดรัฐบาลผสมหลายพรรคการเมืองการทำงานไม่เป็นเอกภาพ ทำให้มีการเปลี่ยนรัฐบาลและยุบสภาในเวลาอันรวดเร็ว รัฐธรรมนูญ 2540 จึงอุดรอยรั่วสร้างระบบพรรคการเมืองที่เข้มแข็งเปลี่ยนระบบเลือกตั้งให้ความสำคัญกับพรรคการเมือง มากกว่าตัวบุคคล เกิดการแข่งขันเชิงนโยบาย ทำให้การเมืองหลังจากรัฐธรรมนูญ 2540 พรรคการเมืองต่างต่อสู้กันด้วยนโยบายเพื่อเอาชนะใจประชาชน มากกว่าใช้บารมีในท้องถิ่น
นายกรัฐมนตรีที่ต้อง มาจากการเลือกตั้ง ก่อนหน้ารัฐธรรมนูญ 2540 กองทัพมักเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองผ่านการรัฐประหาร และสร้างกติกาในรัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจหลังการเลือกตั้ง ดังจะเห็นว่าทหารสามารถเข้ามาเป็นนายกฯ ทั้งทีไม่ได้ผ่านการเลือกตั้งและสังกัดพรรคการเมืองใดๆ รัฐธรรมนูญ 2540 จึงปิดช่องป้องกันอีแอบเข้ามาเป็นนายกฯ โดยไม่ผ่านการรับรองจากประชาชนผ่านการเลือกตั้ง อย่างก็ไรก็ตามรัฐประหารทั้งสองครั้งล่าสุดได้ทำให้ทหารสามารถกลับเข้ามาเป็นนายกฯ แม้ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้ง อย่างไรก็ดีนายกฯ จากการเลือกตั้งยังเป็นข้อต่อสู้ในทางการเมืองสำคัญในการลดความชอบธรรมของนายกฯ ที่ไม่ได้มากจากเลือกตั้ง
รัฐธรรมนูญมีความชอบธรรม ที่มาของรัฐธรรมนูญ 2540 มาจากกระแสการปฏิรูปการเมืองหลังเหตุการณ์พฤษภาคมประชาธรรมปี 2535 ที่ประชาชนถูกปราบปรามจากกองทัพ หลังมีการชุมชุมขับไล่รัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ความสูญเสียที่เกิดขึ้นและกระแสเรียกร้องจากชนชั้นกลางที่มีพลังทำให้ พล.อ.สุจินดา ลาออก และนำมาสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2534 ให้ “นายกฯ มาต้องมาจาก ส.ส.”และแก้ไขอีกหลายเรื่องให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญ 2534 มีที่มาจากการรัฐประหารจึงเป็นเหตุผลหนึ่งในการเกิดกระแสจัดร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จนนำมาซึ่งรัฐธรรมนูญ 2540 ที่มีความชอบธรรมในการเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน
อ้างอิงจาก: https://th.wikipedia.org/wiki/รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย_พุทธศักราช_2540#:~:text=รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540,%E0%B8%AD%E0%B8%B5%E0%B8%81%2023%20%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81
https://ilaw.or.th/node/5426