สูงสุดสู่สามัญ..!! ชะตากรรมทายาทกษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งพม่าและอินเดีย
สูงสุดสู่สามัญ
ชะตากรรมทายาทกษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งพม่าและอินเดีย
โพสต์นี้เก็บมาเล่าจากหนังสือสองเล่มที่ดิฉันแปลค่ะ คือ “ราชันผู้พลัดแผ่นดิน เมื่อพม่าเสียเมือง” และ The Last Mughal
• ตุลาคม ปี 1858 เกือบหนึ่งปีหลังยึดราชธานีเดลีของราชวงศ์โมกุล อังกฤษเนรเทศบะห์ดูร์ ชาห์ ซาฟาร์ที่ 2 จักรพรรดิองค์สุดท้ายของอินเดีย มาเป็น “นักโทษของรัฐ” ที่เมืองร่างกุ้งในพม่า โอรสสององค์เล็กถูกเนรเทศมาพร้อมกันด้วย คือเจ้าชายมีร์ซา จาวาน บัคต์ วัย 18 ชันษาโอรสที่ประสูติแต่พระราชินีซัยนัต มาฮาล และเป็นโอรสที่พระองค์ต้องการให้เป็นรัชทายาทสืบบัลลังก์ อีกคนคือมีร์ซา ชาห์ อับบาส โอรสองค์เล็กสุดผู้มีมารดาเป็นนางสนม
เจ้าชายทั้งสองร้องขอต่ออังกฤษ ขอให้ได้ไปศึกษาที่อังกฤษ และทั้งอดีตจักรพรรดิและพระราชินีก็เห็นด้วย แต่รัฐบาลอังกฤษในเดลีปฏิเสธ เจ้าชายทั้งสองจึงพยายามหาความรู้ภาษาอังกฤษจากภรรยาของเจ้าหน้าที่อังกฤษที่เป้นผู้คุมครอบครัวอดีตจักรพรรดิ และจากพวกทหารยามที่คุ้มกันบริเวณบ้านพักของครอบครัว
ทั้งสองใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ในร่างกุ้ง มีร์ซา จาวาน บัคต์กลายเป็นคนติดเหล้าและเสียชีวิตในวัยเพียง 42 ปี ส่วนมีร์ซา ชาห์ อับบาสลงเอยด้วยการแต่งงานกับบุตรสาวของพ่อค้ามุสลิมในร่างกุ้ง ทายาทของพวกเขาใช้ชีวิตอยู่ในร่างกุ้ง
• พฤศจิกายน ปี 1885 อังกฤษยึดราชธานีมัณฑะเลย์ของราชวงศ์คองบอง และเนรเทศธีบอ กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งพม่าไปเป็น “นักโทษของรัฐ” ที่เมืองรัตนคีรีในอินเดีย อดีตกษัตริย์ออกจากแผ่นดินเกิดพร้อมกับมเหสีสององค์ และพระราชธิดาสององค์ คือเจ้าหญิงใหญ่ และเจ้าหญิงสอง (ตามที่อังกฤษเรียก) พระนางศุภยาลัตอุ้มท้องเจ้าหญิงสามมาคลอดที่อินเดีย และทรงครรภ์และมีประสูติกาลเจ้าหญิงสี่ระหว่างประทับลี้ภัยที่เมืองรัตนคีรี
พระราชธิดาทั้งสี่ของกษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งพม่า ไร้การศึกษาไม่ต่างจากโอรสของอดีตจักรพรรดิองค์สุดท้ายแห่งอินเดีย แต่แตกต่างกันตรงที่ว่า เป็นอดีตกษัตริย์และพระราชินีองค์สุดท้ายแห่งพม่าที่ไม่ต้องการให้พระราชธิดาทั้งสี่ไปเรียนปะปนกับเด็กชาวพื้นเมือง พระราชธิดาของอดีตกษัตริย์จึงไร้การศึกษาอย่างที่สุด ยกเว้นเจ้าหญิงสี่ที่ขวนขวายหาความรู้ภาษาอังกฤษกับชาวอังกฤษผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมครอบครัวอดีตกษัตริย์
เจ้าหญิงใหญ่ลงเอยด้วยการตกเป็นภรรยาคนที่สองของยามประจำบ้านพัก มีลูกสาวเลือดผสมพม่า-มราฐา ซึ่งถูกนับเป็นจัณฑาล เจ้าหญิงสองหนีตามเลขานุการชาวพม่าของอดีตกษัตริย์และใช้ชีวิตอยู่ในอินเดีย เจ้าหญิงสามและเจ้าหญิงสี่ติดตามพระนางศุภยาลัตกฃับมาประทับที่ร่างกุ้งในปี 1919 และทั้งสองสมรสกับชาวพม่า
อ้างอิงจาก: https://www.facebook.com/subhatra.bhumiprabhas