“วงล้อธรรมจักร” รูปหินแกะสลักสมัยทวาราวดี อายุราว พ.ศ. 1043 - 1143 ณ โบราณสถานเขาคลังใน เมืองศรีเทพ
ในทางพุทธศาสนา ‘ธรรมจักร’ มีความหมายว่า ‘ล้อแห่งธรรม’ คือจักรแห่งธรรมอันประเสริฐที่พระพุทธเจ้าได้ทรงหมุนให้ขับเคลื่อนไปในใจของชาวโลก เพื่อให้ได้ตรัสรู้ธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้
“ล้อ” หรือ “จักร” ย่อมประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วน คือ ดุม จุดศูนยกลางของล้อ กำ ซี่ของล้อ และกง ขอบรอบนอกสุดของล้อ ส่วน “จักรธรรม” นี้ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุปมาเปรียบ โพธิปักขิยธรรมเป็น “ดุม” ปฏิจจสมุปบาทธรรม เป็น “กำ” และ อริยสัจ 4 เป็น “กง” บางนัยยะกล่าวว่า ซี่ของล้อธรรมจักร อาจหมายถึง อาการ 12 ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจก็ได้เช่นกัน บางแห่งก็อธิบายว่ากงรอบนอกนั้นหมายถึงความเป็นไปของพระสัทธรรม หรือวงเวียนของสังสารวัฏก็ได้
ทั้งนี้ โบราณสถานเขาคลังใน เป็นโบราณสถานขนาดใหญ่ตั้งอยู่เขตเมืองด้านในของเมืองศรีเทพ เป็นศาสนสถานในศาสนาพุทธ และมีมาตั้งแต่สมัยแรกสร้างเมืองในราวพุทธศตวรรษที่ 12 โดยผลการขุดแต่งพบว่าระยะแรกโบราณสถานแห่งนี้คงสร้างขึ้นในพุทธศาสนาเถรวาทตามการนับถือในวัฒนธรรมทวารวดีระยะแรก ต่อมาราวพุทธศตวรรษที่ 14 จึงได้เปลี่ยนเป็นพุทธศาสนามหายาน เนื่องจากได้พบประติมากรรมพระโพธิสัตว์หลายองค์และพบร่องรอยการซ่อมแซมเปลี่ยนแปลงในระยะเวลาเดียวกันนี้พร้อมกับการทำลวดลายปูนปั้นประดับที่ฐานอาคารซึ่งยังหลงเหลือให้เห็นอยู่ทางด้านทิศตะวันตกและทิศใต้
อ้างอิงจาก: Google Facebook และวิกิพีเดีย