คำเฉลยจากปากมหาดเล็กในพระตำหนัก “ใครยิงย่าเหล ?”
ครั้งที่เป็นกรรมการหอวชิราวุธานุสรณ์ ผมได้มีโอกาสรู้จักกับกรรมการอาวุโสท่านหนึ่ง ท่านผู้นี้เรียนจบจากโรงเรียนมหาดเล็กหลวงได้คะแนนดี พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เข้ารับราชการในกรมมหาดเล็ก ตำแหน่งพนักงานจัดเก็บหนังสือประจำห้องทรงพระอักษร แล้วท่านยังได้เป็นหนึ่งในบรรณาธิการรุ่นเด็กของดุสิตสมิต หนังสือพิมพ์ ที่ล้นเกล้าฯเองทรงเป็นบรรณาธิการใหญ่อีกด้วย หลังพระองค์เสด็จสวรรคต รัชกาลที่ ๗ โปรดเกล้าฯให้ย้ายไปรับราชการเป็นเจ้ากรมพระตำรวจในซ้าย ได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็นขุนตำรวจเอก(เทียบเท่าพันเอก) พระมหาเทพกษัตรสมุห (เนื่อง สาคริก) คนทั้งหลายเรียกท่านสั้นๆว่าคุณพระมหาเทพ ปกติเมื่อเลิกประชุมแล้ว ผมมักจะเชิญท่านขึ้นรถของผมแล้วขับไปส่งใกล้ๆบ้าน ระหว่างนั้นท่านก็มีความเมตตาเล่าเรื่องต่างๆให้ฟังเสมอ
เรื่องแรกๆที่ผมจำได้ก็คือ ครั้งหนึ่งท่านไปโรงพยาบาลแต่เช้าตรู่เพื่อลงชื่อขอรับการตรวจรักษาเป็นคนแรกๆ พอคลินิกเปิด นางพยาบาลก็ขานชื่อคนไข้ทีละคนให้เข้าไปพบแพทย์ ท่านรออยู่หลายชั่วโมงไม่เห็นเรียกท่านสักทีจึงเข้าไปสอบถาม นางย้อนกลับมาว่าลุงชื่ออะไรล่ะ ท่านตอบว่าท่านชื่อพระมหาเทพกษัตริย์สมุห์ นางพยาบาลถึงกับอึ้ง สำคัญผิดไปว่าพระมหาเทพเป็นสมณศักดิ์ พอมองไปไม่เห็นพระสักองค์เดียวเลยนึกว่ากลับวัดไปแล้ว จึงไม่ได้เรียก
เรื่องราวที่ท่านเล่ามักจะเกี่ยวกับมหาดเล็กในราชสำนักรัชกาลที่ ๖ วันหนึ่งเล่าเรื่องที่ท่านชอบเล่นเย้าแหย่กับย่าเหล สุนัขตัวโปรดของพระเจ้าอยู่หัว แล้วทำท่าจะจบอย่างสั้นๆ ผมอดไม่ได้จึงถามเรื่องสำคัญที่อยากรู้มานานแล้วว่า “แล้วใครเป็นคนฆ่าย่าเหลครับ” ท่านขยับตัวขึ้นทันที “เรื่องนี้ผมรู้ดี จะเล่าให้ฟัง”
ผู้อ่านอาจจะทราบเรื่องราวเกี่ยวกับย่าเหลบ้างแล้วว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯครั้งเมื่อยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมฯนั้น โปรดเสด็จไปประทับแรมที่นครปฐมบ่อยๆ วันหนึ่งเสด็จไปทรงตรวจราชการเรือนจำประจำจังหวัด แล้วทอดพระเนตรเห็นลูกสุนัขพันธุ์ผสมที่ชาวบ้านเรียกหมาจู ๒ สองตัวพี่น้อง สีน้ำตาลตัวหนึ่ง กับตัวสีขาวขนปุกปุยหางเป็นพวง มีด่างดำที่หน้าและบนหลังคล้ายอานม้า กำลังเล่นอยู่กับแม่ของมัน เมื่อทรงดีดพระหัตถ์เรียก เจ้าตัวขาวด่างดำก็ได้วิ่งส่ายหางดุกดิ๊กมาคลอเคลียกับเบื้องพระยุคลบาท ผู้บัญชาการเรือนจำเห็นพระองค์ทรงเอ็นดูมันมากจึงทูลเกล้าฯถวาย
ลูกสุนัขทั้งสองได้รับพระกรุณาให้นำมาเลี้ยงไว้ในพระราชฐาน แล้วพระราชทานชื่อลูกสุนัขตัวสีขาวต่างดำว่า "ย่าเหล” อีกตัวให้ชื่อ "ปอล" ตามชื่อตัวเอกและตัวรองในละครเรื่อง My Friend Jarlet ซึ่งพระองค์ทรงนำมาแปลเป็นบทละครภาษาไทยให้ชื่อว่า "มิตรแท้" ปอลคงจะอายุสั้นจึงไม่มีเรื่องราวเกี่ยวกับมันอีกเลย ส่วนย่าเหลนั้น รับสั่งให้มหาดเล็กรักษาเครื่องแต่งพระองค์เป็นผู้ดูแล เลี้ยงดู อาบน้ำฟอกสบู่ใส่แป้งให้หอม แล้วนำมาเข้าเฝ้าทุกเช้าเมื่อทรงตื่นพระบรรทม
ย่าเหลได้เติบโตขึ้นมาในวิถีชีวิตเช่นนั้น จนเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้วก็ยังรับหน้าที่เดิม เป็นมิตรแท้ที่เสมือนเป็นมหาดเล็กรักษาพระองค์ ยามนอนก็มิห่างจากพระแท่นในห้องพระบรรทม เวลาที่ทรงพระอักษรหรือประทับเสวยพระกระยาหาร ย่าเหลก็จะหมอบเฝ้าอยู่ใกล้ที่ประทับ และตามเสด็จทุกฝีก้าวไม่ให้คลาดสายตา นอกจากเวลาจะเสด็จพระราชดำเนินออกนอกพระราชฐาน ย่าเหลก็จะเพียงตามมาส่งเสด็จถึงรถพระที่นั่ง
พฤติกรรมของย่าเหลเช่นนี้ มหาดเล็กทั้งหลายจึงมักจะเอ็นดูแกมหมั่นไส้ เมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพ้นไปแล้วจะมักถือโอกาสเย้าแหย่ บางทีก็เล่นกับย่าเหลแรงๆบ้าง ซึ่งย่าเหลจะคิดว่าถูกรังแก พอได้ยินเสียงแตรที่ทหารรักษาวังที่หน้าประตูพระราชฐานเป่าเป็นสัญญาณว่าเสด็จกลับมาแล้ว ย่าเหลก็จะรีบไปรอรับเสด็จอยู่ที่เชิงอัฒจันทร์เทียบรถพระที่นั่ง แล้วก็จะวิ่งตามเสด็จขึ้นสู่ที่ประทับ พอเดินผ่านผู้ที่เล่นกับตนหนักๆก็จะตรงเข้าไปงับหน้าแข้งผู้นั้นทันทีเป็นการฟ้องพระเจ้าอยู่หัว มีคนหนึ่งโดนบ่อยมาก แม้พระองค์ก็ทรงทราบว่าไม่มีอะไรหนักหนา แต่ก็ทรงรำคาญจนถึงกับตรัสว่า "ไอ้นี่ชอบกัดกับหมาเสียจริง" เลยทรงขนานฉายาให้มหาดเล็กผู้นั้นว่า "ไอ้หมา" นี่ถือว่าโดนหนักที่สุดแล้ว เพราะไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดต้องพระราชอาญาเพราะรังแกย่าเหลมากไปกว่านี้เลย
ย่าเหลมิได้เก่งแต่ในวัง แม้ยามที่เสด็จหัวเมืองห่างไกลที่โปรดให้ย่าเหลตามเสด็จไปด้วยทุกคราวนั้น หากเห็นใครทำอะไรไม่ชอบมาพากล ย่าเหลจะเห่าและตรงเข้างับ แม้ผู้ที่ถวายความเคารพผิดจากที่เคยปฏิบัติก็จะโดน การกระทำของย่าเหลที่แสดงถึงความจงรักภักดีเช่นนี้เป็นที่พอพระราชหฤทัยยิ่งนัก และเพื่อให้ทุกคนได้รับทราบว่าพระองค์รักมัน ย่าเหลจึงได้รับพระราชทานรางวัลในวาระต่างๆให้ดังนี้
๑ เข็มรูปวชิราวุธ ซึ่งแสดงว่าเป็นข้าหลวงเดิมก่อนเสวยราชย์
๒ เหรียญราชรุจิ ซึ่งเป็นเหรียญส่วนพระองค์ ทำด้วยกะไหล่เงิน เป็นเครื่องแสดงว่าเป็นข้ารับใช้ใกล้ชิด
๓. เสมา วปร. ทองคำ ซึ่งแสดงว่าเป็นข้าราชบริพารในพระองค์
๔. รับพระราชทานเงินเดือนๆละ ๔๐ บาท เงินส่วนนี้เปิดเป็นบัญชีสะสมไว้ ครั้งหนึ่งได้โปรดให้บริจาคสมทบทุนเรี่ยไรซื้อเรือรบหลวงพระร่วงไปในนามของย่าเหล ๑๐๐ บาท และบริจาคไปเป็นทุนก่อสร้างกุฏิปฏิบัติธรรมของเจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ แล้วพระราชทานนามกุฏินั้นว่า "กุฏิย่าเหล" ซึ่งยังอยู่จนทุกวันนี้ เป็นต้น
นอกจากนั้น หลังจากทรงทราบว่าย่าเหลเริ่มมีพฤติกรรมของสุนัขตัวผู้ชอบหนีออกไปเที่ยวนอกวัง จึงรับสั่งให้ทำแผ่นทองลงยาจารึกว่า “ฉันชื่อย่าเหล ฉันเป็นหมาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ให้ย่าเหลห้อยคอไว้ตลอดเวลา ทรงหวังว่า หากผู้พบเห็นย่าเหลภายนอกพระราชฐานจะได้ทราบ และนำกลับมาถวายคืน
แม้นว่าย่าเหลจะมีบุญ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณชุบเลี้ยงถึงปานนี้ก็ตาม แต่ธรรมชาติของสัตว์ที่ต้องเตลิดไปตามสัญชาติญาณก็เป็นเหตุให้วิบากกรรมในอดีตชาติตามมาทัน จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันของกรมพระอาลักษณ์ วันศุกร์ที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ บันทึกไว้ว่า เวลาบ่าย ๕ โมง ทรงรถยนต์แต่พระที่นั่งอัมพรสถานเสด็จพระราชดำเนินไปในการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพุ่มเข้าพรรษาแด่พระสงฆ์ ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาม และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ตามลำดับ ...
...เวลาค่ำ เสด็จจากวัดพระเชตุพนไปสวนสราญรมย์ ประทับเสวยที่นั้น เวลา ๓ ยามเสด็จกลับ วันนี้เมื่อเวลาเสด็จวังสราญรมย์ สุนัขชื่อ "ย่าเหล" ที่ทรงเลี้ยงไว้ จะเที่ยวไปติดสัดฤาอย่างไรไม่ทราบ มีผู้ยิงด้วยปืนลูกกลดตายที่ระหว่างถนนข้างวัดพระเชตุพน แลนำเอาไปทิ้งไว้ที่ถังฝุ่นฝอยของกรมศุขาภิบาล มีสีมาทองคำลงยาที่จารึกอักษรว่า "ฉันชื่อย่าเหล เปนสุนัขของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" แลสีมานี้ก็หายไปด้วย..."
การตายของย่าเหลนำความโศกสลดให้แก่พระเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างยิ่ง ทรงหม่นหมอง เงียบ และไม่มีรับสั่งกับผู้ใดไปหลายวัน ถ้าใครได้อ่านพระราชนิพนธิ์ในจารึกที่ติดไว้บนแท่นอนุสาวรีย์ย่าเหลแล้ว (อ่านได้จากภาพประกอบ) จะเข้าใจพระราชหฤทัย ท่อนที่ว่า “นี่เพื่อนตายเพราะผู้ร้ายมันมุ่งปอง เอาปืนจ้องสังหารผลาญชีวี เพื่อนมอดม้วยด้วยมือทุรชน เอารูปคนสวมใส่คลุมใจผี เป็นคนจริงฤาจะปราศซึ่งปรานี นี่รากษสอัปปรีย์ปราศเมตตา มันยิงเพื่อนเหมือนกูพลอยถูกด้วย แทบจะม้วยชีวังสิ้นสังขาร์ ” มีความหมายว่าทรงทราบดีว่าย่าเหลโดนยิงตายอย่างไร จึงมีการคาดหมายกันไปต่างๆนานามาตั้งแต่ยุคของพระองค์แล้ว จำเลยของสังคมมีตั้งแต่มหาดเล็กไปยันขุนนางและเจ้านาย ขนาดลือกันว่ามีพระวัดโพธิ์เห็นเสด็จในกรมพระองค์หนึ่งยิงย่าเหลที่ประตูข้างทางเข้ากุฏิ แต่เรื่องเงียบไปเพราะไม่อยากให้พี่น้องต้องมาทะเลาะกันเพราะหมาตัวเดียว
ความเป็นจริงในส่วนของพระเจ้าอยู่หัวนั้น กลับไม่ปรากฏว่าทรงมีพระราชกระแสร์แสดงความสงสัยผู้ใดกับใคร ทรงทำศพมิตรแท้ของพระองค์อย่างดีที่สุด โดยรับสั่งให้ช่างหลวงทำหีบไม้แกะสลักลงรักปิดทองมีรูปสลักหน้าย่าเหล สำหรับบรรจุร่างของมันขึ้นรถไฟกลับไปยังนครปฐมบ้านเกิด โปรดให้นักเรียนมหาดเล็กหลวงเนื่อง สาคริก แต่งเครื่องแบบลูกเสือหลวง เดินนำแถวลูกเสือหลวงโรงเรียนมหาดเล็กหลวงพร้อมแตรวง นำขบวนแห่ศพย่าเหลจากพระราชวังสนามจันทร์ไปยังเมรุชั่วคราวที่โปรดเกล้าให้สร้างขึ้นที่วัดพระปฐมเจดีย์ เมื่อยกหีบศพย่าเหลขึ้นตั้งบนจิตกาธานแล้ว ได้เสด็จไปทรงจุดชนวนฝักแคพระราชทานเพลิงเป็นอันเสร็จพิธี ไม่โปรดให้ผู้ใดขึ้นเผาดังเช่นงานศพทั่วไป หลังจากนั้นแล้วยังได้โปรดให้หล่อรูปย่าเหลด้วยทองแดง ทำเป็นอนุสาวรีย์ไว้ที่หน้าพระตำหนักแปรพระราชฐาน ซึ่งพระราชทานนามให้ใหม่ว่า "พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์"
พระมหาเทพกษัตรสมุห (เนื่อง สาคริก) ไขข้อข้องใจให้ผมฟังบนรถในวันนั้นสรุปว่า ในคืนเกิดเหตุสุนัขวัดโพธิ์กัดกันส่งเสียงดังมาถึงเขตพระราชฐาน ทหารยามเฝ้าสวนสราญรมณ์ซึ่งมีหน้าที่คอยป้องกันมิให้สุนัขจรจัดเข้ามาในสวน มีความเป็นอริกับสุนัขฝูงนี้อยู่แล้ว จึงใช้ปืนลูกกรดสำหรับใช้ยิงสุนัขยิงสุ่มข้ามถนนเข้าไปนัดหนึ่งหวังจะปราม กว่าจะมีคนไปพบว่ากระสุนนัดนั้นไปโดนย่าเหล เรื่องก็บานเบิกไปไกล
เจ้าพระยารามราฆพท่านสั่งสืบสวนจนรู้ต้นสายปลายเหตุตั้งแต่วันแรกๆ แต่เห็นว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระอาการหนักจึงไม่ได้รบกวนเบื้องพระยุคลบาท รอจนกระทั่งเหตุการณ์ผ่านไปนานจนพระองค์ทรงลืมแล้ว จึงได้กราบบังคมทูล ซึ่งพระองค์สดับแล้วก็มิได้ตรัสประการใด
.
.
.
ขอบคุณ🙏 ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน
อ้างอิงจาก: https://www.facebook.com/100063747391962/posts/pfbid02Zy6Bh9W7YtnggxbHFZbdDSc8Xw3mtP6F5vDPprTVzHqMygFrr5AMzrrR5pXMAmKdl/