พิธีสุดแปลก บูชาศพ นักบวชอโฆรี ผู้กินเนื้อมนุษย์จุดทั้งกระแสความกลัวและความเลื่อมใสในอินเดีย
พิธีกรรมสุดแปลก บูชาศพ นักบวชอโฆรี ผู้กินเนื้อมนุษย์จุดทั้งกระแสความกลัวและความเลื่อมใสในอินเดีย
👉🏿นักบวชอโฆรีจะออกจากที่บำเพ็ญเพียรก็ต่อเมื่อถึงเทศกาล "กุมภเมลา"
ในอินเดียมีนักบวชศาสนาฮินดูกลุ่มหนึ่งที่บำเพ็ญสมาธิ กิน นอน เสพกามท่ามกลางศพที่เผาไหม้อยู่บนเชิงตะกอน ไปไหนมาไหนด้วยร่างกายอันเปลือยเปล่า
😁กินเนื้อมนุษย์ ใช้หัวกะโหลกแทนถ้วยชาม และสูบกัญชา พวกเขาเหล่านี้จะออกจากที่บำเพ็ญเพียรซึ่งตัดขาดจากโลกภายนอกก็ต่อเมื่อถึงเทศกาล "กุมภเมลา"(Kumbh Mela) ซึ่งเป็นเทศกาลแสวงบุญอันยิ่งใหญ่ของชาวฮินดูเพื่ออาบน้ำชำระบาปและสักการะแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ในอินเดีย
นักบวชศาสนาฮินดูกลุ่มนี้อาศัยอยู่ชายขอบสังคมอินเดีย และเป็นที่รู้จักในนาม "อโฆรี" (Aghori) ซึ่งในภาษาสันสกฤตมีความหมายว่า "ไม่น่าสะพรึงกลัว" แต่เรื่องราวการประกอบพิธีกรรมที่ไม่ธรรมดาของพวกเขากลับกระตุ้นความสงสัยใคร่รู้ ความรังเกียจเดียดฉันท์ และความขนพองสยองเกล้าให้กับผู้คนจำนวนมาก
👉🏿พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ทางจิตวิญญาณ
ดร.เจมส์ มัลลินสัน อาจารย์ด้านภาษาสันสกฤตและอินเดียโบราณศึกษาแห่งโซแอส มหาวิทยาลัยลอนดอน บอกว่า เหตุผลที่อยู่เบื้องหลังหลักปฏิบัติสำคัญของนักบวชกลุ่มนี้คือ การก้าวข้ามกฎเกณฑ์แห่งความสะอาดบริสุทธิ์ เพื่อบรรลุถึงการตรัสรู้ และความเป็นหนึ่งเดียวกับพระผู้เป็นเจ้า
👉🏿คนนอกมักทำใจยอมรับพิธีกรรมของอโฆรีได้ยาก
ดร.มัลลินสัน ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดก็เป็น "กูรู" หรือนักพรตของอีกนิกายที่บำเพ็ญตนอย่างเคร่งครัด แต่กลุ่มของเขาจะยึดถือกฎเกณฑ์แห่งความสะอาดบริสุทธิ์ ซึ่งมองว่าแนวทางการปฏิบัติของพวกอโฆรีเป็นสิ่งต้องห้าม
แต่ที่ผ่านมาเขาเคยติดต่อกับกลุ่มอโฆรีหลายต่อหลายครั้ง
"แนวทางปฏิบัติของอโฆรีจะมุ่งไปที่เรื่องต้องห้ามต่าง ๆ แล้วฝ่าฝืนมัน พวกเขาไม่ยอมรับแนวคิดปกติของความดีและความเลว" ดร.มัลลินสัน กล่าว
"วิถีแห่งการบำเพ็ญจิตใจของพวกเขาเป็นการปฏิบัติที่วิปลาสและอันตราย เช่น การกินเนื้อมนุษย์ หรือแม้แต่อุจจาระของตัวเอง แต่พวกเขาเชื่อว่าการทำสิ่งที่ผู้คนทั่วไปรังเกียจเหล่านี้จะช่วยให้พวกเขาเกิดความรู้แจ้ง"
👉🏿ต้นกำเนิด
ธรรมเนียมปฏิบัติในปัจจุบันดูเหมือนจะถือกำเนิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ โดยคำว่า "อโฆรี" เพิ่งเริ่มได้รับความสนใจเมื่อช่วงศตวรรษที่ 18
พวกเขาได้ผสมผสานการปฏิบัติหลายอย่างของนักบวชฮินดู "กปาลิกะ" (Kapalika) ซึ่งชื่อมีความหมายว่า "ผู้ถือกะโหลก" โดยเป็นกลุ่มนักบวชที่ได้รับการบันทึกข้อมูลมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 7 กลุ่มกปาลิกะมีธรรมเนียมการบูชายัญมนุษย์ด้วย แต่ปัจจุบันไม่มีนิกายนี้เหลืออยู่แล้ว
👉🏿กะโหลกมนุษย์มักเป็นของติดตัวนักบวชอโฆรี
ข้อแตกต่างจากนักบวชในศาสนาฮินดูทั่วไป คือ กลุ่มอโฆรีไม่มีระบบระเบียบที่ชัดเจน ส่วนใหญ่มักอยู่อย่างสันโดษและไม่ไว้ใจผู้คนภายนอก นอกจากนี้ยังตัดขาดจากครอบครัว นักบวชอโฆรีส่วนมากมาจากครอบครัวในวรรณะล่าง
ดร.มัลลินสัน บอกว่า การทรงภูมิปัญญาของนักบวชกลุ่มนี้มีหลายระดับ บางคนมีความชาญฉลาดมาก และมีนักบวชอโฆรีคนหนึ่งเคยเป็นผู้ถวายคำปรึกษาของกษัตริย์เนปาล
👉🏿ผู้ไร้ความเกลียดชัง
นายมาโนช ทัคคาร์ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Aghori: A Biographcal Novel บอกว่า มีความเข้าใจผิดอย่างมากเกี่ยวกับนักบวชกลุ่มนี้
"อโฆรีเป็นคนเรียบง่ายมากและใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ พวกเขาไม่เรียกร้องใด ๆ
👉🏿นักบวชอโฆรีนิยมนุ่งลมห่มฟ้า
นายทัคคาร์ กล่าวว่า "พวกเขามองทุกอย่างเป็นสิ่งแสดงถึงพระผู้เป็นเจ้า พวกเขาไม่ปฏิเสธหรือเกลียดชังใครหรือสิ่งใด นั่นจึงทำให้พวกเขาไม่แยกความแตกต่างระหว่างเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่าเป็นอาหารกับเนื้อมนุษย์ พวกเขากินสิ่งที่หาได้"
การบูชายัญยังเป็นส่วนสำคัญของการบูชาพระเจ้าของพวกเขา
"พวกเขาสูบกัญชาและพยายามที่จะมีสติรู้สึกตัว แม้จะอยู่ในภาวะที่ระบบประสาทถูกกระตุ้นอย่างรุนแรงก็ตาม"
กลุ่มเล็ก ๆ
ทั้ง ดร.มัลลินสัน และ นายทัคคาร์ ต่างบอกตรงกันว่าปัจจุบันมีผู้ที่ปฏิบัติตามระบบความเชื่อแบบอโฆรีอย่างแท้จริงเพียงไม่กี่คนเท่านั้น
ทั้งสองบอกว่า พวกที่ปรากฏตัวในเทศกาลกุมภเมลา เป็นเพียงผู้แอบอ้างเป็นนักบวชอโฆรีเพื่อสร้างความบันเทิงและแสวงหาเงินจากนักท่องเที่ยว
👉🏿นักบวชอโฆรีเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ไปเยือนอินเดีย
ผู้ศรัทธาอาจให้อาหารหรือเงินกับผู้แอบอ้างเหล่านี้ แต่นายทัคคาร์ บอกว่า นักบวชอโฆรี ที่แท้จริงจะไม่สนใจในเงินทอง "พวกเขาสวดอวยพรให้ทุกคน และจะไม่สนใจกับพวกที่จะมาขอพรให้ลูกหลานหรือขอพรในการสร้างบ้านใหม่"
นักบวชอโฆรี บูชาพระศิวะ และพระแม่ศักติ เทวีของพระศิวะ พื้นที่ภาคเหนือของอินเดียอนุญาตให้เฉพาะผู้ชายเข้าเป็นนักบวชอโฆรี แต่ในแถบอ่าวเบงกอล ผู้หญิงสามารถเข้าเป็นนักบวชนิกายนี้ได้เช่นกัน โดยจะใช้ชีวิตอยู่ในบริเวณที่เผาศพและสวมเสื้อผ้า
นายทัคคาร์ กล่าวว่า "คนส่วนใหญ่กลัวความตาย สถานที่เผาศพเป็นสัญลักษณ์แห่งความตาย นี่คือจุดเริ่มต้นของอโฆรี พวกเขาต้องการท้าทายศีลธรรมจรรยาและค่านิยมของคนทั่วไป"
👉🏿รับใช้สังคม
ไม่ใช่ว่านักบวชกลุ่มนี้จะสร้างความตื่นตะลึงไปเสียทุกเรื่อง ในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา นิกายอโฆรี เริ่มเปิดรับแนวคิดกระแสหลัก และเริ่มให้การรักษาแก่ผู้ป่วยโรคเรื้อน
👉🏿ผู้นับถือศาสนาฮินดูส่วนใหญ่ไม่มีแนวคิดแบบอโฆรี
นายรอน บาร์เร็ตต์ นักมานุษยวิทยาด้านการแพทย์และวัฒนธรรมที่ทำงานในสหรัฐฯ บอกว่า อโฆรีให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มคนที่ถูกสังคมรังเกียจที่สุด
เขากล่าวว่า สถานรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อนมักตั้งขึ้นบริเวณที่เผาศพ แต่แทนที่จะต่อสู้กับความหวาดกลัวความตาย อโฆรีกลับต่อสู้กับความกลัวโรคร้าย
👉🏿นักบวชอโฆรีใช้เวลาส่วนใหญ่บริเวณที่เผาศพ
ผู้ป่วยโรคเรื้อนมักถูกครอบครัวทอดทิ้ง พวกเขาจึงต้องไปพักพิงที่สถานพยาบาลของเหล่านักบวชอโฆรีในเมืองพาราณสี ซึ่งพวกเขาจะได้รับการรักษาด้วยศาสตร์แขนงต่าง ๆ ตั้งแต่การแพทย์อายุรเวท ซึ่งเป็นการแพทย์แบบองค์รวมของอินเดีย ไปจนถึงพิธีอาบน้ำศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งการรักษาด้วยการแพทย์ตะวันตกแผนปัจจุบัน
นักบวชอโฆรีบางคนใช้โทรศัพท์มือถือและขึ้นรถโดยสารสาธารณะ หลายคนเริ่มหันมาสวมเสื้อผ้าบ้างเมื่อต้องออกไปในที่สาธารณะ
ไม่เสพสมกับคนเพศเดียวกัน
แม้จะเป็นเรื่องยากที่จะระบุจำนวนที่แน่ชัดของนักบวชอโฆรี แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญระบุว่าคนกลุ่มนี้น่าจะมีอยู่เพียงไม่กี่พันคน
สำหรับคนอินเดียส่วนใหญ่ที่แม้จะคุ้นชินกับภาพของเหล่านักบวชฮินดูนิกายต่าง ๆ แต่หากได้พบเห็นนักบวชอโฆรีเข้าก็มักเกิดความรู้สึกไม่สบายใจและความรังเกียจ
👉🏿นักบวชอโฆรีใช้เถ้าจากการเผาศพมาทาตัวหรือไม่ก็นำผ้าห่อศพมานุ่งห่ม
นักบวชอโฆรีบางคนยอมรับอย่างเปิดเผยว่าพวกเขาสมสู่กับซากศพ แต่พวกเขาก็มีสิ่งหนึ่งที่เป็นข้อห้ามอย่างเด็ดขาด
"พวกเขามีพิธีกรรมเสพสังวาสกับหญิงโสเภณี แต่พวกเขาไม่ยอมรับการร่วมประเวณีกับผู้ชายด้วยกัน" ดร.มัลลินสัน กล่าว
👉🏿💀และเมื่อนักบวชอโฆรีสิ้มลม ศพของพวกเขาจะไม่ตกไปเป็นอาหารของนักบวชอโฆรีคนอื่น แต่จะถูกนำไปฝังหรือเผาเหมือนคนทั่วไป
อ้างอิงจาก: วิกิพีเดีย BBC และ YouTube