อวสานหงสา ในหนัง หมายถึงหงสาวดี เมืองหลวงของลูกหลานบุเรงนองในยุคนั้น
#อวสานหงสา ในหนัง หมายถึงหงสาวดี เมืองหลวงของลูกหลานบุเรงนองในยุคนั้น
การเมืองระหว่างอาณาจักรในพ.ศ.นั้นมันไม่ใช่ไทย-พม่า แต่เป็นเรื่องระหว่างเมืองและผู้ครองเมือง เผ่าบ๊ะหม่าเองก็ชิงดีชิงเด่นกัน อารกันยะไข่ก็อีกวงศ์หนึ่ง ดังนั้น พม่าที่เป็น หงสาวดีก็พวก ตองอูก็พวก แปรก็พวก อังวะก็พวก
(แบบเดียวกับพ.ศ. 2112 ที่เชียงใหม่ก็พวก พิษณุโลกก็พวก และอโยธยาก็พวกนั่นแล)
ประวัติศาสตร์ฝ่ายพม่าบอกหงสาวดีถูกตองอู + ยะไข่ ชิงเผาก่อนอโยธายกไปถึง ไม่รู้ว่าประวัติศาสตร์ท่านมุ้ยบอกว่าเยี่ยงไร ว้นนี้มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งบอกว่า เมเจอร์มีรอบปฐมฤกษ์เชียงใหม่ เชิญผู้ว่าฯเปิด วีไอพีบลาๆ ตอนเย็นวันพรุ่ง (9เม.ย.) ไปมั้ย ผมยังมีโควต้าผมอยู่ ...เอิ่มมม ผมติดงานอ่ะครับ ไว้ซื้อตั๋วเองวันหลังดีกว่า ไว้ดูแล้วจะมาเล่าสู่นะครับว่าหนังมันเป็นเยี่ยงไรควรได้กี่คะแนน
หงสาวดีเป็นชื่อมอญ ปรากฏในพงศาวดารมอญเลยครับ หาอ่านได้จาก pdf ทั่วไปเพราะชาติมอญชาติไทยใกล้ชิดมาก โดยเฉพาะนับจากคองบอง ปลายๆ อยุธยาเป็นต้นมา อพยพหนีพวกพม่าเข้ามาแทบจะหมดเชื้อมอญฝั่งโน้น ... นี่ยังไม่เท่าไหร่ ราวๆ รัชกาลที่ 3 อังกฤษกำลังล่อพม่าอยู่ เป็นการศึกรอบแรก จากนั้นก็ใช้การทูตติดต่อมา อยากได้ผู้นำมอญและชาวมอญกลับไปตั้งประเทศมอญในรัฐพม่าตอนล่างที่อังกฤษยึดไว้เลยทีเดียว
แหม ! เสียดายในยุคนั้นที่การเจรจาไม่ลงตัว เพราะเป็นยุคที่ผู้คน/ไพร่ชาวเมือง เป็นกำลังหลักของทั้งการเศรษฐกิจ การทหารและการปกครอง รัชกาลที่ 3 ท่านไม่เห็นด้วยกับอังกฤษในเรื่องนี้ ดีลเลยล้มไป มิฉะนั้นอาจจะมีสาธารณรัฐมอญเกิดขึ้นเป็นประเทศเพื่อนบ้านเราหลัง 2490 ก็อาจเป็นได้
หงสาวดี..มาจากชื่อ หงส์ ...หงส์นี่เป็นศัพท์แขก บาลีสันสกฤตแต่แรกทีเดียว แปลตรงๆ ว่าเมืองหงส์ เพราะในตำนานอ้างไปถึงพระพุทธเจ้าเสด็จมาทอดพระเนตรเห็นหงส์คู่ ผู้เมียที่นั่น (ไปแถวเมืองมอญจึงมีสัญลักษณ์หงส์ขี่กันให้เห็นจนวันนี้)
มอญนี่เจริญมาก่อน บ๊ะหม่า (พม่า) นะครับ แต่ยุคทวาราวดี ตัวอักษร ศาสนาพุทธ สถาปัตยกรรมนี่มาก่อนพม่าเสียอีก แต่พม่ามีอานุภาพการทหารเหนือกว่า พระเจ้าอนิรุทธ/อโนรธา (เดอะเกรธคนแรกของพม่า) มาตีได้แล้วก็เอา Soft Power ทั้งหลายไปพุกามด้วย พุกามเลยเป็นเมืองพุทธที่สร้างเจดีย์กันเป็นพันๆ ที่เราเห็นในวารสารท่องเที่ยวนั่นไง ที่พูดนี่คือยุคราวพ.ศ. 1600-1700 ก่อนหน้าสุโขทัย อยุธยานะครับ
พม่าพุกามเจริญได้พักใหญ่ก็มาสลายไปเพราะเจงกิสข่านต่อเนื่องกุบไลข่าน เอาพวกมองโกลผสมเปอร์เชียน (ซ็อกเดียน่า) มุสลิมมากวาดแล้วก็ผนวกพุกามเข้าเป็นส่วนหนึ่งของมหาอาณาจักร เหตุเกิดราวๆ ต้นๆ 1800 เป็นช่วงก่อตัวของสุโขทัยแล้ว จุดนี้เองที่เป็นช่องว่างตั้งกระดานใหม่ให้อาณาจักรต่างๆ เช่น สุโขทัย อยุธยา อังวะ ตองอู และมอญหงสาฯ ได้เติบใหญ่ขึ้นมาภายหลัง
มอญ - - หงสาเจริญต่ออีก สามารถยืนซัดกับพม่าหลายสิบปี จนเป็นที่มาของวรรณคดี ราชาธิราช นั่นแหละครับ สมิงทั้งหลายนี่เป็นชื่อนำหน้ายศ แบบเดียวกับพระยา ขุนหลวงของไทยเรานั่นล่ะ (จำเสียงเรียกแท้ๆ ไม่ได้ขออภัย ซอมิง อะไรสักอย่าง ว้าจำมะด้าย)
มอญ เอ้ย หงสา น่ะอวสานจริงๆ แบบดับดิ้นไม่ได้ดับในยุคพระองค์ดำหรอกครับ ในครั้งนั้นเป็นการดับรอบแรก ด้วยน้ำมือของสงครามที่ทุกฝ่ายร่วมกับเผาหงสาเสียเรียบเลย ที่จริงแล้วผู้ที่ได้น้ำได้เนื้อที่สุดคือยะไข่ต่างหาก เพราะตองอูปล่อยให้ยะไข่ปล้นเมือง ได้พระพุทธรูป สิงห์เขมรที่อยุธยาได้มาและบุเรงนองเอาไปจากเราอีกทอดก็เอาไปตอนนั้น
แล้วก็มาดับดิ้นแท้จริงเอาตอนยุคอลองพระยา/คองบอง คือกลางๆ เกือบปลายอยุธยาแล้ว ที่ราชวงศ์นี้ตั้งอกตั้งใจล่อมอญอย่างจริงจัง จนมอญต้องอพยพไปพึ่งอยุธยากันแทบหมด และก็หลายรอบ
หงส์ เป็นสัญลักษณ์ของ มอญ ครับ ...ไม่ใช่พม่า
สัญลักษณ์ของพม่า คือ นกยูง ต่างหาก !
เรื่องสัญลักษณ์นี่เขียนได้ยาว สนุก และมีสีสัน (วันหลังว่างๆ จะสวมวิญญาณแดน บราวน์ เล่าต่อ - อย่าลืมทวงนะขอรับ 55)
บังเอิญที่ตอนนั้นตะเบงชะเวตี้ + บุเรงนอง + นันทบุเรง ย้ายเมืองหลวงไปหงสาวดี เพราะมอญนี่ไม่ใช่แค่ Soft Power นะ เพราะแถมมีกำลังเศรษฐกิจในตัวเอง มองในแง่เศรษฐกิจการเมือง อย่างไรเสียคิงที่สา่ยตายาวไกลควรไปอยู่แถวชายทะเลค้าขายกับฝรั่งดีกว่าอยู่ตอนบนห่างไกล ...
หงสาวดีเลยเป็นเมืองหลวงของราชวงศ์ตองอูขณะนั้น เก๊าะเลยถูกเผาซวยไป
อวสานหงสา ในรอบนี้เป็นจุดเริ่มต้นของ อวสานนันทบุเรงและลูกหลานบุเรงนองมากกว่า เพราะหลังจากนั้นการเมืองในพม่าก็ล่อกันแรงแบ่งเป็นก๊กเหล่าคนละสีคนละฝ่าย และที่สุดแล้วกลายเป็น พม่าอังวะที่มาแรงที่สุด ...
พระองค์ดำเข้าใจการเมืองพม่าดี เข้าใจดุลอำนาจในอิระวดีถ่องแท้ เลยคิดจะเสด็จไปปราบอังวะเสียก่อน แล้วก็จะม้วนเอาพม่าที่เหลือให้อยู่มือ
เสียดายที่สวรรคตกลางทางเสียก่อน ยังไม่ถึงอังวะ มิฉะนั้นประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะต้องเขียนในอีกแบบหนึ่ง - นี่พิจารณาตามหน้าเสื่อข้อมูลปัจจัย ไม่ได้เชียร์เอามัน
อ้างอิงจาก: https://bunnarothwrite.blogspot.com/2015/07/blog-post_46.html