“โรคผมร่วงเป็นหย่อม” เกิดจากอะไร
กลายเป็นเรื่องใหญ่ระดับโลกไปแล้วสำหรับเหตุการณ์ “มุกไม่ฮาพา(เมีย)เพื่อนเครียด” จนต้องมีการ “ตบมุก” กันแบบเสียงดังฟังชัด ใครจะผิดจะถูกอย่างไรนั้นคงไม่ขอพูดถึงกันในที่นี่ละ แต่คงจะขอข้ามไปถึงที่มาของ “มุกไม่ฮา” เรื่องนี้กันดีกว่า
โรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia Areata) เป็นโรคผิวหนังอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดจากการที่เส้นขนบนผิวหนังตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายหลุดร่วงออกมาจากผิวหนังส่วนนั้นและไม่งอกขึ้นใหม่ จนทำให้แลเห็นผิวหนังที่ปราศจากเส้นผมหรือขนเป็นหย่อม ๆ ซึ่งอาจจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ก็แล้วแต่ โดยอาจจะเกิดได้ทุกส่วนของร่างกาย แต่จะแลเห็นได้ชัดในบริเวณที่มีขนขึ้นหนาแน่น เช่น ผม ขนคิ้ว ขนรักแร้ ฯลฯ ซึ่งบางครั้งอาจจะมีอาการรุนแรงจนถึงขั้นผมร่วงหมดทั้งศีรษะ (Alopecia Totalis) หรืออาจจะถึงขั้นขนทุกส่วนในร่างกายร่วงทั้งหมด (Alopecia universalis)
อาการของโรคนี้จะเกิดการหลุดร่วงของผมหรือเส้นขนเป็นหย่อม ๆ โดยบางครั้งอาจมีอาการแสบหรือคันมาก่อน โดยอาจจะเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันในเวลาไม่กี่สัปดาห์ หรืออาจจะค่อยเป็นค่อยไปเป็นเวลานาน นอกจากเส้นขนแล้ว บางครั้งอาจจะมีความผิดปรกติเกี่ยวกับเล็บร่วมด้วยก็ได้
ในปัจจุบันยังไม่มีการค้นพบสาเหตุของโรคนี้ แต่เชื่อว่าอาจจะเกี่ยวข้องกับความผิดปรกติในระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายที่ทำลายรูขุมขนของร่างกาย หรืออาจจะเป็นผลมาจากโรคในส่วนอื่นของร่างกาย เช่น โรคของต่อมไทรอยด์ โรคด่างขาว โรคลูปัส โรคภูมิแพ้ ฯลฯ รวมถึงการแพ้ยาหรือสารเคมีบางอย่าง ความเครียด รวมถึงพันธุกรรมก็มีผลเช่นกัน
โรคนี้อาจจะเกิดขึ้นได้ในช่วงอายุ แต่โดยมากจะพบในผู้ใหญ่อายุ 30 ปีขึ้นไป ผู้ชายและผู้หญิงก็มีโอกาสเกิดโรคนี้ได้เท่ากัน โดยมีผู้ป่วยเป็นโรคนี้ประมาณ 2%
แม้ว่าโรคนี้จะไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกายมากนัก แต่ก็มีผลกระทบทางด้านจิตใจ โดยเฉพาะในเพศหญิงซึ่งมีนิสัยรักสวยรักงามโดยธรรมชาติ (ถ้าเป็นผู้ชายบางคนที่ไม่ห่วงเรื่องหน้าตามาก บางคนอาจจะโกนหัวล้านไปเลย) โดยปรกติแล้วถ้าหากอาการไม่รุนแรงมากก็อาจจะหายได้เองโดยมีเส้นขนขึ้นใหม่ใน 3-6 เดือน บางครั้งอาจจะมีการรักษาด้วยวิธีการอื่น เช่น การใช้ยาหรือสเตียรอยด์เพื่อยับยั้งระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่จะไปทำลายรูขุมขน ใช้ยาปลูกผม หรืออื่น ๆ แต่ไม่มีวิธีไหนที่จะสามารถรักษาได้ผลแน่นอน
เพี๊ยะ!!!!!!
🤔🤔
อ้างอิงจาก: เรื่อง https://www.pobpad.com/alopecia-areata-โรคผมร่วงเป็นหย่อม
และ https://www.si.mahidol.ac.th/siriraj_online/thai_version/Health_detail.asp?id=1301