2 นักวิชาการ มอง 14 มาตรการของกสทช. ดีลทรู-ดีแทค อาจสร้างปัญหาให้ผู้บริโภคบางเงื่อนไข
2 นักวิชาการ มอง 14 มาตรการของกสทช.
ดีลทรู-ดีแทค บางเงื่อนไขอาจสร้างปัญหาแก่ผู้บริโภค
2 นักวิชาการตั้งข้อสังเกตุใน 14 มาตรการของกสทช. ที่กำหนดไว้เป็นข้อบังคับเบื้องต้นให้กับดีลทรู-ดีแทค การแสดงความเห็นของอาจารย์สืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิชาการโทรคมนาคม มองว่า เงื่อนไขบางข้ออาจจะเป็นปัญหาหรือสร้างปัญหามากกว่าส่งเสริมเรื่องการให้บริการที่ดีกับลูกค้าและประชาชน ถ้าเกิดออกมาตรการแบบนี้ขึ้นมา จึงอยากแนะนำให้ กสทช. พิจารณาอย่างรอบคอบ ยกตัวอย่าง เช่น
- การกำหนดให้มีการดึงคลื่นบางส่วนกลับมาจากบริษัทควบรวม!!
ประเด็นนี้ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า คลื่นที่เอกชนถือครองในปัจจุบันเกิดจากการที่ กสทช. จัดการประมูล และเอกชนที่สนใจก็ประมูลเพื่อนำไปให้บริการลูกค้าของตน จะมากจะน้อยแต่ละรายถือครองตามกำลังทรัพย์ที่ต้องไปประมูล และฐานลูกค้าที่ตนเองมี
ดังนั้นหากเกิดการควบรวม เมื่อลูกค้าไปกองรวมกันเป็นบริษัทเดียว แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ความต้องการในการใช้ “คลื่น” เพื่อไปให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพจะลดน้อยลง และหากจะกังวลเรื่อง spectrum cap ของบริษัทหลังควบรวมต่อให้เอาคลื่นทั้งสองรายที่ควบรวมมารวมกันก็ยังน้อยกว่ารายอื่น
อีกทั้งหากมีการเรียกคืนคลื่นยังนึกภาพไม่ออกว่าการเรียกชำระเงินค่าคลื่นที่ตอนนี้แต่ละรายจ่ายเป็นงวดๆ อยู่ หรือที่จ่ายไปแล้วจะตัดทางบัญชี หรือจะต้องคืนกันยังไง ก็ท่านไปเรียกคลื่นเค้าคืนมาซะแล้ว
- การพิจารณาห้ามลดจำนวนสถานีฐานหรือห้ามร่วมกันใช้งานเสาสัญญาณร่วมกัน!!
อันนี้ฟังแล้วยิ่งขัดทั้งหลักความจริงและขัดใจ ผมยกตัวอย่างแบบนี้ สมมุติรายนึงมีเสา 50,000 สถานี อีกรายมี 45,000 สถานีก่อนควบรวม
ซึ่งแน่นอนพื้นที่บางส่วนมันทับซ้อนกันอยู่แล้ว กสทช. เองก็เคยพูดเรื่องการใช้ Intra. ร่วมกัน ทั้ง TowerCo หรืออื่นๆ การพิจารณาไม่ให้ยุบรวมส่วนที่ใช้งานร่วมกันได้ดูจะขัดทั้งหลักวิศวกรรมและการบริหารจัดการทรัพยากรโทรคมฯ ไม่มีประโยชน์ที่จุดๆ เดียวเราต้องคงเสาไว้ 3 ค่าย 3 เสา ถ้าจุดๆ นั้นมีทรัพยากรให้ร่วมใช้กันได้ แต่ที่ท่านควรทำหรือควรกำหนด คือการให้เอกชนที่ควบรวมกันเอาพลังของการควบรวมกันแล้วไปขยายพื้นที่ให้บริการให้ครอบคลุมมีประสิทธิภาพต่างหาก แบบนั้นคือควรทำ!! ไม่ใช่ห้ามใช้เสาร่วม สถานีร่วม
อีกหนึ่งความคิดเห็นของ ผศ.ดร.พัชรินทร์ คำสิงห์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมการบิน วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) แสดงความเห็นแจง 2 เหตุผล หนุนควบรวมทรู-ดีแทค ระบุประกาศ กสทช.ปี 61 ไม่ต้องขออนุญาตจาก กสทช. เพียงรายงานให้ทราบเท่านั้น พร้อมให้ กสทช.ดำเนินการกำหนดเงื่อนไขเพื่อรักษาสภาวะการแข่งขันในตลาดและดูแลไม่ให้ผู้บริโภคเสียประโยชน์
1.ยิ่งควบรวมยิ่งช่วยให้ป้องกันการผูกขาด ต้องเข้าใจก่อนว่าธุรกิจโทรคมนาคมเป็นธุรกิจที่มีต้นทุนสูง ทั้งค่าประมูลคลื่นความถี่ ทั้งการลงทุนด้านโครงข่ายสัญญาณต่าง ๆ ที่ถือเป็นเหตุผลหลักที่จำกัดผู้เล่นในตลาด
จึงไม่แปลกใจที่ทุกวันนี้ DTAC ไม่ค่อยลงทุนเรื่องโครงสร้างเทคโนโลยี 5G เพิ่มซักเท่าไหร่ แต่ถึงอย่างนั้นผลประกอบการของ DTAC ก็ยังไปได้ดี เพราะแนวโน้มการใช้ระบบสื่อสารมีมากขึ้นในทุกอุตสาหกรรม แต่ต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีมันก้าวไปไวเกินกว่าจะหยุดอยู่กับที่ได้
ในขณะที่ Operator เจ้าอื่นทำการขยายโครงข่าย และหาก DTAC ยังลุยเดี่ยวโดยไม่เร่งมือกับเรื่องเทคโนโลยี ก็เท่ากับเริ่มถอยหลังเข้าคลองไปเรื่อยๆ การควบรวมกับ True จึงเป็นทางออกที่สมเหตุสมผล การรวมกันจะทำให้ True-DTAC ลดต้นทุนด้านโครงสร้างเครือข่ายที่ใช้ร่วมกัน รวมทั้ง ผนึกกำลังในการเร่งสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ความน่ากลัวที่ไม่ควรมองข้าม คือ หากไม่ส่งเสริมให้เกิดการควบรวม เท่ากับการหยุด หรือชะลอการขยายการลงทุนเพิ่มในโครงสร้างเทคโนโลยี 5G ของผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่มีอยู่ไม่กี่เจ้าในเมืองไทย
ซึ่งอาจจะได้เห็นการผูกขาดตลาดอย่างที่หลายคนกลัวว่าจะเกิดขึ้นจริง เพราะตลาด 5G จะตกอยู่กับ Operator บางรายเท่านั้น นอกจากนั้นการควบรวม True-DTAC และการ เห็นช่องทางการตลาดที่ชัดเจนก็ย่อมลงเม็ดเงินลงทุนอย่างต่อเนื่องซึ่งจะส่งผลต่อ GDP ของประเทศ
ดังนั้น การควบรวมนอกจากจะหมายถึงการส่งเสริมการขยายธุรกิจของผู้ประกอบการ ยังหมายถึงการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในด้านคุณภาพของเครือข่าย และมีผลบวกต่อเศรษฐกิจของประเทศ
2.การควบรวมจะทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ เมื่อ True ควบรวมกับ DTAC จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ทำให้ลูกค้าได้ประโยชน์จากค่าบริการที่ลดลง ถึงแม้จำนวนลูกค้าที่มาใช้บริการจะเพิ่มขึ้น แต่ต้นทุนด้านโครงสร้างเท่าเดิม
เพราะเทคโนโลยี 5G สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ได้จำนวนมหาศาล ทำให้ลูกค้าโดยเฉพาะ DTAC จะได้มีโอกาสใช้บริการ 5G ที่ดีขึ้น และครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น การควบรวมของทั้ง 2 ค่ายยังทำให้ได้คลื่นสัญญาณที่ครบทุกย่านความถี่ทำให้ลูกค้าสามารถได้รับบริการที่ครอบคลุมครบถ้วน และแน่นอนว่าด้วยเงินลงทุนที่มากขึ้นจากทั้ง True และ DTAC ต้องปรับตัวเข้าสู่การเป็น Tech Company เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
นอกจากลูกค้าจะได้รับบริการที่ดีขึ้น การสร้างสรรนวัตกรรมและบริการดิจิทัลต่างๆ ย่อมดีขึ้นด้วย ซึ่งประโยชน์ก็จะตกกับผู้บริโภค หลังจากควบรวมแล้ว สิ่งสำคัญที่สุด คือ มาตรการควบคุมของ กสทช. สิ่งที่จะช่วยรักษาผลประโยชน์ให้กับประชาชน ซึ่งที่ผ่านมา กสทช. ทำหน้าที่นี้ได้เป็นอย่างดี เราจะเห็นได้จากเศรษฐกิจปัจจุบันที่ราคาสินค้าและบริการอื่นๆ ปรับสูงขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ราคาโปรโมชันมือถือที่ออกมาอย่างหลากหลายกลับมีราคาลดลง ดังนั้น การเปิดโอกาสให้เกิดการควบรวมของบริษัทโทรคมนาคมไทย ผลประโยชน์ที่ได้รับอย่างมากมายน่าจะตกกับประเทศชาติและประชาชน
--------------------------------------------