ย้อนอดีตด้วยภาพ..อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
ย้อนอดีตด้วยภาพ 🙏🙏
อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
เป็นอนุสาวรีย์ในกรุงเทพมหานคร โดยรอบเป็นวงเวียนอยู่กึ่งกลางระหว่างถนนพหลโยธิน ถนนราชวิถี และถนนพญาไท โดยตั้งอยู่ที่ กม.4+700 ของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ซึ่ง กม.0+000 ได้เริ่มนับมาจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินกลาง โดยที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมินี้เป็นจุดเริ่มต้นของการเรียกชื่อถนนพหลโยธิน
อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิสร้างขึ้นเพื่อเทิดทูนวีรกรรมของทหาร ตำรวจ และพลเรือนที่เสียชีวิตไปในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส เรื่องการปรับปรุงพรมแดนไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศส ซึ่งในครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิต 59 คน ทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือน โดยพลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นผู้วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2484 และจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นผู้ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2485 สถาปนิกผู้ออกแบบอนุสาวรีย์คือ หม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล
ก่อนที่จะมีการสร้างวงเวียนอนุสาวรีย์ บริเวณจุดตัดของถนนพญาไท ถนนราชวิถี และถนนพหลโยธินนี้ มีชื่อเรียกว่า สี่แยกสนามเป้า
# ความหมาย
การออกแบบอนุสาวรีย์ของหม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล มีแรงบันดาลใจสี่ประการ คือ
1. ปฏิบัติการของกองทัพทั้ง 5
2. ปฏิบัติการอย่างกล้าหาญของกำลังพลโดยเฉพาะ
3. อาวุธที่ทหารใช้สู้รบ
4. เหตุการณ์ที่สำคัญที่ต้องเปิดการสู้รบ
ประติมากรรมทหาร 5 เหล่า หม่อมหลวงปุ่มใช้ดาบปลายปืนซึ่งเป็นอาวุธประจำกายทหาร โดยใช้ดาบปลายปืนห้าเล่มรวมกัน จัดตั้งเป็นกลีบแบบลูกมะเฟือง ปลายดาบชี้ขึ้นบน ส่วนคมของดาบหันออก ก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กประดับหินอ่อน มีความสูงประมาณ 50 เมตร ดาบปลายปืนส่วนด้ามตั้งเหนือเพดานห้องโถงใหญ่ ซึ่งใช้เก็บกระสุนปืนใหญ่บรรจุอัฐิทหารที่เสียชีวิตในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ด้านนอกตอนโคนดาบปลายปืนมีรูปปั้นหล่อทองแดงขนาดสองเท่าคนธรรมดาของนักรบ 5 เหล่า คือ ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และพลเรือน
ศิลปินผู้ปั้นรูปเหล่านี้เป็นลูกศิษย์ของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เช่น สิทธิเดช แสงหิรัญ, อนุจิตร แสงเดือน, พิมาน มูลประสุข, แช่ม ขาวมีชื่อ ภายใต้การควบคุมของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ด้านนอกของผนังห้องโถงเป็นแผ่นทองแดงจารึกนามผู้เสียชีวิต รายนามผู้ที่ได้รับการจารึกไว้มีทั้งสิ้น 160 นาย เป็นทหารบก 94 นาย ทหารเรือ 41 นาย ทหารอากาศ 13 นาย และตำรวจสนาม 12 นาย จนถึงปัจจุบันแผ่นทองแดงจารึกรายนามผู้เสียชีวิตและผู้สละชีพเพื่อชาติจากสงครามต่าง ๆ ตั้งแต่ พ.ศ. 2483 – พ.ศ. 2497 รวมทั้งสิ้น 801 นาย
ขอขอบพระคุณเจ้าของภาพ / ข้อมูล
Cr. หอจดหมายแห่งชาติ
เรียบเรียงโดย : Manasicha Sooksopon
อ้างอิงจาก: หอจดหมายแห่งชาติ