ไขข้อสงสัย ฟันล้มได้ไหม หากไม่ได้จัดฟัน
ไขข้อสงสัย ฟันล้มได้ไหม หากไม่ได้จัดฟัน
สำหรับใครที่เคยจัดฟันหรือกำลังจัดฟันอยู่นั้น อาจจะเคยได้ยินมาว่าหากไม่ได้ใส่รีเทนเนอร์ไปนาน ๆ ฟันของเราก็จะล้มได้ จนนำไปสู่การเริ่มต้นจัดฟันใหม่ แต่รู้หรือไม่คะ ว่าฟันล้มไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในคนที่จัดฟันเท่านั้น แต่คนธรรมดาทั่วไปก็สามารถมีภาวะฟันล้มได้เช่นกัน เราจะไปเรียนรู้เรื่องนี้ด้วยกันค่ะ
ฟันล้มเป็นอย่างไร
ฟันล้ม คือสภาพฟันที่เกิดจากการเคลื่อนที่ของฟันเอียงไปด้านใดด้านหนึ่งเพื่อหาที่ยึดเกาะ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับฟันที่อยู่ใกล้กับช่องว่างระหว่างฟันที่ถูกถอนและปล่อยไว้นานโดยไม่ได้ใส่ฟันปลอมแทนที่หรือทำการรักษา
ฟันล้มเกิดจากอะไรได้บ้าง
ฟันล้มอาจดูไกลตัวสำหรับคนที่ไม่เคยจัดฟันมาก่อน แต่ความจริงแล้วทุกคนสามารถพบปัญหานี้ได้ค่ะ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ฟันล้มมีดังต่อไปนี้
- ถอดอุปกรณ์จัดฟันแล้วไม่ได้ใส่รีเทนเนอร์หรือเครื่องมือป้องกันฟันล้ม
- อายุมากขึ้นทำให้ฟันเกิดการเคลื่อนตัว
- ความผิดปกติของขากรรไกรและสภาพฟันตั้งแต่กำเนิด
- ถอดอุปกรณ์จัดฟันแล้วไม่ได้ใส่รีเทนเนอร์หรือเครื่องมือป้องกันฟันล้ม
ดังนั้น ปัญหาฟันล้มไม่ได้เกิดจากการจัดฟันเสร็จแต่ไม่ได้ใส่รีเทนเนอร์เพื่อคงสภาพฟันเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายสาเหตุที่ทำให้ฟันล้มหรือฟันเอียงได้อีกด้วย
สัญญาณเตือนว่าฟันของคุณกำลังจะล้ม
สำหรับใครที่กลัวว่าฟันของตัวเองจะล้ม และสงสัยว่าเราสามารถสังเกตได้เองก่อนไหมว่าฟันของเรามีทีท่าว่าจะล้ม แน่นอนค่ะ เราสามารถสามารถสังเกตจากสัญญาณเตือนได้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วฟันล้ม จะสังเกตได้จากตำแหน่งฟันที่ค่อย ๆ เริ่มเปลี่ยนไปจากจุดเดิมในลักษณะล้มหรือเอียง เริ่มมีอาการปวดและเจ็บ หากรู้สึกว่าฟันเริ่มมีปัญหารีบพบทันแพทย์เพื่อตรวจหาปัญหาที่เกิดขึ้นภายในช่องปากให้เร็วที่สุด
จะเกิดอะไรขึ้นหากไม่รักษาอาการฟันล้ม
หากปล่อยไว้ไม่ทำการรักษาฟันล้ม นอกจากฟันจะไม่เรียงตัวสวยงามแล้ว การทิ้งไว้นาน ๆ อนาคตอาจจะเกิดปัญหาโรคฟันต่าง ๆ ตามมาอีกด้วย เช่น โรคปริทันต์ โรคเหงือกอักเสบ มีหนอง ฯลฯ ซึ่งอาจส่งผลมีโอกาสเกิดการสูญเสียฟัน อาจเกิดปัญหาในการเคี้ยวอาหาร คอฟันสึกง่าย เพราะแรงบดเคี้ยวจะไม่ได้ลงขนานกับแกนตามยาวของฟัน รวมไปถึงเกิดปัญหาการสบกระแทกของฟันด้วย ทั้งนี้ ปัญหาฟันล้มมักจะพบบ่อยกับผู้ที่มีฟันหลอหรือฟันโล่ง เนื่องจากฟันที่อยู่บริเวณข้าง ๆ ช่องว่างจะเอนไปด้านใดด้านหนึ่งเพื่อหาที่ยึดเกาะ หากฟันหลอในบริเวณฟันล่างจะส่งผลให้ฟัน และรากฟันด้านบนตรงข้ามกับช่องว่างห้อยย้อยลงมาซึ่งอาจทำให้สูญเสียฟันด้านบนด้วย
วิธีป้องกันฟันล้ม
เชื่อว่าไม่มีใครอยากฟันล้มหรอกจริงไหมคะ นอกจากฟันจะเรียงตัวไม่สวย ขาดความมั่นใจเวลาพูดหรือยิงฟันแล้ว ยังต้องเสียเวลาในการรักษาอีกด้วย ดังนั้นใครไม่อยากฟันล้ม สามารถป้องกันได้ดังนี้
- สำหรับผู้ที่เพิ่งจัดฟันเสร็จ การใส่รีเทนเนอร์ตามที่ทันตแพทย์สั่ง เป็นสิ่งที่ต้องทำตามอย่างเคร่งครัด เพราะอุปกรณ์ชนิดนี้สามารถป้องกันไม่ให้ฟันล้มได้ ดังนั้น หากไม่อยากต้องจัดฟันใหม่ จึงควรใส่อย่างสม่ำเสมอจะได้
- ดูแลสุขภาพฟันเป็นประจำ ทำความสะอาดช่องปากให้ดีเป็นวิธีเบื้องต้นที่สามารถป้องกัน ฟันล้มได้ลดการเกิดปัญหาที่จะต้องสูญเสียฟัน ซึ่งอาจทำให้เกิดช่องว่างภายในปาก เช่น ฟันผุ เป็นต้น
- ไปพบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน สามารถช่วยเช็กได้ว่าสุขภาพฟันและช่องปากมีปัญหาอะไรหรือเปล่า
จะได้แก้ไขตั้งแต่เนิ่น ๆ
ฉะนั้นแล้ว เราก็ได้ทราบกันแล้วนะคะ ว่าฟันล้มไม่ได้เกิดเฉพาะกับคนที่เคยจัดฟันมาแล้วเท่านั้น สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายกับทุกคน หากใครรู้ตัวว่ากำลังมีปัญหาฟันล้ม แนะนำให้รีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อที่จะทำการรักษาก่อนที่จะนำไปสู่การสูญเสียฟันได้ภายหลัง