ผู้บริโภคได้ประโยชน์อะไรจากดีล True-Dtac
การรวมธุรกิจระหว่างทรูกับดีแทค ถือเป็นการร่วมธุรกิจแบบเท่าเทียมกัน ไม่ใช่ฝ่ายใดซื้ออีกฝ่ายหนึ่งอย่างที่มีการเข้าใจผิด แต่เป็นความร่วมมือกันเดินหน้าสู่การปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจ ซึ่งก็ไม่แตกต่างจากผู้ประกอบการรายอื่นๆในอุตสาหกรรม ที่จะต้องรองรับการแข่งขันในธุรกิจโทรคมนาคมที่มีการแข่งขันหนักหน่วงต่อเนื่อง การขยายโครงข่าย รวมถึงลงทุนเรื่องเทคโนโลยี และบริการต่าง ๆ เป็นเรื่องจำเป็น ดังนั้นเมื่อร่วมมือกัน เงินลงทุนย่อมมากขึ้น สามารถสร้างประโยชน์ให้กับผู้บริโภคด้วยบริการที่ดีขึ้นได้
เมื่อ 22 ก.ค. 2565 ในงานงานแถลงข่าวร่วมกันระหว่างทรูและดีแทค นายศุภชัย เจียรวนนท์ ได้กล่าวย้ำว่าโทรคมนาคมไม่ได้แข่งกับโทรคมนาคมด้วยกัน แต่แข่งกับผู้ประกอบการระดับโลกอย่าง OTT ถ้าดูรายได้อุตสาหกรรมมือถือใน 2-3 ปีที่ผ่านมาจะพบว่าลดลงทุกราย แต่การลงทุนสูงขึ้น เพราะต้องเปลี่ยนเทคโนโลยีจาก 4G 5G และอื่นๆ รายได้จากบริการเสียงตกรุนแรงต่อเนื่องทุกปี ทำให้สนามการแข่งเปลี่ยนไปมาก
ขณะที่ศักยภาพการแข่งขันของทั้งสององค์กรก็ลดลงไปเรื่อยๆ ทั้งคู่ก่อหนี้สูงขึ้นจากการลงทุนและเพื่อส่งเงินให้ภาครัฐ ทำให้ไม่สามารถลงทุนได้เต็มที่ การร่วมมือกันจึงทำให้ทั้งคู่แข็งแรงขึ้น และบริษัทยินดีที่จะร่วมมือกับ กสทช.ในการกำหนดมาตรการเพื่อดูแลผลประโยชน์ของผู้บริโภค เป็นการควบรวมที่ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันได้ดีขึ้น และอาจทำให้ดัชนีการกระจุกตัวตามหลักเศรษฐศาสตร์ (HHI) มีโอกาสลดต่ำลงได้เพราะความร่วมมือทำให้มีการแชร์ใช้โครงข่ายร่วมกัน ทำให้คุณภาพการบริการดีขึ้น
นอกจากประโยชน์ที่จะเกิดโดยธรรมชาติของลูกค้าทรูและดีแทคแล้ว ยังมีการเชื่อมโยงคลื่นความถี่ และทรัพยากรโครงข่ายต่างๆ การพัฒนาคุณภาพบริการจะดีขึ้น เพราะข้อจำกัดด้านการลงทุนของทั้งคู่จะหายไป โดยบริษัทยินดีทำงานร่วมกับกสทช. เพื่อตอบสนองเงื่อนไขต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศและประชาชนผู้ให้บริการ
นับว่าใกล้เข้าสู่โค้งสุดท้ายของการพิจารณาจาก กสทช. ไม่ว่าจะออกมารูปแบบไหน ก็ขอให้เป็นธรรมกับผู้ประกอบการทุกราย ยึดกฎระเบียบเดียวกัน ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยนั้นไม่สามารถย่ำอยู่กับที่ได้ การปรับตัวต้องเกิดขึ้นเพื่อให้ทันโลกทันยุคสมัยที่ก้าวล้ำเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา