อว.เดินหน้ายกระดับทักษะแรงงานไทย เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต (Lift Skill Thai Labor Force)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เดินหน้ายกระดับทักษะแรงงานไทย เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต (Lift Skill Thai Labor Force)
ศาสตราจารย์ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้เปิดเผยว่า จากวิกฤติต่าง ๆ ทั่วโลกในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ด้านสังคม เทคโนโลยี และเศรษฐกิจของโลก ส่งผลให้ประเทศไทยต้องเร่งสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจและสังคม โดยประเทศไทยกำลังมุ่งมั่นและผลักดันนโยบายเพื่อเป้าหมายการเป็นไทยแลนด์ 4.0 ประกอบด้วยปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะความสามารถที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน อันเกิดมาจากระบบการศึกษากับการฝึกอบรมด้านเทคนิควิชาชีพ รวมถึงระบบการฝึกอบรม ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่ส่งผลต่อแนวโน้มการเติบโตในอนาคตและความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศไทย
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จึงได้ร่วมมือกับ บริษัท เมอร์เซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด พัฒนาโครงการ “การยกระดับทักษะแรงงานไทย เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต (Lift Skill Thai Labor Force Project)” โดยใช้เวลาในการดำเนินงานประมาณสองปี แบ่งการดำเนินการออกเป็นสามระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 การวิเคราะห์ความต้องการความสามารถของแรงงานในอนาคต (Demand Analysis) ระยะที่ 2 แผนงานการพัฒนาความสามารถหรือการพัฒนาหลักสูตร (Capability Development Program/Curriculum และ ระยะที่ 3 การดำเนินการและการถอดบทเรียน (Execution and Lesson Learn) โดยมีการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเชิงลึกของเมอร์เซอร์ และความเชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษา เพื่อพัฒนาแผนงานให้กับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการส่งเสริมระบบการศึกษาขั้นสูงและการพัฒนาศักยภาพของแรงงานไทยในอนาคต
คุณจักรชัย บุญยะวัตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารระดับสูงสุด ของบริษัท เมอร์เซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ระยะแรกของโครงการได้ดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม 2565 โดยเมอร์เซอร์ได้วิเคราะห์ความต้องการความสามารถของแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรม S-Curver ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูงและมีแนวโน้มการเติบโตในระยะ 5-10 ปีข้างหน้าตามนโยบายของรัฐบาล เช่น อุตสาหกรรมดิจิทัลอุตสาหกรรมพลังงานชีวภาพและชีวเคมี อุตสาหกรรมยานยนตร์แห่งอนาคต เป็นต้น โดยเมอร์เซอร์ได้ดำเนินการเก็บข้อมูลของภาคอุตสาหกรรมโดยตรงผ่านการสัมภาษณ์ผู้บริหารและตัวแทนบริษัท ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้น จำนวน 67 บริษัท จาก 5 อุตสาหกรรม พบว่านอกเหนือจากทักษะทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น ด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และวิทยาศาสตร์ข้อมูลแรงงานปัจจุบันในประเทศไทยยังขาดทักษะทางสังคม (Soft Skill) เช่น กรอบความคิดแบบเน้นการเติบโต (Growth Mindset) และความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง (Adaptability) สิ่งนี้เป็นอุปสรรคต่อธุรกิจในการคว้าโอกาสใหม่ ๆ ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่โลกที่เน้นดิจิทัลและเทคโนโลยี รวมถึงการเติบโตอย่างยั่งยืน
ระยะที่สองของโครงการนี้กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จะใช้ประโยชน์จากข้อมูลเชิงลึกในระยะแรกเพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาได้มีส่วนร่วมในการเริ่มต้นโครงการนำร่องการพัฒนาหลักสูตรสำหรับนักศึกษา และการผลิตกำลังแรงงานได้ตรงกับความต้องการทักษะของบริษัทภาคเอกชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการ
ระยะที่สามซึ่งเป็นขั้นสุดท้ายของโครงการ กระทรวงกาอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จะติดตามการดำเนินการของโครงการเพื่อให้แน่ใจว่าการดำเนินการสามารถก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อระบบการอุดมศึกษา โดยการสร้างเส้นทางอาชีพที่มั่นคงสำหรับบัณฑิตใหม่ในระดับปริญญาตรีเพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างแท้จริง
นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี หัวหน้ากลุ่มภารกิจบริหารยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า “ระบบการศึกษาของประเทศไทยต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคดิจิทัลและเทคโนโลยี เพราะหลักสูตรการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของประเทศยังไม่ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและของประเทศในอนาคต ดังนั้นวัตถุประสงค์หลักของโครงการ Lift Skill Thai Labor Force คื การส่งเสริมและสนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษาสามารถสร้างหลักสูตรใหม่ ๆ หรือปรับหลักสูตรเดิมที่มีอยู่แล้ว ให้ตอบสนองความต้องการ เพื่อช่วยยกระดับทักษะแรงงานไทยให้ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต”