ประกันสังคม สิทธิทำฟันฟรี 900 บาทต่อปี คืออะไร ใครบ้างที่ใช้สิทธิได้ และเบิกอะไรได้บ้าง?!
ประกันสังคม สิทธิทำฟันฟรี 900 บาทต่อปี คืออะไร ใครบ้างที่ใช้สิทธิได้ และเบิกอะไรได้บ้าง?!
ประกันสังคม สิทธิทันตกรรม สิทธิประโยชน์ที่ทุกคนควรรู้ ทำอะไรได้บ้าง เบิกได้เท่าไหร่ต่อปี ต้องสำรองจ่ายก่อนหรือไม่ มาหาคำตอบกันได้จากบทความนี้กันได้เลยนะคะ
ใครที่จ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคม เป็นประจำในทุก ๆเดือนอยู่แล้วละก็ เคยทราบไหมว่า ประกันสังคมมีสิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรมไว้สำหรับดูแลผู้ประกันตนอย่างเราด้วยนะคะ ซึ่งบางคนอาจจะมองข้ามไป เพราะมองว่าเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อย จึงไม่ได้ใส่ใจกับสิทธิประโยชน์ที่ตัวเองมี ไม่ว่าอย่างไร เราก็ต้องไม่ลืมว่าจำนวนเงินที่ผู้ประกันตนที่มีสิทธิทางทันตกรรม โดนหักไปทุกเดือนนั้น ส่วนหนึ่งนั้นก็เพื่อเป็นสวัสดิการทางด้านทันตกรรม เพื่อให้เราเข้าถึงบริการสุขภาพที่สะดวกและมีคุณภาพที่ดียิ่งขึ้น เพราะอย่าลืมว่าแม้ปัญหาสุขภาพช่องปากและฟัน อาจมองเป็นเรื่องเล็กๆ แต่เมื่อเกิดขึ้นกับใครแล้ว ก็เป็นปัญหาที่กวนใจได้ไม่น้อยเลย แต่ถ้าเราไปใช้สิทธิ์ประกันสังคม ทันตกรรมทุกปี เกิดเจอปัญหาสุขภาพฟันขึ้นมาก็จะได้รีบดำเนินการรักษาแต่เนิ่น ๆ ไม่ต้องรอจนเป็นเยอะแล้ว ค่อยมาทำการรักษา ซึ่งนอกจากจะเจ็บตัวแล้วยังไม่พอ ยังต้องเสียตังค์ค่ารักษาจำนวนมากโดยไม่จำเป็น ดังนั้น เรามาดูกันดีกว่าว่า สิทธิประโยชน์ด้านทำฟันของประกันสังคมนั้น มีอะไรบ้าง แล้วเราจะเบิกได้เท่าไหร่ รู้แล้วจะได้รีบไปใช้สิทธิ์ รีบรักษาผลประโยชน์ของตัวเองกันค่ะ
ประกันสังคม สิทธิทำฟัน ใครบ้างที่มีสิทธิ?!
รู้หรือไม่ว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จ่ายเงินสมทบประกันสังคมจะได้รับสิทธิทำฟันประกันสังคมเลย แต่ผู้ประกันตนที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ประกันสังคม สิทธิทันตกรรมนั้น จะต้องเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และ 39 เท่านั้น ไม่รวมผู้ประกันตนตามมาตรา 40 และที่สำคัญคือ จะต้องได้มีการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมครบแล้ว 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนเดือนที่เข้ารับบริการทำฟัน โดยจะเป็นช่วงเดือนไหนก็ได้ ส่วนกรณีที่เราส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมครบ 3 เดือนแล้ว แต่ได้ลาออกจากที่ทำงาน ยังสามารถเข้ารับบริการทำฟันได้ เพราะสิทธิทำฟัน ประกันสังคมจะยังคงคุ้มครองต่ออีก 6 เดือน จากวันที่ลาออกนะคะ
ประกันสังคม ทำฟัน ทำอะไรได้บ้าง?
ณ เวลานี้ประกันสังคมให้สิทธิผู้ประกันตน สามารถเข้ารับการรักษาสิทธิทำฟันประกันสังคมได้ทั้งการขูดหินปูน การอุดฟัน การถอนฟัน และการผ่าฟันคุด ในวงเงินรวมไม่เกิน 900 บาท/ปี โดยไม่ได้มีการจำกัดจำนวนครั้งที่ทำการรักษาแต่อย่างไร ทั้งนี้หากค่ารักษาในการทำฟันสูงกว่า 900 บาท ผู้ประกันตนจำเป็นจะต้องจ่ายเงินส่วนเกินตรงนั้นเองค่ะ
ทำฟันประกันสังคม เบิกค่าทำฟันปลอมได้หรือไม่?
นอกจากประกันสังคมจะให้สิทธิประกันสังคม ทำฟันในการขูดหินปูน อุดฟัน ถอนฟัน และการถอนฟันคุดหรือการผ่าฟันคุดแล้ว หากผู้ประกันตนมีการใส่ฟันปลอมจะมีสิทธิสามารถเบิกค่าทำฟันปลอมได้ ภายในเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ใส่ฟันปลอมนั้น โดยสามารถแยกเป็น 2 กรณี ดังต่อไปนี้ ค่ะ
1. ใส่ฟันปลอมชนิดถอดได้บางส่วน
1.1 จำนวน 1-5 ซี่ เบิกได้เท่าที่จ่ายในวงเงินไม่เกิน 1,300 บาท
1.2 มากกว่า 5 ซี่ สามารถเบิกได้เท่าที่จ่ายจริงในวงเงินไม่เกิน 1,500 บาท
2. ทำฟันปลอมชนิดถอดได้ทั้งปาก
2.1 ฟันปลอมชนิดถอดได้ทั้งปากบนหรือล่าง เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงในวงเงินไม่เกิน 2,400 บาท ในระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ใส่ฟันเทียม (ฟันปลอม)
2.2 ฟันปลอมชนิดถอดได้ทั้งปากบนและล่าง สามารถเบิกได้เท่าที่จ่ายจริงในวงเงินไม่เกิน 4,400 บาท ภายในระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ใส่ฟันปลอม (ฟันปลอม)
ทำฟันประกันสังคม ทำฟันได้ฟรี 900 บาทต่อปี ไม่ต้องสำรองจ่าย!!
หลายๆคนอาจจะยังไม่รู้ว่า ในตอนนี้ถ้าเราจะไปใช้สิทธิทำฟันประกันสังคมไม่ว่าจะเป็น การขูดหินปูน การอุดฟัน การถอนฟัน หรือการผ่าฟันคุด โดยไม่จำเป็นต้องสำรองจ่ายเงินเหมือนสมัยก่อนแล้ว ซึ่งได้เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นมา ถือเป็นการช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกันตน ไม่ต้องสำรองจ่ายเงินค่ารักษาในการทำฟันไปก่อน และนำเอกสารกลับไปเบิกกับสำนักงานประกันสังคมในเขตพื้นที่ในภายหลัง โดยหากเป็นการเข้ารับบริการในสถานพยาบาลของรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่สถานพยาบาลและคลินิกเอกชนที่เป็นคู่สัญญากับสำนักงานประกันสังคม ได้เข้าร่วมโครงทำฟันประกันสังคม โดยไม่ต้องสำรองจ่ายมาแล้วมากกว่า 1,000 แห่ง ที่สามารถใช้สิทธิประกันสังคมทำฟันได้โดยเราไม่ต้องสำรองจ่าย ซึ่งเราสามารถสังเกตได้ว่าสถานพยาบาลแห่งไหนที่ไม่ต้องสำรองจ่าย ได้จากป้ายสติ๊กเกอร์ที่ระบุว่า “สถานพยาบาลแห่งนี้ให้บริการผู้ประกันตนกรณีทันตกรรม ทำฟัน ไม่ต้องสำรองจ่าย” และอย่าลืมพกบัตรประชาชนมาด้วยสำหรับการยืนยันใช้สิทธิทำฟัน ประกันสังคมด้วยนะคะ
แต่ถ้าเป็นกรณีฟันปลอม ไม่ว่าจะเป็นแบบถอดได้บางส่วน หรือถอดได้ทั้งปาก ยังคงต้องสำรองจ่ายไปก่อนเหมือนเดิม แล้วถึงนำหลักฐานไปยื่นเบิกเงินกับสำนักงานประกันสังคมในเขตพื้นที่ที่ให้บริการภายหลังค่ะ
เบิกค่ารักษาทำฟันประกันสังคม สิทธิทันตกรรม ได้ยังไงบ้าง?
สำหรับการเข้ารับบริการทันตกรรมกับสถานพยาบาลที่ต้องสำรองจ่ายล่วงหน้าไปก่อน หรือเป็นการทำฟันปลอม ผู้ประกันตนสามารถที่จะยื่นขอเบิกค่าทำฟันย้อนหลังได้ที่ สำนักงานประกันสังคมในเขตพื้นที่ที่ให้บริการในกรุงเทพ รวมถึงสำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขาทุกแห่งทั่วประเทศ (ยกเว้นสำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข) ในวัน-เวลาราชการ หรือใครไม่สะดวกไปยื่นที่สำนักงานประกันสังคมในวัน-เวลาราชการ จะเลือกยื่นเอกสารผ่านทางไปรษณีย์ก็ได้ โดยต้องส่งเอกสารไปทางไปรษณีย์ตามที่อยู่ของสำนักงานประกันสังคมที่อยู่ใกล้บ้าน และจ่าหน้าซองว่า “ฝ่ายสิทธิประโยชน์” ค่ะ
ประกันสังคม สิทธิทำฟัน เบิกได้กี่ครั้งใน 1 ปี
ทางสำนักงานประกันสังคม ไม่ได้จำกัดสิทธิประกันสังคม ทันตกรรม ว่าสามารถเบิกได้กี่ครั้งต่อปี เพราะฉะนั้นหากค่าใช้จ่ายการทำฟันในปีนั้น ๆ ยังไม่ถึง 900 บาท เราก็ยังมีสิทธิยื่นเบิกได้เรื่อยๆ จนกว่าวงเงินจะครบ 900 บาท ซึ่งวงเงินที่ให้จะเป็นแบบปีต่อปี หากหมดปีนั้นแล้วมีวงเงินเหลือจะโดนหักทิ้งทันที นำไปทบยอดในปีถัด ๆ ไปไม่ได้ค่า
สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ประกันสังคม ทำฟัน ไม่ต้องสำรองจ่าย ใช้เอกสารอะไรบ้าง สิทธิประโยชน์ ทำฟัน ประกันสังคม สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประกันสังคม หรือ โทร. 1506
คำถามที่พบบ่อย
1. การรักษารากฟันสามารถใช้สิทธิเบิกทำฟันประกันสังคม ได้หรือไม่?
ตอบ: ไม่ได้ - สำหรับการรักษารากฟันนี้ จะไม่สามารถเบิกประกันสังคมได้ โดยรักษารากฟันราคาเท่าไหร่นั้นจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งของซี่ฟันและความยากง่ายในการรักษา โดยราคารักษารากฟันส่วนใหญ่จะเริ่มต้นที่ประมาณ 5,000-7,000 บาท ทั้งนี้สำนักงานประกันสังคม ได้ให้สิทธิสำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และ 39 สามารถเบิกค่าทำฟันได้เฉพาะบริการทางทันตกรรม ได้แก่ อุดฟัน ขูดหินปูน ถอนฟัน และผ่าฟันคุดหรือถอนฟันคุด ได้โดยไม่จำเป็นต้องสำรองจ่ายล่วงหน้ากับคลินิกทันตกรรมที่เป็นคู่สัญญากับสำนักงานประกันสังคม ส่วนการทำฟันปลอมจะสามารถเบิกได้ แต่ต้องสำรองจ่ายล่วงหน้าแล้วจึงนำหลักฐาน ไปเบิกภายหลังได้ที่สำนักงานประกันสังคมในเขตพื้นที่ที่ให้บริการของผู้ประกันตน
2. การทำฟันปลอม สามารถเบิกประกันสังคมได้หรือไม่?
ตอบ: ได้ - สำหรับการทำฟันปลอมด้วยสิทธิทำฟันประกันสังคม สามารถเบิกได้ทุกๆ 5 ปี โดยการเบิกนั้นจะขึ้นอยู่กับประเภทของฟันปลอมที่เลือกทำ ดังต่อไปนี้
- ฟันปลอมชนิดถอดได้บางส่วน
1.) จำนวน 1-5 ซี่ เบิกได้เท่ากับที่จ่ายจริง ในวงเงินไม่เกิน 1,300 บาท
2.) จำนวน 5 ซี่ เบิกได้เท่ากับที่จ่ายจริง ในวงเงินไม่เกิน 1,500 บาท - ฟันปลอมถอดได้ทั้งปาก
1.) บนหรือล่าง เบิกได้เท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 2,400 บาท
2.) บนและล่าง เบิกได้เท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 4,400 บาท
ขอขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานประกันสังคม และ คลินิกทันตกรรม SmileDC - คลินิกทำฟันเด็กและครอบครัว
อ้างอิงจาก: สำนักงานประกันสังคม