เนื้อหมูคุณภาพดี ซื้อจากแหล่งมีมาตรฐาน ปรุงสุก ปลอดภัย
“เนื้อหมู” เป็นอาหารโปรตีนสูงที่ให้พลังงานต่อร่างกาย และยังมีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกาย เป็นแหล่งของวิตามินและแร่ธาตุสำคัญอาทิ B12 B6 B3 B1 สังกะสี ซีลีเนียม ฟอสฟอรัส และเหล็ก เป็นต้น ช่วยรักษา เสริมสร้างเซลล์ประสาทและกล้ามเนื้อ ให้กับคนทุกช่วงวัย รวมทั้งยังเป็นหนึ่งในอาหารยอดนิยมของชาวเอเชีย คนไทยเองรับประทานเนื้อหมูเฉลี่ย 16-17 กิโลกรัมต่อคนต่อปี
ด้วยภาพจำว่าเนื้อหมูมีไขมันเป็นจำนวนมาก แต่ในความจริงเนื้อหมูที่วางขายทั่วไปในตลาดเมืองไทยมีไขมันแทรกไม่มาก ผู้ที่กำลังควบคุมน้ำหนัก ก็สามารถเลือกทานเนื้อหมูได้ โดยเลือกในส่วนที่มีไขมันแทรกน้อย อย่างเนื้อแดงจากสันนอกหรือสันในหมู นอกจากนี้ ไขมันในเนื้อหมูยังมีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยกรดไขมันที่พบมากที่สุด คือ โอลิอิก เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว ร่างกายสามารถสร้างได้เอง ไม่ส่งผลทำให้เกิดโรคหัวใจ หรือไขมันอุดตันในเส้นเลือด นอกจากนี้ ปัจจุบัน มีการพัฒนาสูตรอาหารที่ใช้เลี้ยงสุกรเพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการของเนื้อหมูให้แตกต่างจากเนื้อหมูทั่วไป เช่น การนำธัญพืช สารสกัดจากพืชหรือสาหร่าย หรือสารต้านอนุมูลอิสระ มาเสริมในอาหารเลี้ยงหมู
การเลือกซื้อเนื้อหมู นอกจากจะต้องใส่ใจเรื่องความสะอาดแล้ว ควรดูที่ลักษณะปรากฎของเนื้อหมู ต้องมีสีแดงอมชมพู ไม่คล้ำ แดงเข้มหรือซีดผิดปกติ ชุ่มฉ่ำ เนื้อคงรูปทรงดี มีความยืดหยุ่น ไม่นิ่มเหลว ไม่มีน้ำออกมากผิดปกติ ไม่มีกลิ่นเหม็น สิ่งสำคัญหลีกเลี่ยงการสัมผัสเนื้อหมูโดยตรง อาจใช้อุปกรณ์หรือถุงมือระหว่างการเลือกซื้อ อย่างไรก็ตาม การปนเปื้อนของจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า จึงควรเลือกซื้อเนื้อหมูจากแหล่งผลิตหรือสถานที่จำหน่ายที่น่าเชื่อถือ มีมาตรฐานรับรอง หรือมีสัญลักษณ์ปศุสัตว์ OK ซึ่งช่วยรับประกันว่าเนื้อหมูมาจากฟาร์ม โรงชำแหละ และสถานที่จำหน่ายที่ตรวจสอบและรับรองมาตรฐานความปลอดภัยจากกรมปศุสัตว์
คุณภาพของเนื้อหมูที่ดี ปลอดภัย เป็นสิ่งจำเป็นในการประกอบอาหาร ต้องปราศจากการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ก่อโรค พยาธิ รวมทั้งสิ่งปนเปื้อนอื่นทางชีวภาพ เคมีและกายภาพ แต่เนื่องจากเนื้อสัตว์เป็นอาหารที่เน่าเสียง่าย โดยเฉพาะบ้านเรามีอากาศร้อน ดังนั้น หลังซื้อแล้วควรเก็บรักษาในภาชนะที่ช่วยรักษาความเย็นตลอดระยะทาง เมื่อกลับถึงบ้านรีบนำเข้าตู้เย็นทันที วิธีการนี้จะช่วยลดความเสี่ยงการปนเปื้อนจุลินทรีย์ที่อาจก่อให้เกิดอันตราย และยังช่วยรักษาคุณภาพด้านอื่นๆ อีกด้วย
ขั้นตอนสุดท้ายคือการประกอบอาหาร ไม่ควรนำเนื้อออกจากตู้เย็นแล้ววางทิ้งไว้เป็นเวลานานก่อนทำอาหาร ผู้บริโภคต้องทำความสะอาดวัตถุดิบ รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ ผู้ประกอบอาหารต้องมีสุขอนามัยที่ดี ปรุงอาหารในอุณหภูมิและระยะเวลาที่เหมาะสม เป็นการฆ่าเชื้อโรคต่างๆ รวมทั้ง ลด ละ เลิกทานเนื้อหมูดิบ หรือทานเมนูสุกๆดิบๆ ซึ่งช่วยลดเสี่ยงการป่วยเป็นโรคหูดับซึ่งรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ช่วยให้มั่นใจได้ว่าอาหารที่รับประทานนั้น มีประโยชน์ ปลอดภัย ปลอดเชื้อ ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
ผศ.ดร.รุจริน ลิ้มศุภวานิช
หน่วยปฏิบัติการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเนื้อสัตว์
ภาควิชาเทคโนโลยีการผลิตสัตว์และประมง คณะเทคโนโลยีการเกษตร
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง