ลูกหลานย่า ที่เราคุ้นเคย!! ป้าทอง สุลาลีวัลย์ สุวรรณทัต
ป้าทอง สุลาลีวัลย์ สุวรรณทัต
ศิลปินนักแสดงที่อยู่ในวงการมายาวนาน ตั้งแต่ยุคเริ่มต้นของภาพยนตร์ไทย ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จวบจนอายุขัยของท่านเมื่อ 30 ปีที่แล้ว
ท่านปรากฏอยู่ในภาพยนตร์และละครหลายร้อยเรื่อง เป็นที่คุ้นเคยจนมีความผูกพันดุจญาติผู้ใหญ่คนหนึ่งของชาวไทย
ท่านมีทายาทสายตรงอยู่หลายคน ที่มีผลงานอยู่ในวงการบันเทิงเช่นกัน แต่ใช้ต่างนามสกุล (ทายาทใช้นามสกุลสามี ขณะที่ท่านใช้นามสกุลโดยกำเนิด "สุวรรณทัต") ซึ่งทายาทของท่านเป็นที่รู้จัก คือ
บุตรชาย : ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา นักแสดงและนักร้องลูกกรุงที่โด่งดัง
เกิดจากการสมรสครั้งแรกกับยอแสง ภักดีเทวา อดีตครูโขน ซึ่งต่อมาทั้งสองท่านได้หย่าขาดกัน
หลานย่า :
1. โจ้ สุธีศักดิ์ ภักดีเทวา ครูสอนการแสดงชื่อดัง บุตรชายทนงศักดิ์
2. ม.ล.สุรีย์วัล สุริยง อดีตนางเอก ฉายาราชินีนักบู๊ เป็นหลานย่าโดยตรง ที่สืบสกุลจากการสมรสครั้งที่ 2 กับหม่อมเจ้าอติวงศ์วิวัสวัติ สุริยง ซึ่งในชีวิตจริง ป้าทองมีศักดิ์อย่างเป็นทางการคือ หม่อมสุลาลีวัลย์ สุริยง ณ อยุธยา
ชีวิตครอบครัว
สมรสครั้งที่ 1 กับครูยอแสง ภักดีเทวาอดีตครูโขน มีบุตรด้วยกันหนึ่งคน คือ ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา นักร้องผู้โด่งดัง[1] และได้หย่าร้าง[2]กับครูยอแสงในเวลาต่อมา
สมรสครั้งที่ 2 กับหม่อมเจ้าอติวงศ์วิวัสวัติ สุริยง เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2482 จึงมีศักดิ์เป็น หม่อมสุลาลีวัลย์ สุริยง ณ อยุธยา มีบุตรธิดา 5 คน ดังนี้
หม่อมราชวงศ์ธิติสาร สุริยง (บิดาของหม่อมหลวงสุรีย์วัล สุริยง อดีตราชินีนักบู๊)
หม่อมราชวงศ์ประยูรพันธุ์ สุริยง
หม่อมราชวงศ์นันทนา สุริยง
หม่อมราชวงศ์อำพน สุริยง
หม่อมราชวงศ์อัจจิมา สุริยง
วงการบันเทิง
ป้าทองก้าวเข้าสู่วงการครั้งแรกก็จากการชักชวนของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ ยุคล สมัยที่ผลิตภาพยนตร์ใหม่ๆในนาม ไทยฟิล์ม ช่วงประมาณ ปี พ.ศ. 2482 บทบาทแรกเริ่มยังไม่ค่อยโดดเด่นมากนัก
จนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง วงการภาพยนตร์ต้องหยุดฉาย หยุดสร้าง เพราะวัตถุดิบคือฟิล์มไม่มีการส่งมาจากต่างประเทศ ทำให้บริษัทไทยฟิล์มเลิกกิจการสร้างภาพยนตร์ เปลี่ยนมาทำละครเวทีแทน ในนามอัศวินการละคร ยุคละครเวที พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ ได้นางเอกสุพรรณ บูรณะพิมพ์มารับบทนางเอกละครเจ้าน้ำตา เรียกคนดูได้เป็นอย่างดี นางร้ายเลยเหมาะกับหม่อมสุลาลีวัลย์
โดยใช้นามสกุลเดิมในวงการนามว่า สุลาลีวัลย์ สุวรรณทัต แสดงได้ดี บุคลิกให้จนทำให้คนดูออกอาการเกลียดนางร้ายอย่างป้าทองอย่างมาก โดยบทที่โด่งดังมากคือบท ป้าทอง ในละครเวทีเรื่องวนิดา[6] จนหม่อมหลวงทรงสอางค์ ฑิฆัมพรได้ตั้งชื่อให้สุลาลีวัลย์ว่าป้าทอง จนกลายเป็นชื่อเล่นในที่สุด ป้าทองมีชื่อเสียงในรุ่นเดียวกับ สุพรรณ บูรณพิมพ์ และ ป้าหอม มาลี เวชประเสริฐ
ถึงแม้ชีวิตการแสดงส่วนใหญ่ของป้าทอง มักจะรับบทเป็นคนใช้ ถึงกระนั้นป้าทองก็เคยรับบทนำเช่นกันใน "กล่องข้าวน้อยฆ่าแม่" (2523) โดยรับบทเป็นแม่ ในการแสดงบทร้าย ๆ นั้นสุพรรณ บูรณะพิมพ์นักแสดงละครเวทีรุ่นน้องก็มักจะนั่งจำท่าทีการแสดงของป้าทอง จนภายหลังสุพรรณได้กลายเป็นนางร้ายผู้ยิ่งใหญ่ในแวดวงละคร