“อุดเตา” เตารีดเหล็กรุ่นคุณยาย อายุกกว่า 50 ปี
“อุดเตา” เป็นภาษาไทยโบราณ ใช้เรียกเครื่องใช้ที่ปัจจุบันเราเรียกว่า “เตารีด” และเป็นเตารีดที่ใช้กันในสมัยก่อนเมื่อประมาณ 50 ปีมาแล้ว
"อุดเตา" แบบในภาพทำด้วยเหล็กและทองเหลือง บางอันมีการตกแต่งสลักบนฝาด้านบนเป็นรูปตัวไก่ และบางอันตกแต่งหูจับเป็นลวดลายอ่อนโค้ง งดงาม ตามจินตนาการของช่างทำอุดเตา
อุดเตากลุ่มนี้ทำด้วยเหล็ก หรือทองเหลืองทั้งอัน บางอันมีขนาดใหญ่กว่าเตารีดไฟฟ้าที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันประมาณ 2-3 เท่า มีน้ำหนักมาก เด็กๆ ยกคนเดียวแทบจะไม่ไหว การที่ทำให้มีน้ำหนักมากๆ นั้นเพื่อให้น้ำหนักของตัวอุดเตากดทับลงบนผืนผ้าที่จะรีดให้เกิดความเรียบ ผนังเตาทั้งสองข้างมีลักษณะโอบเข้าไปเป็นหัวรูปทรงแหลมๆ ตอนบนบริเวณริมหรือขอบทำเป็นลายหยักรูปฟันปลาไปตลอดแนว สูงประมาณ 3 นิ้ว เพื่อระบายความร้อนจากถ่านก้อนกลมๆ ที่เผาไฟจนร้อนซึ่งบรรจุอยู่ภายในอุดเตา ความร้อนจากถ่านเผาไฟจะทำให้ผ้าเรียบ เช่นเดียวกับความร้อนจากขดลวดไฟฟ้าที่อยู่ภายในเตารีดไฟฟ้าในปัจจุบัน
ฝาด้านบนนั้นความกว้าง ยาว แหลม ท้ายตัดเท่าตัวอุดเตา ตรงบริเวณท้ายตัดจะมีบานพับอันเล็กๆ ติดอยู่ มีหูขนาดค่อนข้างยาวและสูงไว้สำหรับเปิดปิดฝาได้ ยามเมื่อต้องการเติมถ่านเวลาถ่านยุบไปหลังจากรีดไปแล้วนานๆ บริเวณหูจับจะหุ้มด้วยไม้ที่เหลาจนกลมกลึงมีขนาดพอเหมาะกับมือ เพื่อเป็นฉนวนป้องกันความร้อนจากเหล็กที่แผ่ขึ้นมาขณะรีดผ้า เมื่อเวลาจะรีดผ้าโดยใช้อุดเตา จะต้องมีเตาอั้งโล่เผาก้อนถ่านให้ลุกแดงตลอดเวลา ตั้งอยู่ข้างๆ ไว้สำหรับคีบใส่ภายในอุดเตา
ถ่านที่ใช้สำหรับรีดผ้านั้น มีความแตกต่างกับถ่านหุงข้าวที่ใช้กับเตาอั้งโล่ หรือเตาเชิงกรานทั่วๆ ไป ถ่านที่ใช้หุงข้าวจะมีลักษณะเป็นท่อนยาวๆ เมื่อนำมาเผาไฟมักจะแตกเป็นลูกไฟเล็กๆ กระเด็นออกมา รวมทั้งเมื่อมอดแล้วมีขี้เถ้ามาก แต่สำหรับถ่านรีดผ้าจะมีลักษณะเป็นก้อนกลมๆ เวลานำมาเผาไฟลูกไฟจะไม่แตกกระจาย ตลอดจนมีขี้เถ้าน้อยกว่าถ่านหุงข้าวมาก ถ่านรีดผ้าส่วนมากมักทำจากไม้โกงกาง ซึ่งเป็นพืชที่ขึ้นเจริญเติบโตบริเวณป่าชายเลน นิยมนำมาเผาทำถ่านเพราะจะได้ถ่านที่มีคุณภาพดี
อ้างอิงจาก: https://www.facebook.com/2007331706232995/photos/a.2007341916231974/2904523816513775/
ข้อมูลอ้างอิง : ดวงฤทธิ์ แคล้วปลอดทุกข์. “เปิดคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษกฯ”, นิตยสารศิลปากร ๑ (ม.ค. - ก.พ. ๒๕๔๕) หน้า ๗๓ – ๗๗
ชมรมประวัติศาสตร์สยาม