แค่ไหน ถึงเรียกว่า “อ้วน” จนเป็นโรค
ถ้าพูดถึงคำว่า “อ้วน” หลายคนจะนิยามไปต่าง ๆ นานาว่า แบบไหนจึงจะเรียกว่า “อ้วน” ซึ่งโดยมากก็จะดูจากรูปร่างที่เห็นภายนอกเป็นหลัก แต่แน่นอนว่าตรงนี้คงไม่ใช่เป็นมาตรฐานที่จะวัดได้ เพราะสายตาและความคิดของแต่ละคนไม่เหมือนกันอยู่แล้ว
ในทางการแพทย์ เพื่อให้มีความเข้าใจตรงกัน จึงได้มีการกำหนดวิธีการที่ระบุให้ได้ชัดเจนว่า บุคคลใดจัดได้ว่า “อ้วน” ซึ่งวิธีการที่นิยมใช้กันคือ การหาดัชนีมวลกาย (Body Mass Index) หรือการเปรียบเทียบระหว่างส่วนสูงและน้ำหนักของบุคคลนั้น โดยมีสูตรคำนวณดังนี้
BMI = W/H^2
W คือน้ำหนักตัว หน่วยเป็นกิโลกรัม
H คือความสูง หน่วยเป็นเมตร
เช่น ถ้าสูง 1.65 เมตร น้ำหนัก 63 กิโลกรัม ดัชนีมวลกายก็จะเป็น
BMI = 63/(1.65)^2 = 23.14
ในการนิยามว่าบุคคลนั้นอ้วนหรือผอมไปหรือไม่นั้น จะกำหนดจากดัชนีมวลกาย ดังนี้
ต่ำกว่า 18.5 = น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
18.5 – 22.9 = น้ำหนักตามเกณฑ์มาตรฐาน
23.0 – 24.9 = น้ำหนักสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานเล็กน้อย (หรือบางทีก็จัดว่ายังอยู่ในเกณฑ์)
25.0 – 29.9 = น้ำหนักเกินมาตรฐาน (บางครั้งถือว่าเป็นโรคอ้วน ระดับเบื้องต้น)
30.0 ขึ้นไป = เป็นโรคอ้วน (ขั้นอันตราย)
การประเมินค่าความอ้วนจาก BMI อาจจะมีความคลาดเคลื่อนได้เล็กน้อย เนื่องจากความแตกต่างของบุคคล เช่น
เพศ ผู้หญิงโดยมากจะมีไขมันในร่างกายมากกว่าผู้ชาย เมื่อ BMI เท่ากัน
เชื้อชาติ คนผิวสีจะมีไขมันในร่างกายน้อยเมื่อเทียบกับคนผิวขาว และชาวเอเชียจะมีมากที่สุด
อายุ ผู้สูงอายุจะมีแนวโน้มที่จะมีไขมันมากกว่าคนหนุ่มสาว (สังเกตจากการที่คนแก่มักจะลงพุง)
รูปแบบการใช้ชีวิต คนที่ออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น นักกีฬา จะมีไขมันในร่างกายน้อยกว่าคนที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย
อ้างอิงจาก: https://www.facebook.com/sararueaipueai/photos/a.485918931541662/2515792945220907/
รพ. บางปะกอก