"กล่องดำ ทำจากอะไร ทำไมเครื่องบินตกแล้วไม่พัง"
จากเหตุการณ์อุบัติเหตุทางอากาศครั้งใหญ่อีกครั้งเมื่อวานนี้ ของเครื่องบินโดยสาร สายการบินไชน่า อีสเทิร์น แอร์ไลน์ส ซึ่งพุ่งตกในพื้นที่ภูเขาของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน จนเสียชีวิตหมดทั้งลำ และเจ้าหน้าที่กู้ภัยได้ค้นพบ หนึ่งใน "กล่องดำ" จำนวน 2 กล่องของเครื่องบินโดยสารที่ประสบเหตุแล้ว (ดูรูปประกอบ) โดยสภาพภายนอกพังเสียหายอย่างรุนแรง แต่สภาพหน่วยจัดเก็บข้อมูลค่อนข้างสมบูรณ์ แม้เกิดความเสียหายบางส่วน
ได้คำถามตามมาจากลูกเพจ ว่ากล่องดำนี้มันคืออะไร ทำจากวัสดุอะไรกัน แล้วทำไมเวลาเครื่องบินตกจนพังไฟไหม้ทั้งลำแบบนี้ กล่องดำถึงยังไม่พังตามไปด้วย ?? เลยไปค้นข้อมูลมาเล่าสู่กันฟังครับ
--------------------
(เรียบเรียงจาก ..อ้างอิงความรู้จาก ภาควิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)
- กล่องดำ (Black Box) คือ “อุปกรณ์บันทึกข้อมูลการบิน” โดยเครื่องบินทั่วไปจะต้องติดตั้ง “กล่องดำ” ตามกฎด้านการบิน ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ โดยจะมีกล่องดำ 2 กล่อง สำหรับบันทึกข้อมูลการบินเพื่อใช้จำลองเหตุการณ์ก่อนหน้าที่จะเกิดอุบัติเหตุ แล้วนำมาวิเคราะห์หาสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุต่อไป
- กล่องดำทั้ง 2 ได้แก่
1. The Cockpit Voice Recorder (CVR) ทำหน้าที่บันทึกเสียงพูดของนักบิน รวมทั้งเสียงอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในห้องนักบิน โดยถ้าเป็นแบบแถบแม่เหล็ก จะสามารถบันทึกประมาณ 30 นาที แล้วขึ้นรอบใหม่ แต่ถ้าเป็นแบบหน่วยความจำ จะบันทึกได้รอบละประมาณ 2 ชั่วโมง
2. The Flight Data Recorder (FDR) ทำหน้าที่บันทึกสภาวะต่าง ๆ ในระหว่างปฏิบัติการบิน ได้แก่ เวลา ระยะสูง ความเร็ว อัตราเร่งตามแนวดิ่ง ทิศทาง ตำแหน่งคันบังคับและอุปกรณ์บังคับการบินอื่น ๆ ตำแหน่งของแพนหางระดับ ท่าทางของเครื่องบิน อัตราการไหลของเชื้อเพลิง เป็นต้น ข้อมูลที่ได้จะช่วยให้สามารถสร้างภาพเคลื่อนไหวของการบินได้ ทำให้รู้เหตุการณ์สุดท้ายระหว่างการบินก่อนเกิดอุบัติเหตุ
- ตัวกล่องจริง ๆ ที่ใช้ในปัจจุบันนั้นไม่ได้มีสีดำ แต่จะมีสีแสดสะดุดตา มีตัวอักษร “FLIGHT RECORDER DO NOT OPEN” ข้างกล่อง และติดแถบสะท้อนแสง ทำให้กล่องดำสังเกตเห็นง่ายที่สุดว่ามันอยู่ที่ไหน จะได้เก็บกู้มาเป็นหลักฐานต่อไป
- แต่มันเคยมีสีดำมาก่อนจริง ๆ ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้จะเป็นความลับ ถูกห่อหุ้มด้วยกล่องหรือตัวเรือนสีดำที่ไม่สะท้อนแสง หรือไม่ก็เรียกตามสภาพที่เก็บกู้ได้ ส่วนใหญ่จะไหม้ไฟเพราะการระเบิด
- กล่องดำมักจะติดตั้งไว้ในส่วนท้ายของเครื่องบิน เพราะมีโอกาสที่จะคงสภาพสมบูรณ์ที่สุดเมื่อเทียบกับส่วนอื่น
- ส่วนของ Crash-Serviable Memory Unit (CSMU) ของทั้งกล่อง CVR และกล่อง FDR จะถูกออกแบบให้ทนทาน ทนความร้อน ทนไฟ กันน้ำ ทนแรงกระแทก ทนแรงกด
- กล่องห่อหุ้มด้วยสเตนเลสสตีลหรือไททาเนียม ที่ทนทานต่อการกัดกร่อน 2 ชั้น พร้อมฉนวนกันความร้อนอุณหภูมิสูง และต้องผ่านการทดสอบเหล่านี้ เช่น
+ ยิงอุปกรณ์นี้ให้กระทบเป้าอะลูมิเนียมเพื่อให้เกิดแรงกระแทก 3,400G
+ ทดสอบความทนต่อการเจาะ โดยปล่อยก้อนน้ำหนักขนาด 227 กิโลกรัม ที่มีเข็มเหล็กขนาด 0.25 นิ้ว อยู่ด้านล่างให้กระทบลงบน CSMU จากความสูง 3 เมตร
+ ทดสอบด้วยแรงกด 5,000 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว เป็นเวลา 5 นาที ทุก ๆ ด้าน
+ เผาด้วยความร้อน 1,100 °C นาน 1 ชั่วโมง
+ แช่ในน้ำเค็มนาน 24 ชั่วโมง (กรณีเครื่องบินตกทะเล)
+ แช่น้ำนาน 30 วัน
+ ทดสอบความทนทานต่อของเหลวอื่น ๆ เช่น เชื้อเพลิงเครื่องบิน น้ำมันหล่อลื่น สารเคมีดับเพลิง
- เครื่องบันทึกแต่ละเครื่องจะต้องมีเครื่องแจ้งตำแหน่งใต้น้ำ หรือเรียกว่า “Pinger” ด้วย จะทำงานเมื่อจมน้ำ โดยส่งคลื่นเสียงความถี่ที่ 37.5 kHz ได้จากความลึกถึงราว ๆ 4 กิโลเมตร
- เจ้าหน้าที่กู้ภัยจะใช้อุปกรณ์พิเศษที่เรียกว่า Pinger Locator System (PLS) ลากไปในน้ำ เพื่อรับสัญญาณจาก Pinger เพื่อค้นหาตำแหน่งของกล่องดำ
- เมื่อพบกล่องดำแล้ว เจ้าหน้าที่กู้ภัยจะต้องทำการเก็บกู้และขนส่งอย่างระมัดระวัง ให้คงสภาวะเดิมและเสียหายให้น้อยที่สุด คงสภาพแวดล้อม ณ บริเวณที่พบไว้ด้วย
- หากพบในน้ำ เครื่องบันทึกจะถูกส่งไปตรวจสอบโดยบรรจุในถังพร้อมกับน้ำ เพราะเกรงว่าหากเครื่องบันทึกแห้ง ข้อมูลอาจสูญหายไปเนื่องจากสภาพแวดล้อมเปลี่ยน จากนั้นจะนำไปเข้ากระบวนการตรวจสอบ
- ถ้าเครื่องบันทึกไม่เสียหายมาก เจ้าหน้าที่สามารถรู้ข้อมูลได้ภายใน 2-3 นาที เพียงต่อเครื่องบันทึกเข้ากับเครื่องอ่าน แต่หากบุบสลายหรือถูกไฟไหม้ เจ้าหน้าที่จะถอดแผงหน่วยความจำออกมาทำความสะอาด แล้วค่อยเชื่อมต่อกับเครื่องบันทึกอีกเครื่องหนึ่ง