ต้ังยศให้พระ ยศนี้คือกิเลสตัวหนึ่งของคนที่บวชเป็นพระ
คำว่า "ยศ" หมายถึง ความงาม, ความดี, เกียรติยศ, ชื่อเสียง, ความยิ่งใหญ่ฯ ซึ่งยศแบ่งเป็น ๓ อย่าง คือ อิสริยยศ ๑ บริวารยศ ๑ เกียรติยศ ๑
พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์เป็นนักบวช ทรงประกอบด้วยพระยศใหญ่ แต่พระองค์ไม่ติดในยศ พระอรหันต์สาวกทั้งหลายท่านก็มีตำแหน่งเป็นผู้เลิศทางด้านต่างๆ ตามอัธยาศัยที่สะสมมา แต่ท่านไม่ติดในยศ ถ้าผู้ใดติดในยศ สภาพจิตในขณะนั้นเป็นอกุศลธรรม มีโทษ มีทุกข์เป็นผล
ในสมัยครั้งพุทธกาล พระภิกษุทั้งหลายไม่มียศตำแหน่ง เป็นพระครู เจ้าคุณหรือสมเด็จฯ เมื่อสมัยล่วงกาลผ่านมาจนถึงยุคปัจจุบัน ทางการก็ได้ตั้งตำแหน่ง ยศชั้นต่างๆ ให้แก่พระภิกษุที่ท่านมีหน้าที่ในการปกครองของสงฆ์ ดังนั้นถ้าพระภิกษุท่านมียศ แต่ไม่ติดในยศ ย่อมไม่มีโทษในทางธรรมครับ
พระภิกษุเป็นผู้ที่สละอาคารบ้านเรือน สละทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อเข้าสู่เพศที่สูงกว่าเพศคฤหัสถ์ คือ เพศบรรพชิต เพื่อมุ่งศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญา ขัดเกลากิเลสของตนเเองเป็นสำคัญ ไม่ใช่เพื่อมุ่งอย่างอื่น
สำหรับเรื่องยศนั้น ยศจริงๆ ควรจะเป็นคุณความดีประการต่างๆ ไม่ว่าจะอยู่ในเพศใด ความดี ย่อมเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การชื่นชมยกย่องสรรเสริญ ถึงแม้จะมียศ (อย่างที่เข้าใจกัน เป็นตำแหน่ง ฐานะต่างๆ เป็นต้น) แต่ไม่มีคุณความดีเลย ก็ไม่มีอะไรที่ควรค่าแก่การยกย่องสรรเสริญ หรือ แม้ไม่มียศตำแหน่งอะไรเลย แต่ก็สามารถที่จะเป็นคนดี น้อมประพฤติในสิ่งที่ดีงามได้ ในขณะที่ความดีเกิดขี้น ก็ได้ชื่อว่า มียศ แล้ว นั่นก็คือ มีเกียรติยศที่เป็นคุณความดี นั่นเอง
เรื่องยศ หรือ สมณศักดิ์ของพระภิกษุ ในยุคสมัยปัจจุบันนี้ เป็นไปตามที่มหาเถรสมาคมกำหนดไว้ตามคุณสมบัติ มียศพระครู เจ้าคุณชั้นต่างๆ เป็นต้น ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับพระภิกษุนั้นว่ามีความติดข้องเพลิดเพลินหรือไม่อย่างไร เพราะประโยชน์ของการบวชไม่ใช่อยู่ที่เพื่อได้ยศตำแหน่ง แต่เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง เป็นสำคัญ