เหตุผลที่ขนมปังเกาหลีราคาแพงที่สุดในโลก
เหตุผลที่ขนมปังเกาหลีราคาแพงที่สุดในโลก
จากผลการสำรวจที่จัดทำโดย Economist Intelligence Unit (EIU) หน่วยงานวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจของประเทศอังกฤษในปี 2019 ระบุว่า ราคาเฉลี่ยของขนมปัง 1 กิโลกรัมที่วางขายในกรุงโซลจะอยู่ที่ 15.59 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 513.38 บาทเลยทีเดียวค่ะ!
ซึ่งราคานี้ก็ถือว่าเป็นราคาที่แพงที่สุดในบรรดา 10 เมืองใหญ่ของโลกเลยนะคะ โดยอันดับ 2 คือนิวยอร์กและมีราคาเพียง 8.33 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 274.31 บาทเท่านั้น เรียกได้ว่าขนมปังที่โซลแพงกว่าเกือบ 2 เท่าเลยล่ะค่ะ
และถ้าลองมาเทียบกับประเทศที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียเหมือนกันอย่างญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องค่าครองชีพสูง แต่ราคาเฉลี่ยของขนมปัง 1 กิโลกรัมที่วางขายในโอซาก้าก็มีราคาเพียง 5.2 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 171.24 บาทเท่านั้นค่ะ แสดงให้เห็นเลยว่าขนมปังของเกาหลีแพงมากจริง ๆ
แล้วเหตุผลอะไรกันนะที่ทำให้ขนมปังของเกาหลีมีราคาแพงมากขนาดนี้?
1. วัตถุดิบราคาสูง
ส่วนผสมหลักของขนมปังก็คือแป้งและน้ำตาลใช่มั้ยละคะ? ซึ่งการจะทำขนมปังก็มีสัดส่วนของแป้งสูงถึง 66.7% เลยทีเดียวค่ะ และแป้งของเกาหลีส่วนใหญ่ก็ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ เนื่องจากอัตราการผลิตข้าวสาลีของเกาหลีค่อนข้างต่ำมาก ๆ เลยนั่นเอง
ในปี 2018 อัตราการผลิตข้าวสาลีของเกาหลีใต้อยู่ที่ 1.1% เท่านั้น นอกจากนี้สัดส่วนของแป้งที่ผลิตได้ในเกาหลีก็คือ 0.4% และสัดส่วนของน้ำตาลที่ผลิตได้ในเกาหลีก็คือ 0% ค่ะ! เมื่อเทียบกับประเทศที่มีวัตถุดิบเป็นของตัวเองแล้ว เกาหลีก็ถือว่ามีภาระด้านราคาของวัตถุดิบมากกว่านั่นเองค่ะ
อย่างไรก็ตาม เพียงเพราะต้องนำเข้าวัตถุดิบต่าง ๆ ก็ไม่น่าจะทำให้ราคาของขนมปังขึ้นไปสูงขนาดนั้นใช่มั้ยละคะ? อย่างประเทศญี่ปุ่นที่อัตราการผลิตข้าวสาลีในประเทศก็ไม่สูงเช่นเดียวกัน แต่ราคาขนมปังก็ไม่ได้สูงเหมือนของเกาหลีค่ะ
2. โครงสร้างการจัดจำหน่าย
สถานการณ์และโครงสร้างการจัดจำหน่ายขนมปังในเกาหลีแตกต่างจากประเทศอื่น ๆ เล็กน้อยค่ะ เมื่อเทียบกับช่องทางการขายปลีก เช่น ร้านสะดวกซื้อหรือซุปเปอร์มาร์เก็ตแล้ว ขนมปังที่วางขายในร้านเบเกอรี่เกาหลีจะขายได้ในปริมาณที่มากกว่าค่ะ
ใน ปี 2016 ยอดขายของร้านเบเกอรี่อยู่ที่ 5,938.8 ล้านวอน ในขณะที่ยอดขายจากช่องทางการขายปลีกได้เพียง 425.1 ล้านวอนเท่านั้นค่ะ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ คนเกาหลีส่วนใหญ่นิยมซื้อขนมปังจากร้านเบเกอรี่มากกว่า ตรงข้ามกับต่างประเทศที่มักจะซื้อขนมปังในซุปเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านสะดวกซื้อนั่นเองค่ะ
และโครงสร้างการจัดจำหน่ายโดยร้านเบเกอรี่ก็ทำให้ราคาขนมปังแพงขึ้นกว่าเดิมค่ะ เนื่องจากราคาของขนมปังที่ผลิตทีละน้อย ๆ ต่อวันโดยร้านเบเกอรี่ทั่วไปนั้นแพงกว่าการผลิตจำนวนมากเพื่อวางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่นั่นเอง
นอกจากนี้ร้านเบเกอรี่หลายแห่งก็เปิดดำเนินการโดยบุคคลทั่วไป ดังนั้นภาระค่าใช้จ่ายและค่าเช่าก็ย่อมมีมากกว่าวิสาหกิจขนาดใหญ่ใช่มั้ยละคะ?
3. การผูกขาดตลาดขนมปัง
การผูกขาดตลาดขนมปังในเกาหลีก็เป็นอะไรที่เห็นได้อย่างชัดเจนเลยล่ะค่ะ ยกตัวอย่างเช่น "SPC Samlip" ซึ่งเป็นบริษัทที่ครองตลาดขนมปังมากที่สุด ทั้งจากร้านเบเกอรี่อย่าง Paris Baguette และการผลิตขนมปังจำนวนมากอย่าง Samlip
ซึ่ง Fair Trading Commission ก็พบว่าบริษัทที่เกี่ยวข้องมีการใช้ช่องว่างของกฏหมายเพื่อเรียกเก็บ "ค่าธรรมเนียมการขนส่ง (통행세)" ทำให้ราคาของขนมปังที่ออกไปสู่ผู้บริโภคมีราคาสูงในท้ายที่สุดนั่นเองค่ะ
"Paris Baguette" ซึ่งเป็นบริษัทในเครือด้านขนมปังของกลุ่ม SPC ใช้แป้งที่ผลิตโดย "Secret Tea Garden (밀다원)" ซึ่งทั้งสองบริษัทก็ไม่ได้ทำการค้ากันโดยตรงนะคะ แต่ทำการแลกเปลี่ยนแป้งผ่านบริษัท "Samlip" แทนค่ะ
และแม้ว่า Samlip จะไม่ได้ทำอะไรไปมากกว่าการเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนแป้ง แต่การขายวัตถุดิบในราคาที่สูงเพื่อทำกำไรก็ถือว่าเป็นการซื้อขายหลักทรัพย์โดยใช้ข้อมูลภายในที่ไม่เป็นธรรมอยู่ดี ดังนั้น Fair Trade Commission จึงสั่งโทษปรับ SPC เป็นจำนวนเงินถึง 64,700 ล้านวอนเลยทีเดียวค่ะ
และทันทีที่มีข่าวออกมา ชาวเน็ตเกาหลีต่างก็ออกความเห็นกันอย่างหลากหลายเลยล่ะค่ะ เช่น "ถ้าอยากได้ขนมปังที่ถูกที่สุดก็ให้ไปประเทศอื่น แต่ถ้าอยากได้ขนมปังที่แพงที่สุดก็มาเกาหลีได้เลย", "ไม่ใช่แค่ขนมปังที่ราคาแพง ไก่ทอดก็แพงเหมือนกัน", “ถ้าสามารถปรับโครงสร้างการจัดจำหน่ายได้ ราคาของขนมปังก็จะต้องลดลงอย่างแน่นอน"
ดังนั้นสาเหตุหลัก ๆ ที่ขนมปังของเกาหลีมีราคาแพงที่สุดในโลกก็ไม่ใช่เพราะวัตถุดิบที่มีราคาสูงจากการนำเข้า แต่มาจากปัญหาโครงสร้างการจัดจำหน่ายต่างหากค่ะ! ในขณะที่นายทุนกำลังใช้ช่องว่างของกฏหมายเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ภาระก็ตกมาอยู่ที่ประชาชนที่ต้องจ่ายค่าขนมปังราคาแพงอย่างไม่ยุติธรรม!
เป็นยังไงกันบ้างคะกับเหตุผลที่ขนมปังเกาหลีมีราคาแพงที่สุดในโลก? ตอนแรกหลาย ๆ คนก็อาจจะคิดว่าเป็นเพราะวัตถุดิบราคาสูงจากการนำเข้าใช่มั้ยละคะ? แต่จริง ๆ แล้วเป็นเพราะโครงสร้างการจัดจำหน่ายและการผูกขาดตลาดต่างหากค่ะ