"กระจับเขาควาย" ดียังไง
กระจับ กระจับเขาควาย พืชสมุนไพรมีฤทธิ์เย็นตามตำราแพทย์แผนไทย กินดับร้อน บำรุงกำลัง แก้อ่อนเพลีย
กระจับ กระจับเขาควาย
สมุนไพรพันธุ์ไม้น้ำกินได้ พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ เจริญเติบโตได้ในสระหรือบึง หรือในที่มีน้ำท่วมขังตลาดทั้งปี ชื่อวงศ์ TRAPACEAE. ชื่อวิทยาศาสตร์ Trapa bicornut Linn. ชื่ออื่นๆ กระจับ มะแง่ง
กระจับ กระจับเขาควาย เป็นพืชน้ำที่มีหัวอยู่ใต้น้ำ ลำต้นโผล่บนผิวน้ำคล้ายบัว ส่วนหนึ่งหยั่งลึกยาวลงดิน ให้ผลออกตามข้อปล้อง ลักษณะคล้ายเขาของกระบือ (เขาควาย) มีรสชาติอร่อย รับประทานสดได้ และนำไปปรุงอาหารได้หลากหลายชนิด แต่นิยมนำมาต้มรับประทานมากกว่า
กระจับที่พบในประเทศไทย มีทั้งหมด 4 ชนิด แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ กระจับเขาแหลม (Horn Nut) กระจับเขาทู่ (Water caltrops) กระจ่อม (Jesuit Nut) และ กระจับ (Tinghara Nut)
ต้นกระจับ มีลักษณะใบกลมริม ใบจะเป็นหยัก ๆ ใบหนาและแข็ง ก้านใบแผ่ออกเป็นรัศมี กระจับ 1 ต้น มีผล 3-5 ผล ผลกระจับจะออกอยู่ใต้น้ำ มีลักษณะคล้ายเขาควาย สีผลกระจับอ่อนมีสีม่วงแดง พอแก่ผลจะมีสีดำ เนื้อในผลจะมีสีขาว รสชาติหวานมัน
ประโยชน์และสรรพคุณของกระจับ
การทานเนื้อกระจับสดๆ เป็นยาดับร้อน แก้กระหาย
การทานเนื้อกระจับต้มสุก เป็นยาช่วยย่อย บำรุงกำลัง บำรุงทารกในครรภ์ บำรุงกำลังหลังฟื้นไข้ แก้อ่อนเพลีย
ใบกระจับ มีรสเปรี้ยวใช้ในการกัดเสมหะ แก้ไอ ขับเมือก ล้างสำไส้ และเป็นยาช่วยเสริมสมรรถภาพทางตา ของเด็กและเป็นยาถอนพิษได้ดี
ทั้งนี้ เนื้อในของกระจับที่เรานำมารับประทานมีปริมาณแป้งสูง บ้างก็นำกระจับมาทำแป้ง ใช้ทำอาหารแทนแป้งถั่วเขียว นอกจากนี้กระจับยังอุดมไปด้วยฟอสฟอรัส, วิตามินเอ, โปรตีน และแคลเซียมสูง สามารถนำกระจับมาต้มทำเป็นน้ำกระจับ ดื่มคลายร้อน ช่วยลดอุณหภูมิในร่างกาย เพราะกระจับมีคุณสมบัติเย็นตามตำราแพทย์แผนไทยอีกด้วย