เกิดเท่าตายทำลายเศรษฐกิจ
เกิดเท่าตายทำลายเศรษฐกิจ
จากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ย่ำแย่ และค่าครองชีพสูงขณะที่ค่าแรงไม่เพิ่มขึ้น กลายเป็นจุดเปลี่ยนทางความคิดที่ทำให้หลายคนตัดสินใจไม่มีลูก หรือมีแนวคิดในการดูแลลูกที่เปลี่ยนไปจากที่เคยคาดหวังให้ลูกเติบโตมาเลี้ยงดูตนตอนแก่ ลดลงเหลือแค่ลูกเติบโตมาเลี้ยงดูตัวเองได้ โดยไม่ต้องมารบกวนตนตอนแก่ก็พอ
ข้อมูลจำนวนประชากรที่เกิดในประเทศไทย 10 ปีย้อนหลัง จากปี 2555 ที่มีคนไทยเกิด 820,000 คนต่อปี ล่าสุดปี 2564 เหลือเพียง 540,000 คนต่อปี อัตราการเกิดหายไปกว่า 30 % ขณะที่สัดส่วนประชากรผู้สูงอายุที่ยังคงเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตอนนี้ประเทศไทยมีจำนวนผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ถึง 13% ของประชากรทั้งประเทศ สัดส่วนดังกล่าวทำให้ประเทศไทยได้ “ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ” เรียบร้อยแล้ว และจะยกระดับเป็น “สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์” หากสัดส่วนเพิ่มจาก 13% เป็น 14%
ในอดีตประเทศไทยนั้นขับเคลื่อนด้วย "เศรษฐกิจแบบเกษตรกรรม" ดังนั้น คนที่มีแรงงานในมือมากยิ่งมีโอกาสในการสร้างผลิตผลได้มากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น การมีลูกหลายคน จึงดีต่อการสร้างรายได้ในครอบครัว การมีลูกหลายคนของคนรุ่นก่อนจึงไม่ใช่เรื่องแปลก และเปรียบเสมือนการลงทุนระยะยาวที่ให้ผลตอบแทนสมน้ำสมเนื้อทั้งในแง่ของความมั่งคั่ง และความสุขด้วย
ตัดภาพมาที่เศรษฐกิจในปัจจุบัน ประเทศไทยขับเคลื่อนด้วย "เศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรม" แรงงานคนเริ่มถูกลดความสำคัญในการสร้างผลิตผลต่างๆ ลง และหันมาใช้เครื่องจักร ที่ช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย หมายความว่า การมีแรงงานคน อย่างลูกหลานเยอะๆ จึงไม่ทำให้ได้เปรียบในการสร้างรายได้เหมือนที่ผ่านมา สามารถสร้างรายได้จากด้วยวิธีการอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยแรงงานคน
ข้อมูลจากนักวิจัยด้านประชากรต่างออกมาเตือนให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกรับมือกับอัตราเจริญพันธุ์ที่ลดต่ำลง ซึ่งคาดว่าจะทำให้ทุกประเทศทั่วโลกมีประชากรลดลงเมื่อสิ้นศตวรรษที่ 21 โดยมีอย่างน้อย 23 ประเทศที่ประชากรจะลดลงถึงครึ่ง ซึ่งมีประเทศไทยรวมอยู่ด้วย
ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากจำนวนประชากรเกิดใหม่ที่ลดลงนั้นถือว่าร้ายแรง และควรจะได้รับการแก้ไข เนื่องจากจำนวนประชากรที่ลดลงหมายถึงแรงงานในระบบที่ลดลง ซึ่งจะตามมาด้วยการจัดเก็บภาษีที่ลดลง ขณะที่จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้นจะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาพยาบาลนั้นปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป
หลายประเทศที่กำลังเผชิญภาวะเจริญพันธุ์ที่ต่ำลง เช่น สหราชอาณาจักรได้หาวิธีเพิ่มจำนวนประชากรและชดเชยอัตราเจริญพันธุ์ที่ต่ำลงด้วยการเปิดรับคนต่างชาติเข้ามาอยู่ในประเทศ หรือการออกนโยบายสนับสนุนให้พ่อและแม่ลางานเพื่อเลี้ยงลูก จัดสวัสดิการเลี้ยงดูเด็กฟรี ให้เงินอุดหนุน หรือให้สิทธิจ้างงานเพิ่ม
ประชากรลดลงอาจเป็นเรื่องที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม แต่หากประชากรที่เกิดยังน้อยกว่าผู้สูงอายุ อาจส่งผลกระทบถึงด้านอื่น ใครจะเป็นแรงงานหลักในการทำงานจ่ายภาษี ใครจะเป็นผู้ดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายของผู้สูงอายุ คนชราอาจจะไม่ได้หยุดทำงานในช่วงวัยชราอีกต่อไป