รู้เท่าทันสัญญาณบ่งบอกถึงมะเร็งลำไส้ใหญ่รู้ทันรักษาได้
โรคมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับที่ 3 ของคนไทย ผู้ป่วยส่วนใหญ่กว่าจะรู้ว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่เมื่อมีอาการขับถ่ายผิดปกติ เช่น ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ถ่ายมีมูกเลือด ท้องผูก ปวดเบ่งถ่ายตลอดเวลา อุจจาระลำเล็กลง ก็มักพบโรคในระยะที่เป็นมากแล้ว ซึ่งทำให้มีโอกาสการเสียชีวิตสูง การตรวจคัดกรองเพื่อป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ (การตรวจคัดกรอง คือการตรวจตั้งแต่ผู้ป่วยไม่มีอาการผิดปกติใดๆ) หรือการมาพบแพทย์ทันทีตั้งแต่มีอาการผิดปกติในระยะเริ่มแรกเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะถ้ารู้เร็ว รักษาเร็วและถูกวิธีก็จะมีโอกาสหายมากขึ้น
สัญญาณบ่งบอกถึงมะเร็งลำไส้ใหญ่
- ท้องผูกบ่อยจนกลายเป็นเรื่องปกติ บางคนมีปัญหาเรื่องท้องผูกมาตั้งแต่เด็กๆ อาจเป็นเพราะพฤติกรรมการกินที่ไม่กินผักผลไม้ ร่างกายไม่ได้รับไฟเบอร์เพียงพอ และดื่มน้ำน้อย ทำให้ระบบขับถ่ายทำงานไม่ดี
- อุจจาระลีบเป็นลำเล็ก เนื่องจากมะเร็งลำไส้ใหญ่มักเริ่มจากการมีติ่งเนื้อขึ้นมาในลำไส้ ซึ่งอาจเป็นติ่งเนื้อธรรมดาไม่ใช่เนื้อร้าย แล้วจึงพัฒนาเป็นเซลล์มะเร็งในภายหลัง การมีติ่งเนื้อขึ้นขวางภายในลำไส้นี้จึงทำให้อุจจาระที่เคลื่อนผ่านลำไส้ใหญ่มีลักษณะถูกบีบให้เป็นลำเล็กลีบ ดังนั้นหากสังเกตได้ว่าอุจจาระมีลักษณะเล็กลีบเป็นประจำ นั่นอาจเป็นสัญญาณว่าคุณมีก้อนเนื้อหรือติ่งเนื้อขึ้นในลำไส้
- มีเลือดสดหรือเลือดสีแดงเข้มมากปนมากับอุจจาระ อาจเกิดจากอุจจาระที่แข็งเมื่อเบียดกับติ่งเนื้อที่ขึ้นผิดปกติภายในลำไส้เกิดเป็นแผลทำให้มีเลือดออกและปนออกมาในบางครั้งที่ขับถ่าย
- มีอาการท้องเสียสลับกับท้องผูก คือการอุจจาระแข็งและเหลวสลับกัน เป็นติดต่อกันแบบมีอาการเรื้อรัง ถึงแม้ว่าจะกินอาหารที่เหมาะสมไม่ได้เป็นสาเหตุให้ท้องเสียก็ยังมีอาการนี้อยู่ นี่อาจเป็นความผิดปกติที่เกิดจากภายในลำไส้
- กินอาหารเท่าเดิมแต่น้ำหนักลดฮวบฮาบ ลักษณะอาการคือน้ำหนักตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีพฤติกรรมการกินอาหารแบบเดิมหรือมากกว่าเดิม
- อ่อนเพลียอ่อนแรงแบบไม่มีสาเหตุ อาจเกิดจากการที่มีเลือดออกในลำไส้ ปนออกมากับอุจจาระ หากเสียเลือดจากการขับถ่ายมากอาจมีภาวะซีด และโลหิตจางร่วมด้วย และยิ่งทำให้เกิดอาการอ่อนเพลียอ่อนแรงต่อเนื่องมากขึ้นอีก
การหมั่นตรวจเช็คร่างกายของตัวเองเป็นเรื่องที่สำคัญมากและไม่ควรละเลย แต่ถ้าหากคุณมีอาการเหล่านี้ที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ต้องไปปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยเพื่อจะได้ทำการรักษาได้อย่างถูกวิธี