“ก๊าซเรือนกระจกผลกระทบร้ายทำลายโลก”
ในภาวะที่อากาศร้อนมากขึ้นในเวลากลางวัน และหนาวมากขึ้นในเวลากลางคืน อุณหภูมิโลกมีการเปลี่ยนแปลงแตกต่างกันมากขึ้น เพราะบรรยากาศของโลกไม่มีความคงที่ ความรุนแรงทวีคูณมากขึ้น ล้วนส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกนี้ทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการเกิดภาวะโลกร้อน ทำให้เกิดผลกระทบตามมา ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม, ความแห้งแล้ง, ธารน้ำแข็งละลาย, ป่าถูกคุกคามอย่างรุ่นแรง เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่า และสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ฯลฯ ดังนั้น การช่วยกันลดภาวะโลกร้อนไม่เพียงแต่เป็นหน้าที่ของรัฐบาล เอกชน หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่เป็นการร่วมมือของคนทั่วโลกเพื่อช่วยขับเคลื่อนและฝ่าฟันวิกฤตนี้ลงไปได้
สำหรับประเทศไทย มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 354 ล้านตัน ในจำนวนดังกล่าว มาจากภาคพลังงานมากถึง 71% ซึ่งแบ่งออกได้ดังนี้
ภาคพลังงานในการขนส่ง เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแทบจะทุกภาคส่วน แต่เราสามารถที่จะลดการใช้ภาคพลังงานฯ นี้ได้ เช่น
รณรงค์ให้หน่วยงานต่างๆหันมาใช้ 4D1E ประกอบด้วย Decarbonization การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคพลังงาน, Digitalization การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการระบบพลังงาน, Decentralization การกระจายศูนย์การผลิตพลังงานและโครงสร้างพื้นฐาน, Deregulation การปรับปรุงกฎระเบียบรองรับนโยบายพลังงานสมัยใหม่ และ Electrification การเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงานมาเป็นพลังงานไฟฟ้า ทั้งนี้ก็เพื่อเพิ่มศักยภาพในการใช้พลังงานให้มากขึ้น
การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในภาคขนส่ง และลดการใช้น้ำมันอีกด้วย
การใช้น้ำมันให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การเปลี่ยนจากน้ำมันยูโร 4 เป็นน้ำมันยูโร 5 เพื่อลดปริมาณการปล่อยไอเสียและมลพิษ
ภาคอุตสาหกรรม ในด้านของผู้ประกอบการจะต้องให้ความร่วมมือและหันมาให้ความสำคัญด้านการผลิต เพื่อหาวิธีว่า ทำอย่างไรให้ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงธุรกิจใหม่ๆที่กำลังจะเกิดขึ้น จะต้องสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก
ภาคการเกษตร ของไทย ส่วนใหญ่ที่พบคือการปล่อยก๊าซมีเทน มากถึง 74% (ก๊าซมีเทน มีผลเสียกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ถึง 28-30 เท่า : ก๊าซมีเทน 1 ตัน = ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 30 ตัน) พบมากจากการหมักหมมของมูลสัตว์ และการทำย่อยสลายกับตอซังข้าวและซากพืชอื่นๆในน้ำ จึงส่งผลให้เกิดก๊าซมีเทนลอยในอากาศ วิธีที่จะช่วยลดก๊าซนี้ลง คือหันมาใช้เทคโนโลยีจากประเทศเยอรมัน คือ Thai Rice NAMA ลดการใช้น้ำในการปลูกข้าวลง ส่งผลให้การเกิดก๊าซมีเทนลดลง
บริหารจัดการมูลสัตว์ที่สะสม เปลี่ยนถ่ายเป็นพลังงานความร้อน
ภาคของเสีย คือการจัดการของเสีย โดยนำเทคโนโลยีต่างๆมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการการบำบัดน้ำเสีย, การฝังกลบขยะมูลฝอยเพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทน, การใช้เตาเผาขยะเพื่อนำพลังงานกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง หรือการทำปุ๋ยหมักจากขยะอินทรีย์และของเสีย เพื่อหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซฯ
แม้ภาคพลังงาน จะมีการปล่อยก๊าซฯ ในปริมาณที่มากที่สุด แต่ประการหนึ่งที่สำคัญที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว นั่นคือ การทำความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการ ประชาชน และหน่วยงานทั้งภาครัฐที่มีส่วนรับผิดชอบ รวมทั้งเอกชน ให้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซฯ ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับตัวเรา องค์กรหรือหน่วยงานของตน และประโยชน์ของประเทศชาติส่วนรวมที่จะเกิดขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ดังนั้นควรมีการจัดหลักสูตรด้านสิ่งแวดล้อมเข้าสู่ระบบการศึกษา เพื่อเป็นการปลูกฝังจิตสำนึก, หน้าที่ และการรับผิดชอบต่อส่วนรวมที่มีต่อสิ่งแวดล้อมให้แก่เยาวชนที่จะเติบโตต่อไป
#ธรรมชาติ #ภาวะโลกร้อน #ก๊าซเรือนกระจก #กระทรวงทรัพยกรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม