กรุงเทพฯ คือเมืองที่คนทำงานหนักที่สุดอันดับ 3 ของโลก
เคยลองคิดดูเล่น ๆ กันบ้างไหมว่าใน 1 วัน เราหมดเวลาไปกับใด ๆ ก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการทำงานวันละกี่ชั่วโมง ทั้งเวลาที่นั่งทำงานจริง ๆ และเวลาที่ใช้ในการเดินทางไปทำงาน รวมถึงเคยลองคิดบ้างไหมว่าเรามีเวลาที่เหลือว่างจากการทำงานวันละกี่ชั่วโมงเพื่อมาใช้ชีวิตของตนเอง
ถ้าหากคุณกำลังรู้สึกเหนื่อยอยู่ตลอดเวลาในการทำงาน (โดยที่ไม่ได้มีปัญหากับเนื้องาน) มันก็คงจะไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะมีข้อมูลสำรวจเรื่องความสมดุลในการทำงานของคนในเมืองใหญ่ทั่วโลก “Cities with the Best Work-Life Balance 2021”
เป็นผลสำรวจของ Kisi บริษัทเทคโนโลยีผู้ให้คำปรึกษาด้านการทำงาน ระบุว่าเมืองที่ผู้คนมีชีวิตการทำงานที่สมดุลที่สุดในโลกคือ กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ส่วนกรุงเทพฯ ประเทศไทย อยู่รั้งท้ายตารางในอันดับที่ 49 จากทั้งหมด 50 ประเทศ! ดีกว่าแค่เพียงคนทำงานจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียเท่านั้นเอง
ผลสำรวจนี้ ได้นำเอาปัจจัยหลายอย่างมาเป็นเกณฑ์ในการวิเคราะห์ เช่น ชั่วโมงการทำงานในแต่ละวัน, จำนวนวันลาขั้นต่ำ, สิทธิในการลาคลอด/เลี้ยงดูลูก, การเข้าถึงระบบสาธารณสุขในเมือง, ผลกระทบและการเยียวยาในช่วงโควิด-19, ความปลอดภัยในเมือง, คุณภาพของอากาศในเมือง
ซึ่งรวมถึงมลพิษ PM 2.5 และ PM 10 ด้วย ฯลฯ แต่จะเน้นดูที่ชั่วโมงการทำงานในแต่ละวัน ผลที่ได้ก็คือ กรุงเทพมหานคร ถือเป็นเมืองที่ประชากรมีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานและชีวิตก็ขาดความสมดุลด้วย พูดง่าย ๆ ก็คือ เมืองแห่ง “Work-Life Balance ยอดแย่” นั่นเอง
ส่วนเมืองที่มีการทำงานสมดุลที่สุดในโลกของปี 2021 อยู่ที่ไหนบ้าง
- เฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ (ได้ 100 คะแนนเต็ม)
- ออสโล ประเทศนอร์เวย์ (ได้ 98.6 คะแนน)
- ซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (ได้ 91.5 คะแนน)
- สตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน (ได้ 91.4 คะแนน)
- โคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก (ได้ 90.4 คะแนน)
ในขณะที่หากดูเฉพาะปัจจัยเรื่องชั่วโมงในการทำงาน เมืองที่คนทำงานหนักสุดในโลกของปี 2021 ได้แก่
- ฮ่องกง เขตปกครองพิเศษของจีน
- สิงคโปร์ ประเทศสิงคโปร์
- กรุงเทพฯ ประเทศไทย
- บัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา
- โซล ประเทศเกาหลีใต้
คุณภาพชีวิตของคนทำงานที่ไม่ค่อยดีนัก
ผลสำรวจตามตารางใหญ่ ที่แสดงผลเมืองที่มีสมดุลการทำงานมากที่สุด กรุงเทพฯ อยู่ในอันดับรั้งท้ายตาราง คือ อันดับที่ 49 จาก 50 เมืองทั่วโลก มีคะแนนรวมชนะเฉือนชนะเพียงเมืองเดียวคือกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย (ชนะมาได้เพียง 1.3 คะแนน) และทิ้งห่างจากเมืองอันดับ 1 ของโลกอย่างเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ถึง 48.7 คะแนนเลยทีเดียว และเมื่อมองเรื่องชั่วโมงการทำงาน ก็พบว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีคนทำงานหนักมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของผลสำรวจนี้ (50 ประเทศ) ดังข้อมูลข้างต้น
การที่คนทำงานในกรุงเทพฯ มีชั่วโมงในการทำงานสูงเช่นนี้ ก็แปรผกผันกับประสิทธิภาพในการทำงาน ที่พบว่าหลายคนมีประสิทธิภาพในการทำงานอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ซึ่งอันที่จริงมันก็มีผลถึงกัน หลักง่าย ๆ ก็คือถ้าวันหนึ่ง ๆ คนเราทำงานหนักมากขนาดนั้น ทั้งสภาพร่างกาย สมอง จิตใจ คงไม่สามารถที่จะรับรู้อะไรได้อีกแล้ว
อย่างไรก็ตาม เกณฑ์ในพิจารณาการทำงานหนักมากเกินไปหรือไม่นั้น พิจารณาจาก ช่วงระยะเวลาในการทำงาน งานวิจัยนี้ใช้มาตรฐาน จากองค์การแรงงานระหว่างประเทศหรือ International Labour Organization (ILO) ที่ระบุว่า ผู้ที่ทำงานตั้งแต่ 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ขึ้นไป (นับวันทำงานอยู่ที่ 6 วัน วันละ 8 ชั่วโมง)
จะถือว่าเป็นคนที่ทำงานหนัก (Overworked) ง่าย ๆ คือทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ เฉลี่ยวันละ 8 ชั่วโมงขึ้นไป ซึ่งคนทำงานในกรุงเทพฯ หลายคนทำงานมากกว่า 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ บางคนทำงานโดยไม่มีวันหยุดเลยด้วยซ้ำไป!
ซึ่งองค์การแรงงานระหว่างประเทศหรือ International Labour Organization (ILO) ระบุว่า การทำงานที่สมดุลคือการทำงานสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง หรือคิดเป็นทำงานวันละ 8 ชั่วโมง และทำงานเพียง 5 วันต่อสัปดาห์เท่านั้น ซึ่งถ้าหากทำงานด้วยชั่วโมงการทำงานที่น้อยกว่านี้ ก็จะส่งผลถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้นั่นเอง
ทำงานหนักโดยไม่หาพัก แย่ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต
จากผลการศึกษาที่พบว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีคนทำงานหนักมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก โดยมีค่าเฉลี่ยจำนวนชั่วโมงการทำงานเกินกว่า 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
นั่นก็เท่ากับว่าผู้คนที่ทำงานในกรุงเทพฯ แห่งนี้ ล้วนทำงานหนักเกินกว่าที่คนเราควรจะทำเพื่อรักษาสมดุล เนื่องจากปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่เป็นตัวกำหนดให้คนกรุงเทพฯ ต้องทำงานให้มากและหนักขึ้น เพื่อแลกกับรายได้ที่มากขึ้น
เงื่อนไขที่จำเป็นต้องหาเงินให้มาก เพื่อให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิตในกรุงเทพฯ ที่มีค่าครองชีพสูง คนจึงต้องทำงานอย่างหนักและไม่ได้รับการพักผ่อนหรือการดูแลสุขภาพที่ดีพอ สำหรับแรงงานหลาย ๆ คน พบว่าการพักก็จะเท่ากับการขาดรายได้
การทำงานที่หนักมากเกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ทำให้หลายคนพักผ่อนน้อยและละเลยเรื่องการดูแลสุขภาพไป ส่วนสุขภาพจิตก็มีความเครียดในระดับสูง ทั้งที่ชั่วโมงการทำงานที่เหมาะสมของคนเราควรอยู่ที่ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์และทำงานสัปดาห์ละไม่เกิน 5 วันเท่านั้น
จัดสมดุลของชีวิต ก่อนที่จะสายเกินไป
“งานหนักไม่เคยฆ่าคน” มักเป็นคำพูดที่สื่อถึงการทุ่มเทให้กับการทำงาน แล้วจะได้รับผลตอบแทนที่ดี อย่างไรก็ตามถ้าใครคิดว่างานหนักไม่เคยฆ่าใคร ก็คงต้องคิดใหม่เสียแล้ว เพราะองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เปิดเผยผลการศึกษาว่าในแต่ละปี มีคนที่เสียชีวิตจากการทำงานหนักจำนวนมาก
ดังนั้น ต้องเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ว่า “งานหนักฆ่าคนได้นั้นมีอยู่จริง” ข้อมูลจากองค์กรอนามัยโลกระบุว่า มีคนที่ตายอันเนื่องมาจากการทำงานหนักปีละเกือบ 8 แสนคน! โดยในปี 2016 มีผู้เสียชีวิตจากการทำงานหนักมากถึง 745,000 คน เพิ่มขึ้นถึง 29 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปี 2000 โดยจำนวนผู้ที่เสียชีวิตจากการทำงานหนักนี้ แบ่งออกเป็นเสียชีวิตจากเส้นเลือดในสมองแตก 398,000 คน และเสียชีวิตจากโรคหัวใจ 347,000 คน
นอกจากนี้ ผลการศึกษานี้ยังได้บอกว่า การทำงาน 55 ชั่วโมงขึ้นไปต่อสัปดาห์ มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้นประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์ และความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือดสูงขึ้น 17 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับการทำงานจำนวน 35-40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
ถึงอย่างนั้น ไม่ได้หมายความว่าคนที่ทำงานหนักจะมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตทันทีหรือจะเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้ เพราะผลการศึกษาพบว่าคนที่เสียชีวิตจากการทำงานหนักในช่วงอายุ 60-79 ปีนั้น เป็นคนที่เคยทำงานหนักมากกว่า 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ตั้งแต่ช่วงอายุ 45-74 ปีมาก่อน
เพราะฉะนั้น ถ้าไม่อยากตายไวหรือตายก่อนที่จะได้ใช้เงินที่พยายามทำงานอย่างหนักเพื่อหามา อย่าลืมหันมาใส่ใจกับสมดุลของชีวิด รักษาช่วงเวลาการทำงานไม่ให้มากเกินไปจนตัวเองรับไม่ไหว หมั่นดูแลสุขภาพของตนเองทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจเป็นอย่างดี เพื่อที่จะได้มีโอกาสได้มีชีวิตอยู่ต่อเพื่อค้นพบความสุข