วันสืบ นาคะเสถียร วีรบุรุษผู้ทวงคืนผืนป่า
สืบ นาคะเสถียร ชายผู้จุดไฟสัญลักษณ์แห่งการอนุรักษ์ป่าด้วยชีวิต ผู้ให้กำเนิดมรดกโลกห้วยขาแข้ง สู่แก่งกระจาน ในปัจจุบัน
เมื่อกล่าวถึงบุคคลผู้ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และสร้างความตื่นตัวให้กับสังคมไทยในการอนุรักษ์ผืนป่า และทรัพยากรธรรมชาติอันมีค่า จะต้องมีชื่อของ “คุณสืบ นาคะเสถียร” อย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสียสละในการทำงานเพื่อการอนุรักษ์ผืนป่า และการเสียสละที่ทำให้ผืนป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ แม้ว่าความสำเร็จดังกล่าวจะแลกมาด้วยชีวิตของคุณสืบก็ตาม
ในปัจจุบันประเทศไทยของเรามีมรกดโลกทางธรรมชาติอยู่ทั้งหมด 3 แห่งครับ ที่แรก คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ซึ่งคุณสืบ นาคะเสถียร พยายามผลักดันให้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกตั้งแต่ปี 2531 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะในเวลานั้นความตื่นตัวทางด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติของคนไทยยังมีไม่มากพอครับ
แต่หลังจากการจากไปของคุณสืบ เพียง 1 ปี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความสำคัญในเชิงนิเวศวิทยา เนื่องจากได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทยในปี 2534
เรียกได้ว่า นอกจากการสละชีวิตของคุณสืบ จะสามารถปลุกกระแสการอนุรักษ์ธรรมชาติให้กับคนไทยแล้ว ยังสามารถทำให้โลกหันกลับมามองเห็นความสำคัญของผืนป่า และทรัพยากรทางธรรมชาติของไทยอีกด้วยครับ
ต่อมาในปี 2548 ประเทศไทยก็ประสบความสำเร็จในการขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติปางสีดา อุทยานแห่งชาติตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่
และล่าสุดในปี 2564 ประเทศไทยของเราก็สามารถขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติได้สำเร็จเป็นแห่งที่ 3 ของประเทศครับ โดยพื้นที่ของกลุ่มป่าแก่งกระจานประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี ซึ่งมีลักษณะเป็นผืนป่าขนาดใหญ่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก และเป็นแหล่งที่อยู่ของชนิดพันธ์พืชและพันธ์สัตว์ที่หลากหลาย และมีแนวโน้มใกล้สูญพันธ์หลายชนิด
สำหรับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางธรรมชาติของกลุ่มป่าแก่งกระจาน ต้องขอเรียนว่าเป็นขั้นตอนที่ไม่ง่ายเลยครับ เพราะนอกจากจะต้องแสดงให้เห็นถึงความสำคัญในทางนิเวศวิทยาตามหลักเกณฑ์แล้ว คณะกรรมการของยูเนสโกยังมีข้อเสนอให้รัฐบาลไทยมีการปรับปรุงข้อกังวลต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนของชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งแม้จะต้องกลับมาทบทวนกันหลายครั้ง แต่ด้วยความพยายามและความร่วมมือกันของทุกฝ่าย ในที่สุดก็ประสบความสำเร็จในการขึ้นทะเบียนมรดกโลก หลังจากที่พยายามกันมานานกว่า 16 ปี ครับ
การขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางธรรมชาติ ทั้ง 3 แห่งนั้น ถือเป็นความสำเร็จที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของพวกเราทุกคน ที่จะรักษาป่าไม้ ระบบนิเวศ และทรัพยากรธรรมชาติ ตามเจตนารมณ์ของคุณสืบ นาคะเสถียร ชายผู้จุดไฟสัญลักษณ์แห่งการอนุรักษ์ด้วยชีวิตของตัวเองครับ






















