วีรสตรีแห่งล้านนา พระนางจิรประภาเทวี สตรีผู้ปรากฏในภาพยนตร์พระนาเรศวร
ครบ 20 ปี กับภาพยนตร์เรื่องสุริโยไท ที่ได้เข้าฉายเป็นวันแรก 17 สิงหาคม 2544 ซึ่งเป็นภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ของอยุธยา โดยเป็นการนำประวัติ ของสมเด็จพระศรีสุริโยไท พระมเหสีในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยามาถ่ายทอดในรูปแบบภาพยนต์สุดอลังการ
ภาพยนต์เรื่องนี้ยังได้ปรากฏตัวของวีระสตรีอีกพระองค์หนึ่งในคราวเดียวกัน คือพระนางเจ้าจิรประภามหาเทวี กษัตรีย์แห่งล้านนา เป็นฉากที่พระนางเจ้าจิรประภามหาเทวีเสด็จออกเวียงทางประตูช้างเผือก มีการอัญเชิญเครื่องสักการะล้านนามาถวายต้อนรับพระไชยราชาธิราชแห่งอยุธยาเมื่อคราวยกทัพหมายตีนครเชียงใหม่ ในคราวนั้นพระนางโปรดให้พระไชยราชาธิราชประทับอยุ่นอกเมืองที่เวียงเจ็ดรินและได้ร่วมกันสร้างพระเจดีย์ ณ วัดโลกโมลี ติดคูเมืองด้านเหนือของเวียงไว้เป็นอนุสรณ์สัมพันธไมตรีระหว่างล้านนาและอยุธยา
อีกสิ่งหนึ่งที่ยังตราตรึงในใจหลายคนคือ เพลงแม่ดำโปน(วงต๊กเส้ง) เพลงโบราณในถิ่นเมืองลำปางที่ถูกฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง
พระนางจิรประภามหาเทวี (มหาเทวี เป็นคำเรียกผู้ที่เป็นพระมเหสีของกษัตริย์รัชกาลก่อน และเป็นพระมารดาของกษัตริย์รัชกาลต่อมา) เป็นมเหสีของพญาเกศ หรือพญาเกศเชษฐราช กษัตริย์ราชวงศ์มังรายลำดับที่ 12 และ ลำดับที่ 14 (เพราะครองราชย์ 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2068-2081 และครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2086-2088) มีโอรส 2 องค์ คือ ท้าวชาย หรือซายคำ และเจ้าจอมเมือง
เมื่อพญาเกศครองราชย์ครั้งแรกนั้น พระองค์มีนโยบายที่จะรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ทำให้ขุนนางกลุ่มหนึ่งซึ่งมีหมื่นสามล้านเป็นผู้นำไม่พอใจ ขุนนางกลุ่มนี้จึงคิดก่อการกบฏ
แต่พญาเกศทรงทราบเสียก่อน หมื่นสามล้านถูกประหารชีวิต จึงยิ่งเพิ่มความขัดแย้งมากขึ้น
กระทั่ง พ.ศ.2081 พญาเกศก็ถูกปลดออกจากตำแหน่งกษัตริย์และถูกส่งไปครองเมืองน้อย ส่วนเมืองเชียงใหม่นั้นขุนนางได้ตั้งท้าวชายขึ้นเป็นกษัตริย์แทน แต่พระองค์ครองราชย์ได้เพียง 6 ปี ก็ถูกปลงพระชนม์
เมื่อ พ.ศ.2086 แล้วขุนนางก็ไปเชิญเสด็จพญาเกศมาปกครองเมืองเชียงใหม่ อีกครั้งหนึ่ง แต่อีก 2 ปีต่อมา คือ พ.ศ.2088 พญาเกศก็ถูกขุนนาง ซึ่งมีแสนคราวเป็นผู้นำปลง พระชนม์
ในช่วงที่แผ่นดินล้านนาว่างกษัตริย์นี้ บ้านเมืองมีแต่ความวุ่นวาย ขุนนางแตกแยกเป็นหลายกลุ่ม และต่างก็แย่งชิงอำนาจกัน โดยพยายามสนับสนุนคนของตนขึ้นเป็นกษัตริย์ แต่ในที่สุดกลุ่ม เชียงแสน ซึ่งประกอบด้วย เจ้าเมืองเชียงแสน เจ้าเมืองเชียงราย เจ้าเมืองลำปาง และเจ้าเมืองพาน สามารถกำจัดกลุ่มแสนคราวได้ จึงได้ไปเชิญเสด็จพระไชยเชษฐาธิราช แห่งอาณาจักรล้านช้าง มาเป็นกษัตริย์เชียงใหม่
พ.ศ.2088 ระหว่างรอการเสด็จมาของพระไชยเชษฐาอยู่นี้ บรรดาขุนนางได้เชิญมหาเทวี จิรประภาขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองเมืองเชียงใหม่ สันนิษฐานว่าขณะนั้นพระนางคงมีพระชนมายุราว 45 ชันษา
พ.ศ.2088 พระไชยราชาธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยายกทัพมาตีเชียงใหม่ มหาเทวีเห็นว่าจะสู้ ไม่ได้ จึงใช้ยุทธวิธีแต่งบรรณาการไปถวายและต้อนรับด้วยสัมพันธไมตรี โดยเชิญเสด็จพระไชยราชาประทับที่เวียงเจ็ดลิน ทำให้เชียงใหม่รอดพ้นจากภัยสงครามไปได้
ต่อมา ในปลายปีนั้นเอง กองทัพจากเมืองนายและเมืองยองห้วยยกมาตีเชียงใหม่ มหาเทวีสั่งให้กองทัพเชียงใหม่สู้ศึกเต็มที่
ข้าศึกล้อมเชียงใหม่นานเดือนเศษ จึงล่าถอยไป
เนื่องจากในช่วงปีนี้มีข้าศึกยกทัพมาประชิดถึง 2 ครั้ง
ทำให้มหาเทวีต้องขอกำลังจาก ล้านช้างให้มาช่วย ซึ่งกองทัพล้านช้างก็ได้ช่วยทำศึกอย่างเต็มความสามารถ
โดยใน พ.ศ.2089 พระไชยราชาได้ยกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่และลำพูนอีก มหาเทวีพยายามเจรจาขอเป็นไมตรี แต่ ไม่สำเร็จ เมืองลำพูนถูกตีแตก
ในขณะที่เมืองเชียงใหม่สามารถต้านทัพอยุธยาไว้ได้ กองทัพอยุธยาจึงล่าถอยไป
ปลายปี พ.ศ.2089 หลังศึกสงครามกับอยุธยา
เมื่อพระไชยเชษฐาธิราชเสด็จมาถึงเชียงใหม่ มหาเทวีจิรประภา ในฐานะผู้รั้งเมือง จึงทรงสละราชสมบัติทันที และเมื่อพระไชยเชษฐาเสด็จกลับเพื่อไปครองล้านช้าง
ในปี พ.ศ.2090 พระองค์หวังจะให้มหาเทวีรักษาเมืองอีกครั้ง แต่พระนางปฏิเสธ
ไม่ปรากฏในหลักฐานใดๆ ว่ามหาเทวีจิรประภาสิ้นพระชนม์เมื่อใด อย่างไรก็ตาม อาจกล่าวได้ว่า แม้จะเป็นเวลาเพียงปีเศษ ที่พระนางได้ปกครองเมืองเชียงใหม่
แต่พระนางก็สามารถรักษาเมืองให้รอดพ้นจากภัยพิบัติได้ ทั้งนี้ก็พราะความรู้ความสามารถของพระนางนั่นเอง
ขอบคุณข้อมูลภาพ