มา "แกงหน่อไม้ แบบภาคอีสาน" กันจ้าา
วันนี้ ได้หน่อไม้สด ใบย่านาง และผักอื่นๆ มากจากการที่ญาติทางต่างจังหวัดส่งมาให้
เช็คๆ ดูแล้วอุปกรณ์เครื่องแกงหน่อไม้ ถือว่าครบเซ็ตเกือบ 99%
ปิ๊ง!!
ไอเดียเกิดทันที เราจะแกงหน่อไม้ แต่จะแกงทั้งที ทำ Content ให้เพื่อนๆ ได้อ่าน/ดู ซักหน่อยก็ดี ..
หน่อไม้นี่ ถือว่าเป็นพืชไม้ประจำชาติไทยเราก็ว่าได้นะ มีอยู่ในพื้นที่ทั่วไปของบ้านเรา โดยเฉพาะต่างจังหวัด.. เรียกว่าเยอะมาก ทั้งไผ่ป่า ไผ่บ้าน ไผ่ปลูก จะบอกว่า "ไม่มีอะไรในกอไผ่" ไม่ได้ละ ในกอไผ่มีหน่อไม้ไง ..
ก็ไม่พูดเยอะนะ เตรียมการเลยก็แล้วกัน
หน่อไม้ที่ได้มาสดๆ (ยังสดอยู่เพราะเขาตัดเมื่อวานส่งมาถึงเช้านี้ปลอกเปลือกแล้ว) เอามาซอยเป็นแผ่น/ชิ้นบางๆ เล็กๆ (ทางบ้านเรียกจักเป็นริ้วๆ)
เสร็จแล้ว หน่อไม้ยังขมอยู่
จากนั้นจัดใส่หม้อต้ม ใส่น้ำสะอาดพอประมาณต้มสุก คือ ต้มให้จืด หายจากความขม ใส่เกลือซัก 1 ช้อนแกง หน่อไม้จะได้จืดเร็วขึ้น
ยกขึ้นตั้งไฟ ต้มไปเรื่อยๆ จนกว่าหน่อไม้จะหายจากรสขม
ระหว่างรอต้มหน่อไม้ให้หายขม เราก็มาเตรียมเครื่องแกงประกอบ
ได้แก่ พวกผักต่างๆ (สมุนไพรพื้นบ้านทั้งนั้น)
ลูกบวบ จะบวบเหลี่ยม บวบกลม ก็ล้างสะอาด เอาหั่นเป็นชิ้นๆ
มะเขือพวง ล้างและเด็ดออกจากขั้วให้เรียบร้อย
กระชาย ล้าง และทุบให้แตก (กินกระชายช่วงนี้ เข้าสถานการณ์เลยล่ะ)
ชะอมและใบแมงลัก (ผักอีตู่) อันนี้สำคัญ ไม่ใส่ไม่ได้ ถ้าไม่ใส่ก็จะเหมือนขาดอะไรไปสักอย่าง
ฟักทอง ปอกเปลือก หั่นเป็นชิ้น ล้างน้ำเตรียมไว้
รวมๆ ผักที่จะใช้แกงกับหน่อไม้ในรอบนี้
จริงๆ ก็ใส่ได้อีกตั้งหลายอย่างนะ เช่น เห็ดหูหนู (นี่สุดยอดเลย) เห็ดขอน เห็ดอื่นๆ กุดจี่ จีนูน ก็จัดไปนะถ้ามีหรือเตรียมได้
ต่อมา.. ใบไม้ที่เป็นหัวใจหลักของแกงหน่อไม้
ถ้าไม่มีใบย่านาง ไม่ต้องแกงหน่อไม้นะ แกงได้แต่เรียกแกงอย่างอื่น
ล้างน้ำให้สะอาด เพราะย่านางเป็นพืชเถาวัลย์ มีฝุ่นดินเกาะเยอะ
ล้างเสร็จ ก็ใส่น้ำสะอาดอีกครั้ง ใส่พอประมาณแกงหน่อไม้ แล้วขยี้ ยีใบย่านางให้ช้ำ คั้นให้ได้น้ำย่านาง แล้วกรองเอาเฉพาะน้ำ ตามภาพ
เสร็จในส่วนของการเตรียมน้ำ
แล้วก็เตรียมข้าวเบือ ต่อ (ทางบ้านเรียก "ข้าวเบือ")
ข้าวเบือ จะช่วยให้น้ำแกงหน่อไม้มีความเข้มข้น เวลาซดน้ำแกง รู้สึกติดลิ้น ติดคอ ได้รสชาติดี
เอาข้าวสาร (ข้าวเหนียว) ไม่มาก ประมาณ 1 ทัพพี ใส่ภาชนะ แช่น้ำ หม่าทิ้งไว้จนข้าวสารนิ่ม
(ระหว่างรอข้าวสารนิ่ม ก็เตรียมอย่างอื่นรอได้)
กลับไปดูหน่อไม้ที่ต้มไว้
ชิมดูว่าหน่อไม้ที่ต้มไว้ จืด หายขม หรือยัง
ถ้าหายแล้ว ก็ตักเอาหน่อไม้ กรองน้ำต้มเก่าทิ้ง ล้าง 1 น้ำ
แล้วนำใส่หม้อที่จะใช้แกง
เทน้ำใบย่านางที่เตรียมไว้ลงไป
ยกขึ้นเตา ต้มให้เดือดอีกครั้ง
ระหว่างรอ เรามาตำข้าวเบือ
ตำให้ละเอียด
แล้วใส่พริกตามลงไป ตำไม่ต้องละเอียดมาก พอพริกแตก
เวลาที่ใส่ข้าวเบือลงหม้อแกง ให้ตักข้าวเบือใส่ถ้วยแล้วตักน้ำย่านางที่กำลังต้มหน้อไม้อยู่
เอามาคลุก ละเลง ให้ข้าวเบือแตกตัวก่อน
เวลาใส่ลงไปในหม้อแกงที่น้ำย่านางกำลังเดือด ข้าวเบือจะได้ไม่จับกันเป็นก้อน
ต้มต่อไปประมาณ 5 นาที
ใส่มะเขือพวง และกระชาย ที่เตรียมไว้
และอีกสเต็ปที่สำคัญ ที่เรียกแกงหน่อไม้ภาคอีสาน คือใส่น้ำปลาร้า
น้ำปลาร้า (มีตัวปลาด้วย) เตรียมไว้แล้ว
(ไม่ต้องรังเกียจเค๊าน๊าาาา)
เตรียมกระชอนในหม้แกง ที่น้ำย่านางกำลังเดือด แล้วเทน้ำปลาร้าลงในกระชอน
ทิ้งไว้ซะระยะให้เนื้อปลาร้าเปลื่อย ละลายไปกับน้ำแกง
แล้วยกขึ้น เอาเศษก้างทิ้ง
ใส่ผงปรุงรสซักหน่อยนึง (จริงๆ ใส่ช่วงสุดท้ายก็ได้นะ)
ใส่ฟักทอง แล้วต้มต่อประมาณ 3-5 นาที ให้ฟักทองสุก
แล้วใส่บวบลงไป
ต้มต่อจนบวบสุก (จะเห็นเนื้อใสๆ)
แล้วใส่ผักอื่นๆ ตาม ได้แก่ ชะอม ใบแมงลัก
ความหอมลอยเตะจมูก (เงิบ..) เลยทีเดียว
ประมาณ 2-3 นาที ชะอม แมงลักสุก
ก็ ชิม ปรุงรสเพิ่ม ขาดเค็ม เติมน้ำปลา ขาดนัว ก็เติมผงปรุงรสได้อีก ตามใจคนกิน
อร่อยได้ที่แล้ว ก็ตักเสิร์ฟได้เลย
น่ากินป่าวว ฮุฮุ