วัดบ้านแสนแห่งเชียงตุง..งดงามด้วยสถาปัตยกรรมล้านนาผสมไทลื้อ
วัดบ้านแสนเป็นวัดโบราณเก่าแก่ที่มีประวัติย้อนไปถึงรัชสมัยของพญากือนาแห่งอาณาจักรล้านนา ( ราชธานีเชียงใหม่ )
วัดแห่งนี้ตั้งอยู่รัฐฉานตะวันออก เป็นวัดของหมูบ้านลัวะซึ่งตั้งอยู่บนภูเขาสูงไกลออกไปทางทิศเหนือของเมืองเชียงตุงอยู่บนเส้นทางจากเชียงตุงไปเมืองลา
วัดบ้านแสนเป็นวัดในอนุนิกายเชียงใหม่ ( โยนกึง ) กล่าวคือในสมัยโบราณนั้นรัฐฉานตะวันออกและส่วนหนึ่งของรัฐฉานตะวันตกที่อยูติดกับแม่น้ำสาละวินเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนา
โดยมีเมืองเชียงตุงและเมืองนายเป็นเมืองลูกหลวงของราชธานีเชียงใหม่อันเป็นยุคสมัยที่อาณาจักรล้านนายังเป็นมหาอำนาจในเอเซียอาคเนย์ตอนบน
อารยธรรมทางพุทธศาสนาในอนุนิกายเชียงใหม่จึงขยายตัวจากเชียงใหม่ขึ้นไปถึงดินแดนตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลยูนนาน( สมัยนั้นยังไม่มีทั้งรัฐฉานและมณฑลยูนนาน )
ดังนั้นในรัฐฉานตะวันออกของพม่าในปัจจุบันจึงมีวัดอยู่มากมายซึ่งในจำนวนนี้เป็นวัดที่มีมาแต่โบราณจากยุคล้านนาไม่ใช่น้อย
สถาปัตยกรรมของวัดในรัฐฉานจะวันออกจะมีอยู่ ๒ แบบคือ
๑ แบบสถาปัตยกรรมล้านนา ซึ่งผมจะขอเรียกว่า “สถาปัตยกรรมล้านนาสกุลช่างเชียงตุง”เพราะมีลักษณะเฉพาะตนออกไป ซึ่งจะทำให้ดูแตกต่างไปจากสกุลช่างเชียงใหม่ สกุลช่างลำปาง หรือสกุลช่างพะเยา
๒ แบบสถาปัตยกรรมไทลื้อ ซึ่งจะมีลักษณะเฉพาะบางประการของผังที่แตกต่างไปจากสถาปัตยกรรมล้านนาไป แต่อย่างไรก็แล้วแต่แม้จะมีลักษณะเฉพาะบางประการที่แตกต่างออกไป แต่ลักษณะโดยรวมและความรู้สึกที่ผู้คนมีต่อภาพทางสถาปัตยกรรมจะคล้ายคลึงกับสถาปัตยกรรมล้านนามาก เช่นหลังคามุงด้วยกระเบื้องดินขอ รูปทรงของหลังคาจะลาดต่ำลงมาใกล้พื้นดินมาก มีโครงสร้างรับหลังคาแบบมั้งตั่งไหม เป็นต้น ในความเห็นส่วนตัวของผม เข้าใจว่าสถาปัตยกรรมของลื้อ( ไทลื้อ )น่าจะปรับรูปแบบไปจากสถาปัตยกรรมล้านนาให้เหมาะสมกับสภาพดินฟ้ากาศที่มีความหนาวเย็นและสภาพลม-ฝนในดินแดนแถบนั้น เช่นการมีหลังคาปีกนกคลุมออกมาทางด้านสกัดทั้งหน้า-หลัง
ดินแดนในรัฐฉานตะวันออกน่าจะเป็นดินแดงแห่งเดียวของคนชาติพันธุ์ไท-ลาวที่ยังหลงเหลือสถาปัตยกรรมดังเดิมที่บริสุทธิ์อยู่เยอะมาก ทั้งสถาปัตยกรรมล้านนาและสถาปัตยกรรมลื้อ ( ยังไม่มีอิทธิของพม่าและจีนเข้ามาปะปนหรือมีน้อยมาก )ทำให้ดูงดงามคลาสสิคตระการตา เมื่อเราไปยืนอยู่ที่วัดเหล่านี้จะรู้สึกเหมือนลอยละลิ่วย้อนกาลเวลาไปสู่ยุคโบราณ
แต่อย่างไรก็แล้วการเปลี่ยนแปลงกำลังเริ่มทะลักเข้ามาอย่างน่าใจหาย เช่นในลาวเหนือวัดสำคัญในสถาปัตยกรรมลื้อในเมืองอูเหนือได้รับการบูรณะโดยช่างจากจีนที่ไม่มีความรู้เพียงพอมาซ่อมแซมผิดไปจากสภาพดั้งเดิมไปมากอย่างหน้าเสียดาย เช่นของเดิมเป็นกระเบื้องดินขอแต่ช่างจีนกลับไปเอากระเบื้องกาบของจีนมาใส่
สถาปัตยกรรมที่วัดบ้านแสนมีทั้งสถาปัตยกรรมแบบล้านนาและศิลปะไทลื้อผสมผสานกัน โดยที่วิหารหลวงเป็นสถาปัตยกรรมล้านนาสกุลช่างเชียงตุง และมีอาคารประกอบบางหลังเป็นสถาปัตยกรรมไทลื้อ
ขอบคุณภาพจฝากเพจ “รักเชียงตุง”
เมื่อก่อนอาณาจักรสยามก็กว้างใหญ่จริงๆ