"ทิม พิธา" สรุปอภิปรายการใช้งบที่สร้างบ้าน สร้างความหวังให้คนไทยอีกครั้ง
ยุคสมัยเปลี่ยนไปแล้ว เราไม่อาจใช้ชุดวิธีคิดแบบเดิมๆแล้วคาดหวังผลลัพธ์แบบใหม่ๆ ได้ อะไรที่เคยใช้ได้ในอดีต ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถใช้ได้ต่อไปในอนาคต งบประมาณแบบเก่าๆ ซ้ำซาก ไร้จินตนาการ จะสามารถทำให้ประเทศไปต่อได้
งบประมาณฉบับนี้ไม่มีความหวังเลยในการออกจากวิกฤต หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงงบประมาณอย่างเด็ดขาด ถอนรากถอนโคน ต้องเปลี่ยนวิธีคิด วิธีจัดทำงบประมาณใหม่ให้สอดคล้องกับสถานณ์ที่เป็นอยู่ ประเทศจะฟื้นหรือจะฟุบ วัดกันที่งบประมาณฉบับนี้
หากก้าวไกลได้ทำงบประมาณ จะเอาเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง หลักคิดคือ ต้องเริ่มจากคนที่เปราะบางที่สุดในสังคม คิดถึงเด็กที่หิวโหย คนแก่ที่เจ็บป่วย แม่เลี้ยงเดี่ยวที่ทำงานเลี้ยงลูก เราต้องคิดว่าจะโอบอุ้มคนกลุ่มนี้อย่างไร แต่งบประมาณฉบับนี้กลับตัดงบประมาณสวัสดิการของคนกลุ่มนี้ลงมากถึง 35,000 ล้านบาท นี่คือฉากเริ่มต้นความโหดร้ายของงบประมาณฉบับนี้
อิฐก้อนแรก คือ คนแก่เฒ่าในวันนี้ คือคนที่สร้างประเทศในยุคสมัยที่ประเทผมกำลังเติบโต ทุกวันนี้คนชราได้เบี้ยเพียง 600 บาทต่อเดือน เงินเท่านี้จะทำให้คนชรามีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีได้อย่างไร และเรากำลังจะเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ
พรรคก้าวไกลจึงเสนอให้คนชราต้องได้บำนาญแห่งชาติ อย่างถ้วนหน้า ในฐานะพลเมือง ไม่ใช่ผู้อนาถา ที่รัฐมองเขาเป็นภาระที่ต้องช่วยเหลืออีกต่อไป
อิฐก้อนต่อไป คือ เด็กปฐมวัย เด็กไทย 1 ใน 5 คนยังยากจนอยู่ สวัสดิการเด็กปฐมวัยต้องถ้วนหน้า ไม่ให้ใครตกหล่น ซึ่งรัฐบาลประกาศตั้งแต่ปี 2563 ว่าจะให้สวัสดิการเด็กกลุ่มนี้ถ้วนหน้า ใช้งบประมาณ 30,000 ล้านบาท แต่ปีนี้กลับจัดงบมาเพียง 17,000 ล้านบาท เราจะใช้อะไรเป็นเกณฑ์วัดว่าใครได้หรือไม่ได้ เราเป็นผู้ใหญ่แบบไหนกันที่มองอนาคตของเด็กๆ เป็นเรื่องเล่นๆ อนาคตของเด็กจะมาคนละครึ่งไม่ได้
อิฐก้อนที่สาม คือ การศึกษา โควิดทำให้พัฒนาการของเด็กลดลง พ่อแม่ตกงาน ทำให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา รัฐบาลไม่แยแสใดๆ ต่อวิกฤตทางการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ที่ต้องช่วยเด็กด้อยโอกาสให้ได้รับการศึกษาในยามวิกฤตแบบนี้ ถูกตัดงบ 400 ล้านบาท เด็กกว่า 700,000 คน ที่ได้รับการสรับสนุนจากงบนี้ จะไม่ได้รับการสนับสนุนในปีนี้ แล้วอย่างนี้ คนรุ่นใหม่จะมีความหวังกับรัฐบาลนี้ ไม่อยากย้ายประเทศได้อย่างไร
ถ้าก้าวไกลเป็นรัฐบาล งบรายหัวของเด็กต้องไม่มีลด เด็กต้องได้รับการศึกษามากขึ้น ครูต้องได้รับความพร้อมมากขึ้น
อิฐก้อนต่อไป คือ การสาธารณสุข รัฐบาลต้องเตรียมวัคซีนเข็มที่ 3 สำหรับคนไทย แม้เราจะมีระบบสุขภาพถ้วนหน้า แต่ระบบสาธารณสุขที่ทุกคนเข้าถึงได้ยังคงห่างไกลความเป็นจริง คนไทยยังคงมีสิทธิได้รับการรักษาชีวิตที่ไม่เท่าเทียมกัน รัฐจะฟื้นฟูประเทศจากโควิดได้อย่างไร ถ้างบสาธารณสุขถูกตัด 4,000 ล้านบาท บัตรทองถูกตัด 2,000 ล้านบาท ในยามที่ประชาชนตกงาน ต้องหันมาใช้บัตรทองมากขึ้น
นี่คือวิสัยทัศน์ของพรรคก้าวไกลในขั้นแรก คือ “สวัสดิการคุ้มครองทางสังคม”
อิฐทั้ง 4 ก้อนนี้ คือ สวัสดิการทางสังคม เป็นชั้นแรกของบ้าน ไม่ว่าจะเปราะบางแค่ไหน ก็จะมี safety net คอยรองรับในยามบ้านเมืองวิกฤต ทุกคนต้องมีสิทธิอย่างเท่าเทียมกัน.
เมื่อรัฐสวัสดิการอันเป็นเรื่องของสิทธิ ไม่ใช่เรื่องของการสังคมสงเคราะห์ ได้ก่อร่างสร้างตัว ลูกหลานของเราได้รับการดูแล พ่อแก่แม่เฒ่าได้รับการดูแลแล้ว วัยทำงานทั้งหมดก็จะพร้อมทุ่มสรรพกำลังไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ
เมื่อพรรคก้าวไกลได้จัดงบเศรษฐกิจ เราต้องมาดูภาคเศรษฐกิจที่เปราะบางเสมอมาในเศรษฐกิจไทย และวิกฤตมานานแล้วก่อนเกิดโควิด ก็คือภาคการเกษตร ที่คนตัวเล็กตัวน้อยต้องมาแบกรับภาระหนี้ แบกรับความเสี่ยง จากราคาที่ผันผวน และจากสภาพดินฟ้าอากาศ
แต่ไหนแต่ไรมา เกษตรกรก็ไม่ได้รับการเหลียวแลอย่างจริงจังเสียที จากเอกสารงบประมาณปี 2520 หรือกว่า 40 ปีผ่านมาแล้ว หรือชั่วชีวิตของทิม พิธา ปัญหารีบด่วนที่ต้องแก้ไขในขณะนั้น คือ ภาวะหนี้สินของชาวนา ไม่มีที่ดินทำกิน ราคาผลิตผลราคาตกต่ำ ซึ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ยังไม่ได้รับการแก้ไขตั้งแต่วันนั้นตนถึงวันนี้
มาดูงบปี 2565 รัฐบาลยังมีจินตนาการว่าภาคการเกษตรจะดูดซับแรงงานที่ตกงานในเมืองไปยังท้องถิ่น เหมือนตอนวิกฤตต้มยำกุ้ง หารู้ไม่ว่าภาคการเกษตรไม่เติบโตมา 7 ปีแล้ว งบประมาณของเกือบทุกกรมในกระทรวงเกษตรลดลง ยกเว้นกรมชลประทาน ที่ได้งบเพิ่มขึ้นเป็น 70,000 กว่าล้านบาท
งบของกรมชลประทานมีมากกว่างบของกระทรวงแรงงานรวมกับกระทรวงยุติธรรม ทั้งๆ ที่ กระทรวงต้องใช้เงินเยียวยาแรงงานที่ตกงานนับล้านคน กระทรวงยุติธรรมต้องใช้เงินดูแลการระบาดในเรือนจำ แม้จะได้เงินเยอะ แต่กรมชลประทานใช้งบไม่ถูกจุด เกาไม่ถูกที่คัน ไม่ตรงความต้องการ ถ้ายังใช้งบแบบนี้ อีก 142 ปีถึงจะแก้ปัญหาน้ำได้ ดังนั้น ต้องกระจายอำนาจในการบริหารจัดการน้ำ ให้คนในท้องถิ่นตัดสินใจ ไม่มีใครรู้ปัญหาของพวกเขาดีไปกว่าพวกเขาเอง ก้าวไกลจะไม่ยอมให้งบก้อนนี้ เอามาสร้างแต่เขื่อนใหญ่ๆ ที่ไม่ตอบโจทย์น้ำท่วมและน้ำแล้งในไทย
แต่จะแก้ปัญหาการเกษตรได้ เราต้องกลัดกระดุมเม็ดแรกอย่างที่ดินให้ถูกก่อน ที่ดินในไทยมากกว่าครึ่งเป็นของรัฐบาล แต่รัฐดันประกาศพืเนที่ป่าทับบนที่ดินทำกินของชาวบ้านที่เขาอยู่มาก่อน สร้างปัญหาเป็นคดีความตามมานับหมื่นคดี
งบประมาณที่ดินจะต้องสะท้อนจินตนาการใหม่ของที่ดิน เพื่อแก้ปัญหาที่กินทำกิน ต้องเลิกแนวคิดที่อังกฤษสอนเรายุคล่าอาณานิคม ที่ให้กรมป่าไม้ผูกขาดป่าทั้งหมด เลิกแนวคิดอเมริกาช่วงสงครามเย็น ที่ต้องไล่คนออกจากอุทยานทั้งหมด แต่เราต้องใช้โมเดลตามโลกสมัยใหม่ ต้องรับรองสิทธิชุมชน ในการจัดการทรัพยากร
แต่พอมาดูงบกรมอุทยาน มีโครงการปรับปรุงแผนที่ ตรวจสอบ และแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ วงเงิน 281 ล้านบาท แต่เป็นงบที่ดินก่อสร้างสำนักงานไปแล้ว 200 ล้านบาท หรือจะเป็นนโยบาย ครช. มีงบ 17 ล้านบาท เป็นเบี้ยประชุมไปแล้ว 10 ล้านบาท นี่คือการจัดงบแบบเอารัฐราชการเป็นศูนย์กลาง แม้เป้าหมายของการใช้เงิน คือการแก้ปัญหาที่ดินทำกิน เพื่อประชาชน แต่ประชาชนได้ประโยชน์อะไร ?
การพัฒนาเศรษฐกิจในอดีต ล้วนหมายถึงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ แล้วเราหวังว่าเมื่อรดน้ำที่ยอด แล้วะค่อยๆ หยดลงมาที่ราก แต่พิสูจน์แล้วว่าเศรษฐกิจแบบบนลงล่างล้มเหลว เราต้องหันมารดน้ำที่ราก เพื่อสร้างอนาคตใหม่ให้ประเทศ แรงงานไทยส่วนมากเป็นแรงงานนอกระบบ ที่ต่อให้ตกงานเป็นล้านๆ คน ก็ไม่มีใครเก็บตัวเลข เก็บสถิติ
คำว่า upskill reskill ในหูของคนที่ตกงาน คงเป็นคำพูดที่น่ารำคาญ ยิ่งถ้าคนที่ไปดูหลักสูตรของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ที่มีให้เลือกยิ่งหมดหวัง แทนที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจะได้พัฒนาฝีมือของตัวเองขึ้นมาก่อน กลับถูกตัดงบประมาณลงไปถึง 10% เป้าหมายในการช่วยพัฒนาฝีมือแรงงานลดลงถึง 6,000 คน
ดังนั้น คำว่า upskill reskill ต้องไม่ใช่แค่คำพูดที่สวยหรู แต่เราต้องรู้ว่าเราทำไปเพื่อเอาไร งานอยู่ที่ไหนที่จะมารองรับ skill ของพวกเขา ซึ่งรัฐต้องเป็นหัวหอกในการจ้างงาน
นี่คือชั้นที่สองของวิสัยทัศน์ บ้านงบประมาณใหม่ของประเทศไทย “สร้างงานสร้างอาชีพ” เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องในระยะสั้น แล้วเชื่อมโยงไปถึงหลังคาบ้านในระยะยาว
หลังคาบ้านก็คือ การพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขัน ความท้าทายต่างๆ ในประเทศ สามารถเปลี่ยนเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจได้ทั้งสิ้น เช่น อุตสาหกรรม Care Economy หรืออุตสากกรรมดูแลคนชรา ผู้ป่วยติดเตียง หรือเด็กปฐมวัย ที่สามารถดูดซับแรงงานที่ตกงานได้ แต่รัฐให้งบส่วนนี้แค่ 400 กว่าล้าน ให้ค่าแรงต่ำเพียง 5,000 บาทต่อเดือน แถมทำงานเต็มเวลา สุดท้ายคนเหล่านั้นก็ต้องลาออกจากงาน
ในขณะที่สหรัฐใช้งบกับอุตสาหกรรมดูแลคนชรามากถึง 1.6 ล้านล้าน เทียบกลับมาที่ไทยต้องใช้งบ 40,000 ล้าน เพื่อสร้างอุตสาหกรรมนี้ ไม่ใช่ 400 ล้าน อย่างที่รัฐบาลทำ
อีกตัวอย่าง คือ national strategic stockpile ทิม พิธา มองเห็นโอกาสจากโรคระบาดที่กำลังเกิดขึ้น ที่ทุกประเทศระดมสะสมอุปกรณ์ทางการแพทย์ จะใช้มาตรการการคลังทลายทุกคอขวดของอุตสาหกรรมการแพทย์ ขาดอะไรก็ต้องสร้าง และรัฐต้องเป็นคนช่วยตั้งไข่ อุตาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ให้เป็นอุตสาหกรรมเรือธง ของไทย
ก้าวไกลจะตั้งกองทุนพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมเป้าหมาย เรามีงบตรงนี้ 10,000 ล้านบาท แต่แช่แข็งมาแล้ว 5 ปี ไม่มีใครคิดว่าจะเอาไปใช้และพัฒนาได้อย่างไร
นี่คือภาพสมบูรณ์ของบ้านงบประมาณหลังใหม่ของประเทศไทย ที่มีรัฐสวัสดิการโอบอุ้มคนที่เปราะบางที่สุดในไทย เมื่อเข้มแข็งแล้วก็จะสร้างรากฐานเศรษฐกิจแบบรดน้ำไปที่ราก เพื่อให้พัฒนาประเทศไปสู่อุตสาหกรรมในอนาคต เป็นความหวังของคนในชาติ
แต่จะทำได้ เราต้อฝใช้ความร่วมมือของคนทั้งประเทศ ต้องกระจายอำนาจ ต้องรื้อระบบรัฐราชการที่รวมศูนย์อำนาจ อำนาจการตัดสินใจต้องไม่กระจุกตัว ที่ประเทศไทยไม่ใช่กรุงเทพ และกรุงเทพไม่ใช่ประเทศไทย วันนั้นงบประมาณจะถูกพลิกโฉม และงบประมาณจะถูกกระจายไปทั่วทุกภูมิภาค
เราต้องกล้าเผชิญหน้ากับนายทุน ขุนศึก ศักดินา ที่อยู่เบื้องหลังรัฐราชการ และปรารถนาจะแช่แข็งอำนาจตัวเองไว้บนยอดสูงสุดของพีระมิด ประเทศจะเปลี่ยนได้ ทหารต้องอยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน งบกลาโหม กอ.รมน. งบความมั่นคง ที่ทำมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็นต้องถูกยกเลิก กองทัพต้องเลิกจัดงบมาทำสงครามกับประชาชน เพื่อปราบปรามคนเห็นต่าง
กองทัพต้องเลิกซื้ออาวุธที่ไม่จำเป็น ในวันที่โรงพยาบาลขอรับบริจาคเครื่องช่วยหายใจ งบความมั่นคงของทหารต้องไม่เบียดบังสวัสดิการพลเรือน ไม่รบกวนเงินภาษีของประชาชนอีกต่อไป โดนเฉพาะในยุคสมัยใหม่ที่ประชาชนต้องการวัคซีนมากกว่ากระสุน
ที่ผ่านมา กองทัพมักอ้างเสมอ ว่างบซื้ออาวุธเป็นภาระผูกพันกับต่างประเทศ ทำให้ตัดลดไม่ได้แม้ในยามประเทศเจอวิกฤตเช่นนี้ เรื่องนี้ไม่เป็นความจริง ถ้าทิม พิธนา เป็นนายกในวันนี้ จะทำทุกวิถีทางให้เต็มความสามารถ ในการปลดปล่อยภาระผูกพันประเทศมากกว่า 20,000 ล้านบาท ในช่วงเวลาที่เราต้องการงบเพื่อสุขภาพ มากกว่างบความมั่นคง
ผมจะบินตรงไปเจรจากับประเทศผู้ขายอาวุธให้เรา ผมจะบินตรงไปเจรจากับไบเดน ในฐานะพันธมิตรประเทศแรกๆ ในเอเชีย เพื่อขอยกเว้นภาระผูกพันการจัดซื้ออาวุธทั้งหมด
ข้อเสนอถึงพรรคร่วมรัฐบาลที่ร่วมวิจารณ์การตัดงบกระทรวงสาธารณสุข ศึกษาธิการ และสวัสดิการต่างๆ ที่พวกท่านอยากได้ คือ ต้องร่วมกันคว่ำงบปี 65 เพื่อให้งบปี 64 ถูกนำมาใช้ไปพลางก่อน จะทำให้กระทรวงสาธารณสุขคืน 4,000 ล้าน ได้งบศึกษาธิการคืน 20,000 กว่าล้านคืน
หรือที่อภิปรายกันมา 3 วัน 3 คืน เป็นเพียงโรงลิเกโรงใหญ่ ที่เอาไว้ต่อรองผลประโยชน์ เช่น วัคซีน สัมปทานสร้างตึก โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า
อภิปรายอย่างราชสีห์ ลงคะแนนอย่างกับหนู สิ่งเหล่านี้คือการเมืองเก่าที่ยังดำรงอยู่ในประเทศเรา
ยาวมาก แต่อ่านแล้วเพลิน อ่านแล้วเห็นภาพ อ่านแล้วโกรธว่าทำไมคนแบบนี้ไม่ได้เป็นรัฐบาล !
อ้างอิงจาก: ธนวัฒน์ วงค์ไชย - Tanawat Wongchai