ทำความเข้าใจ รับมืออย่างไร กับ อาการ ลูก “พูดไม่หยุด”
“ทำยังไงดีลูกพูดไม่หยุดเลย พูดทั้งวัน พูดเก่งมาก พูดเป็นต่อยหอย” หลายๆ ครอบครัวอาจกำลังอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ใช่ไหมคะ สถานการณ์ที่มีเสียงเจื้อยแจ้ววนเวียนอยู่รอบหูตลอดเวลา และช่วงที่เงียบสงบที่สุดก็คือตอนนอนหลับ บอกเลยค่ะว่าคุณไม่ได้กำลังเจอเด็กพูดมากอยู่คนเดียว
.
วันนี้เราเลยจะพามาหาเหตุผลว่าทำไมลูกถึงพูดมากซะเหลือเกิน แล้วพ่อแม่อย่างเราจะมีวิธีรับมือยังไง ตามมาดูกันได้เลย
.
สาเหตุที่ลูกพูดมาก เป็นเพราะพัฒนาการทางด้านภาษาของลูกกำลังพัฒนา ซึ่งเด็กแต่ละวัยก็มีการพัฒนาที่แตกต่างกัน
.
1.5 ขวบ ชอบเรียกเรียกสิ่งอื่นด้วยคำที่ตัวเองจำได้ซ้ำๆ : คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจเคยโดนลูกเรียกว่า “หมา” กันใช่ไหมล่ะคะ นั่นเป็นเพราะเด็กวัยนี้ยังจำคำศัพท์ต่างๆ ได้ไม่มาก เขามักจะเรียกสิ่งที่เห็นด้วยคำศัพท์ที่จำได้
2 ขวบ นักปฏิเสธ ชอบพูดว่าไม่!! : วัยทองสองขวบ เป็นช่วงเวลาของการปฏิเสธค่ะ เด็กวัยนี้พอที่จะมีความคิดเป็นของตัวเองบ้างแล้ว จึงชอบพูดว่าไม่ เวลาที่เราให้เขาทำอะไรนั่นเองค่ะ
3 ขวบ ชอบเล่าเรื่องซ้ำๆ และถามเก่ง : เด็กวัยนี้จะเริ่มพูดได้ยาวและชัดเจนขึ้น สิ่งที่เขาเคยดูและจดจำได้ก็จะเอามาเล่าวนในช่วงนี้แหละค่ะ ที่สำคัญคือถามเก่งมากกก เป็นเจ้าหนูจำไมสุดๆ
4 ขวบ พูดอวดความสามารถของตัวเอง : 4 ขวบ เป็นวัยที่พูดเป็นประโยคได้อย่างสมบูรณ์ พูดมาก และชอบพูดอวดว่าตัวเองทำอะไรได้ เช่น แปรงฟันเก่งแล้ว กินข้าวเก่งแล้ว
.
.
ถึงแม้ว่าการที่ลูกพูดมาก อาจทำให้พ่อแม่อย่างเรารู้สึกเหนื่อยใจนิดหน่อย แต่การพูดมากของลูกก็มีประโยชน์ไม่ใช่น้อยเลยนะคะ
.
ทำให้สื่อสารได้ดีในอนาคต : เพราะในช่วงวัยเด็กเขาได้ฝึกฝนด้านการสื่อสารมาโดยตลอด อาจพูดไม่รู้เรื่องบ้างแต่นั่นก็คือเป็นพัฒนาการตามวัยที่ได้ฝึกพูดอยู่บ่อยๆ ค่ะ
ทำให้เป็นเด็กกล้าพูด กล้าคิด : เมื่อลูกพูดมากแล้วเราส่งเสริมให้เขาพูดอย่างถูกวิธีก็จะช่วยให้เขารู้สึกมั่นใจที่จะคิดหรือพูดอะไรบางอย่าง เพราะเขาเชื่อว่าพ่อแม่จะรับฟังเขาเสมอ
มีทักษะการเข้าสังคมที่ดีกว่า : เด็กพูดเก่งมักจะชอบชวนคนนั้นคนนี้คุยไปเรื่อย จึงทำให้มีเพื่อนใหม่อยู่ตลอด หากสังเกตก็จะเห็นว่าเด็กที่พูดเก่งจะเข้ากับเพื่อนๆ ได้เร็วกว่าด้วยค่ะ
ทำให้เป็นเด็กใฝ่รู้ : เด็กพูดเยอะจะเป็นเด็กที่ช่างสงสัย และถามเก่ง ส่งผลให้เขาเป็นเด็กใฝ่รู้ อยากที่จะเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ตลอดเวลา
.
แต่เด็กพูดมากก็มีเรื่องที่ต้องระวังอยู่เหมือนกันค่ะ นั่นคือลูกอาจไม่ฟังคนอื่น ไม่เปิดโอกาสให้คนอื่นได้พูดบ้าง เพราะมัวแต่พูดอยู่ฝ่ายเดียว เรื่องนี้คุณพ่อแม่ก็ควรใส่ใจเป็นพิเศษนะคะ
.
.
อย่าโมโหและหงุดหงิดลูก : ลูกกำลังอยู่ในช่วงที่พูดได้ ก็อยากจะลองวิชาการพูด เลยพูดมากเป็นพิเศษ แต่ถ้าเขาโตขึ้นเมื่อไหร่ บางทีก็อาจพูดน้อยลงจนทำให้เราอยากได้ยินเสียงเขาก็ได้นะคะ
อย่าขัดสิ่งที่ลูกกำลังพูด : เวลาที่ลูกกำลังเล่าอะไรก็ตาม การที่เราไปพูดขัดเขาจะทำให้ลูกลูกขัดจังหวะ และรู้สึกว่าสิ่งที่เขาเล่าไม่ได้มีความสำคัญ
ตั้งใจฟังในสิ่งที่ลูกเล่า (แม้ว่าจะฟังเรื่องนั้นเป็นรอบที่ล้าน) : การตั้งใจฟังเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ ค่ะ ให้เรานั่งในระดับเดียวกันกับลูก มองไปที่ตาของเขา ตั้งใจและสนใจในสิ่งที่เขากำลังเล่าไม่ว่าเรื่องนั้นจะธรรมดาแค่ไหนก็ตาม
ถามลูกกลับบ้าง : นอกจากฟังอย่างเดียวเราก็ควรมีการโต้ตอบกับลูกด้วย โยนคำถามไปให้เขาตอบ ในบางครั้งที่ลูกเล่าเรื่องอะไรซ้ำๆ พอลูกพูดจบก็อาจโยนคำถามเบี่ยงประเด็น ก็จะทำให้เราไม่ต้องฟังเรื่องซ้ำก็ได้ค่ะ
.
และข้อแนะนำสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ทนไม่ไหวแล้วจริงๆ คือให้ชวนลูกเล่นเกมค่ะ นั่นคือ “เกมแข่งกันเงียบ” ใครเงียบได้นานกว่าก็ชนะไปเลย หรือ “เกมซ่อนตาดำ” ก็ได้ผลลัพธ์ที่ดีไม่แพ้กันเลยค่ะ รับรองสบายหูไปสักระยะแน่นอนนน (ประมาณ 5 นาที
อ้างอิงจาก: Parents One