ลิ้นมังกร..กินได้ด้วย
ต้นลิ้นมังกร..กินได้ด้วย
หลังใบของลิ้นมังกร
ดอกของลิ้นมังกร
ชื่อที่เรียก
-ลิ้นมังกร
ชื่ออื่นๆ
-ผักลิ้นห่าน หนุ่นดิน มะยมใบพาย อะจีเจ้า นอช่วยไน้ ลีเดาะห์ นาฆอ(Lidahnaga) เล่งจินเช่า เลิงจิเฉ่า หลงซื่อเยียะ
-เหล่งหลี่เฮียะ เหล่งจิเฮี๊ยะ(จีน-แต้จิ๋ว)
-หลงลี่เยียะ(จีนกลาง)
หมายเหตุ นอกจากนี้ยังมีลิ้นมังกรอีกชนิด ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sauropus rostratus Miq.(เข้าใจว่ามาจากประเทศจีน) ตามตำราสมุนไพร ระบุว่ามีสรรพคุณใกล้เคียงกัน สามารถนำมาใช้แทนกันได้ และลิ้นมังกรที่กล่าวถึงในที่นี้ เป็นพรรณไม้คนละชนิดกันกับต้นลิ้นมังกร (บ้างเรียกว่า ลิ้นแม่ยาย หรือลิ้นมังกรทอง) ชนิดที่มีชื่อสามัญว่า Mother-in Law’s Tongue, Snake plants ซึ่งชนิดนี้จะใช้ปลูกเป็นไม้ประดับเป็นหลัก
ลักษณะทั่วไป
ต้นลิ้นมังกร
-เป็นไม้กลางแจ้งยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 1-1.5 ฟุต ลำต้นตั้งตรง คองอเล็กน้อย และมีขนสั้นๆ ปกคลุมอยู่ ขยายพันธ์ุโดยการปักชำและเพาะเมล็ด เติบโตได้ดีในดินชุ่มชื้น ระบายน้ำดี เช่นดินปนทรายหรือดินร่วนปนทราย
ใบลิ้นมังกร
-เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกันไปตามข้อต้น ใบเป็นรูปไข่หรือรูปมนรี ปลายใบมน โคนใบสอบแหลมเข้าหาก้านใบ ส่วนขอบใบเรียบ หลังใบเป็นสีเขียวเข้มลายตามเส้นใบและท้องใบเป็นสีเขียวนวล หรือเขียวอ่อน เส้นโคนใบมีขน
ดอกลิ้นมังกร
-ออกดอกเป็นช่อหรือเป็นกระจุกตามซอกใบและลำต้น ซึ่งดอกจะเรียงติดกันเป็นแถวสั้นๆ คล้ายช่อดอก แต่จะแยกออกเป็นดอกเพศผู้และดอกเพศเมีย ดอกมีขนาดเล็กสีแดงม่วงหรือสีม่วงเข้ม ดอกหนึ่งมี 6 กลีบ ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปกลมรีมีเนื้อหนา ดอกมีเกสรเพศผู้ 3 อัน และเกสรเพศเมีย 3 อัน
ผลลิ้นมังกร
-ลักษณะของผลคล้ายกับเม็ดถั่ว มีก้านสั้นๆ ผลจะถูกกลีบเลี้ยงที่ขยายตัวหุ้มเอาไว้
สรรพคุณของลิ้นมังกร
-ใบมีรสจืด เป็นยาสุขม ออกฤทธิ์ต่อปอด ใช้เป็นยาแก้ปอดร้อน ช่วยทำให้ปอดชุ่มชื้น(ใบ)
-ดอกสดนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้กระอักเลือด และไอเป็นเลือด หรือจะใช้ใบสด 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทานหรือผสมกับสันเนื้อหมูต้มกับน้ำแกงรับประทานก็ได้(ใบ,ดอก)
-ช่วยแก้อาการไอมีเสลดเหนียว หรือไอแห้ง ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 7-8 ใบ และผลอินทผลัม 7 ผล นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือถ้าเป็นใบแห้งให้ใช้ประมาณ 15 กรัม นำมาต้มผสมกับเนื้อหมูแล้วทานแต่น้ำ(ใบ)
-ใบมีรสสุขุม สรรพคุณเป็นยาแก้เจ็บคอ แก้ไอแห้ง ไอร้อน ไอหอบหืด ไอเป็นเลือด แก้เสียงแหบแห้ง ไม่มีเสียง ให้ใช้ใบสดประมาณ 7-8 กรัม หรือใบแห้งประมาณ 10-30 กรัม นำมาต้มรับประทาน(ใบ)
-ช่วยขับเสมหะ(ใบ)
-ช่วยแก้หลอดลมอักเสบ หอบหืด หรือโรคติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบน ให้ใช้ใบสดประมาณ 7-8 ใบ หรือใบแห้งประมาณ 15 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน(ใบ)
-ช่วยบำรุงปอด ด้วยใช้ใบสดประมาณ 7-8 กรัม หรือใบแห้งประมาณ 10-30 กรัม นำมาต้มรับประทาน(ใบ)
-ช่วยลดความดันโลหิต ด้วยการใช้ต้นลิ้นมังกรทั้งต้น(รวมราก) นำมาล้างให้สะอาด ใส่ลงในหม้อต้มกับน้ำ 2-3 ส่วน แล้วต้มเคี่ยวจนเหลือน้ำ 1 ส่วน (ต้มจนเดือดประมาณ 20 นาที) จะผสมกับน้ำตาลกรวดเพื่อเพิ่มรสชาติด้วยก็ได้ โดยใช้กินครั้งละ 1 แก้ว เช้า กลางวัน และเย็น (จะกินก่อนหรือหลังอาหารก็ได้) จะทำให้มีอาการดีขึ้นและควบคุมได้(ทั้งต้น)
-ช่วยแก้อาการท้องผูก(ใบ)
-ใบสดนำมาตำหรือขยี้ใช้เป็นยาทาหรือพอกแก้พิษร้อนอักเสบ(ใบ)
ลิ้นมังกร ยาแก้ร้อนใน รุ่นย่ารุ่นยาย
ลิ้นมังกร เป็นสมุนไพรที่สมัยก่อน คนจีนนิยมปลูกเป็นไม้กระถางประดับในบ้าน เอาไว้ต้มดื่มแก้ร้อนใน แก้ไอ ในตำรายาจีนกล่าวว่า ลิ้นมังกรมีรสสุขุม ใช้เป็นยาแก้ปอดร้อน ช่วยทำให้ปอดชุ่มชื่น บำรุงปอด แก้ไอแห้งๆ เจ็บคอ หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน หอบหืด ไอเป็นเลือด เสียงแห้ง เป็นต้น
หมายเหตุ
การนำใบมาใช้เป็นยา ต้องเก็บมาจากต้นที่เจริญเติบโตเต็มที่แล้ว ให้ใช้ใบสดครั้งละ 15-30 กรัม หรือถ้าเป็นใบแห้งให้ใช้ครั้งละ 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือจะใช้เข้ากับตำรายาอื่นๆ ก็ได้ตามต้องการ
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของลิ้นมังกร
-พืชชนิดนี้มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียบางชนิดได้
ประโยชน์ของลิ้นมังกร
-ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับ ไม้ขอบรั้ว หรือตามทางเดินทั่วไป