สายดื่มต้องอ่าน ทำอย่างไรไม่ให้เมาค้าง
เวลาไปงานสังสรรค์ หรืองานรื่นเริงต่าง ๆ แน่นอนว่าเครื่องดื่มที่จะขาดในงานไม่ได้เลยก็คือ เหล้าหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สารพัดชนิด อย่างไรก็ตาม เชื่อได้เลยว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่ตื่นมาพร้อมกับอาการเมาค้างในเช้าวันถัดไปหลังจากที่ดื่มเหล้าแบบไม่ทันยั้งมือ สำหรับอาการต่าง ๆ ที่สามารถเกิดขึ้นได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย อ่อนเพลีย หรือปวดศีรษะ ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถทำให้คุณรู้สึกแย่ไปเกือบทั้งวัน ดังนั้นเราลองมาดูวิธีป้องกัน และบรรเทาอาการเมาค้างพร้อมกันเลยดีกว่า
1.จำกัดการดื่มแอลกอฮอล์
ความรุนแรงของอาการเมาค้างขึ้นอยู่กับปริมาณแอลกอฮอล์ที่คุณดื่ม นอกจากนี้น้ำหนักตัว เพศ เวลาที่คุณดื่มแอลกอฮอล์ล่าสุด ชนิดของแอลกอฮอล์ และระยะเวลาในการดื่ม ก็สามารถส่งผลต่อปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเช่นกัน ทั้งนี้มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ทำการติดตามคนวัยหนุ่มสาวที่ไปท่องเที่ยวจำนวน 112 คน พบว่า คนที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากมีอาการเมาค้างรุนแรงกว่าคนอื่น ๆ ซึ่งคนที่ดื่มหนักกว่า 68% มีอาการเมาค้าง ดังนั้นหากคุณสามารถเพลา ๆ การดื่มได้ ก็อาจช่วยบรรเทาอาการเมาค้างค่ะ
2.ดื่มน้ำ
เคยสงสัยไหมว่าทำไมคุณปวดปัสสาวะบ่อยหลังจากที่ดื่มเหล้าหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดอื่น ๆ ? เครื่องดื่มเหล่านี้จะไปยับยั้งการหลั่งวาโซเปรสซิน (Vasopressin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ลดปริมาณของปัสสาวะที่ผลิตโดยไต หากคุณมีอาการท้องเสีย เหงื่อออก หรืออาเจียน ร่างกายของคุณก็จะยิ่งสูญเสียน้ำ ซึ่งการจิบน้ำตลอดวันเพื่อทดแทนน้ำที่เสียไปก็อาจช่วยให้อาการดีขึ้นค่ะ
3.ทานอาหารเช้าที่ดีต่อสุขภาพ
การทานมื้อเช้าที่เต็มไปด้วยอาหารที่ดีต่อสุขภาพสามารถช่วยรักษาระดับของน้ำตาลในเลือด และมอบวิตามินและเกลือแร่ชดเชยให้ร่างกาย แม้ว่าการมีน้ำตาลในเลือดต่ำไม่ได้เป็นสาเหตุของอาการเมาค้างเสมอไป แต่ก็มีความเกี่ยวข้องกัน เพราะว่าหากน้ำตาลในเลือดต่ำ ก็สามารถทำให้คุณมีอาการอื่น ๆ เช่น คลื่นไส้ อ่อนเพลีย และไม่มีแรง นอกจากนี้การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปยังทำให้สารเคมีในเลือดเสียสมดุล และทำให้กรดในเลือดสูงกว่าปกติ ส่งผลให้คุณมีอาการดังกล่าวเช่นกัน
4.ทานยาแก้ปวด
การทานยาแอสไพริน ไอบูโพรเฟน และยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ชนิดอื่นๆ (NSAIDs) อาจช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะในตอนเช้า และอาการปวดในภาพรวม อย่างไรก็ตาม คุณควรหลีกเลี่ยงการทานยาอะเซตามิโนเฟนหรือ ยาพาราเซตามอล เพราะหากแอลกอฮอล์เข้าไปในกระแสเลือดแล้ว ก็อาจทำให้พิษของยาพาราเซตามอลที่มีต่อตับรุนแรงมากขึ้น
5.นอนหลับให้เพียงพอ
แอลกอฮอล์สามารถรบกวนการนอน และอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการลดลงของคุณภาพและระยะเวลาของการนอน แม้ว่าการนอนน้อยไม่ได้ทำให้เกิดอาการเมาค้าง แต่ก็สามารถทำให้อาการดังกล่าวแย่ลง โดยทำให้คุณมีอาการอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ และหงุดหงิด อย่างไรก็ตาม การนอนให้เพียงพอและปล่อยให้ร่างกายได้ฟื้นตัวอาจช่วยบรรเทาอาการเมาค้างและทำให้คุณสามารถทนต่ออาการเหล่านั้นได้
6.ทานอาหารเสริมบางชนิด
แม้ว่ามีงานวิจัยอย่างจำกัด แต่มีบางงานวิจัยพบว่าอาหารเสริมบางประเภทสามารถช่วยบรรเทาอาการเมาค้าง ตัวอย่างเช่น
โสมแดง: อาหารเสริมที่มีส่วนผสมของโสมแดงช่วยลดแอลกอฮอล์ในเลือด และลดความรุนแรงของอาการเมาค้าง
ขิง: การทานขิงผสมกับน้ำตาลทรายแดงและสารสกัดจากส้มเขียวหวาน สามารถช่วยบรรเทาอาการเมาค้าง เช่น อาการคลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสีย
โสมไซบีเรีย: อาหารเสริมที่มีสารสกัดของโสมไซบีเรียช่วยบรรเทาอาการเมาค้าง และบรรเทาความรุนแรง
ของอาการในภาพรวม