ขลู่..สมุนไพรที่หลายคนไม่คุ้นหู..
ขลู่..สมุนไพรที่หลายคนไม่คุ้นหู..
ต้นขลู่
ดอกขลู่เมื่อตูม(ยังไม่บาน)
ดอกขลู่เมื่อบานแล้ว
ชื่อท้องถิ่น เรียกว่า
แม่ฮ่องสอน เรียกว่า ขี้ป้าน
อุดรธานี เรียกว่า หนาดวัว หนาดงัว หนวดงั่ว หนวดงิ้ว
ภาคกลาง เรียกว่า ขลู่
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรียกว่า เพี้ยฟาน
ภาคใต้ เรียกว่า ขลู คลู
จีนกลาง เรียกว่า หลวนซี
แต้จิ๋ว เรียกว่า หล่วงไซ
ต้นขลู่ เป็นไม้พุ่ม มีความสูงประมาณ 0.5-2 เมตร มีใบเขียวตลอดปี ขึ้นตามธรรมชาติในป่าชายเลนของประเทศเขตร้อน เช่น ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ออสเตรเลีย และอินเดีย เป็นสมุนไพรที่ขึ้นง่าย
ปัจจุบันมีการปลูกต้นขลู่เชิงเศรษฐกิจเพื่อจำหน่ายใบขลู่เป็นผักสมุนไพรเพื่อการบริโภคและใช้ผลิตชาขลู่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ(องค์การมหาชน) ได้ริเริ่มโครงการสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนในหลายจังหวัด เช่น สมุทรสงคราม เพชรบุรี นครราชสีมา อุดรธานี จันทบุรี ระยอง ให้มีการผลิดตชาขลู่ที่มีคุณภาพสูงและถูกสุขลักษณะ
สมุนไพรขลู่
ใบขลู่สด มีรสหวานและฝาดเล็กน้อย
การปรุงอาหาร
คนท้องถิ่นนิยมลวกใบขลู่กินกับน้ำพริก นำไปใส่ในยำกับเนื้อสัตว์ต่างๆ และแกงคั่ว มีรสชาติอร่อย นอกจากนั้นยังนำไปตากแห้ง เพื่อทำชา ดื่มแก้กระหายน้ำ ช่วยลดน้ำหนักได้เนื่องจากขับน้ำส่วนเกินได้เป็นอย่างดี
คุณค่าทางโภชนาการของใบขลู่สด 100 กรัม
-โปรตีน 1.8 กรัม
-ไขมัน 0.5 กรัม
-ใยอาหารแบบละลายน้ำ 0.5 กรัม
-ใยอาหารแบบไม่ละลายน้ำ 0.9 กรัม
-คาร์โบไฮเดรต 8.7 กรัม
-แคลเซียม 250 มิลลิกรัม
-เบต้าแคโรทีน 1.2 มิลลิกรัม
-น้ำ 87.5 กรัม
ทั้งนี้ปริมาณแคลเซียมและปริมาณเบต้าแคโรทีนที่พบในใบขลู่สด 100 กรัม เป็นปริมาณที่ใกล้เคียง เทียบเท่ากับปริมาณแคลเซียมที่ได้จากการดื่มนม 1 แก้ว (8 ออนซ์) และปริมาณเบต้า แคโรทีนที่ได้จากการกินเนื้อฟักทองสุก 100 กรัม ตามลำดับ
เบต้าแคโรทีนเป็นรงควัตถุสีเหลืองที่พบในพืชและมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่ดี อย่างไรก็ตามใบของต้นขลู่ที่ขึ้นตามธรรมชาติในป่าชายเลนอาจมีปริมาณโซเดียมสูงมาก เนื่องจากต้นขลู่ได้รับเกลือโซเดียมคลอไรด์(NaCl) ที่มาจากความเค็มของดิน ดังนั้นผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงและโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจไม่ควรรับประทานใบขลู่ในปริมาณมาก
ฤทธิ์ทางด้านสมุนไพรของขลู่
-ทั้งต้นใช้ต้ม ช่วยขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ
-เบาหวาน ความดันโลหิตสูง (ทั้งต้น)
-ต้มอาบ แก้ผื่นคันและโรคผิวหนัง (ทั้งต้น)
-แก้ไข้ พอกแก้แผลอักเสบ (ใบและราก)
-รักษาอาการปวดตามข้อ (ใบกับต้นอ่อน)
-รักษาโรคริดสีดวงทวาร โดยการคั้นน้ำจากใบสด แก้กระษัย ช่วยด้านอายุวัฒนะ (ใบ)
-รับประทานเพื่อฝาดสมาน แก้บิด ไข้หวัด (รากสด)
แพทย์แผนโบราณใช้ใบขลู่สดพอกรักษาแผลที่เกิดจากอาการเนื้อตาย(gangreous ulcer) หรือนำใบขลู่มาชงชาหรือต้มเพื่อรักษาอาการนิ่วในไต(ยาขับปัสสาวะ) อาการอักเสบ อาการปวดหลัง และอาการตกขาว ในประเทศอินโดนีเซียมีรายงานถึงการดื่มน้ำต้มใบขลู่เพื่อเจริญอาหาร และช่วยการย่อยอาหารนอกจากนี้ยังมีรายงานใช้น้ำต้มใบขลู่เป็นยาต้านจุลชีพ ยาแก้ท้องเสีย และยาบรรเทาอาการไอ และรวมทั้งมีการใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์บำรุงผิวพรรณ ช่วยทำให้ผิวนุ่ม
ถ้าเรายึดถือตามหลัก Ethno Pharmacology และหลักการแพทย์แผนไทย ถือได้ว่า ขลู่..เป็นสมุนไพรที่ปลอดภัย และสามารถใช้เป็นอาหารได้ ทำเป็นเครื่องดื่มได้อีก ขลู่เป็นสมุนไพรที่ถูกใช้มานาน โดยใช้เป็นชารักษาเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ตั้งแต่บรรพบุรุษ แม้กระทั่งชาวเล หรือมอร์แกน ชาวเลหรือชาวมอร์แกนมักเรียกสมุนไพรขลู่ ว่า "ชาเล"
ถึงแม้ว่าปัจจุบันมีรายงานการศึกษาที่แสดงถึงฤทธิ์ทางชีวภาพของสารสกัดจากใบขลู่ ในด้านการต้านทานอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ และต้านเซลล์มะเร็ง แต่การบริโภคใบขลู่สดหรือดื่มชาขลู่ในปริมาณที่สูงอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน อาจมีผลเสียต่อสุขภาพของร่างกายได้เช่นกัน การดื่มชาขลู่อาจทำให้รู้สึกตัวเบา เนื่องจากใบขลู่มีฤทธิ์เป็นยาขับปัสสาวะ มีผลทำให้ปัสสาวะบ่อย
หลักการดื่มชาขลู่เพื่อเสริมสร้างสุขภาพคล้ายกับการดื่มชาจีน ชาเขียว และชาสมุนไพรชนิดอื่นๆ คือ ควรดื่มในปริมาณที่พอเหมาะ 1-2 แก้วต่อวัน ดื่มระหว่างมื้ออาหาร และไม่ดื่มชาที่เหลือค้างคืน ทั้งนี้ควรสังเกตการณ์ตอบสนองของร่างกายว่ามีอาการผิดปกติหรือไม่ ถ้ามีควรงดการดื่ม
คำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับชาขลู่
-ปริมาณการซื้อในแต่ละครั้งควรรับประทานให้หมดภายใน 4 เดือน เพราะสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพเสื่อมสลายได้ตามระยะเวลาการเก็บ สังเกตได้จากสีของชาขลู่เปลี่ยนสีเป็นสีออกเหลือง เนื่องจากเกิดการสลายตัวของรงควัตถุสีเขียวคลอโรฟิลล์ ทำให้เห็นสีเหลืองของรงควัตถุสีเหลือง กลุ่มคาร์โรทีนอยด์ที่มีความเสถียรมากกว่า
-ควรเก็บชาขลู่ในภาชนะทึบแสง และปิดสนิทเพื่อกันการสลายตัวของสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ เนื่องจากแสงและกันการได้รับความชื้น ซึ่งอาจทำให้มีการเจริญของเชื้อราได้
-การเตรียมชาขลู่สดหรือแห้ง ควรเป็นการต้มในน้ำใกล้เดือดและต้มนานอย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้สามารถสกัดการออกฤทธิ์ทางชีวภาพให้ได้มากเพียงพอ
ที่บ้านผู้เขียนมีอยู่นิดหน่อย ต้องลองนำมาต้มดื่มบ้างแล้วละ ประโยชน์ขนาดดดดดดด....
อ้างอิงจาก: https://pharmacy.mahidol.ac.th/
https://www.hfocus.org/content/2017/06/14063