อย่าทำตามที่ลินช์พูดทุกอย่าง
Peter Lynch Bias อย่าทำตามที่ลินช์พูดทุกอย่าง
หากถามว่าใครคือนักลงทุนที่มีฝีมืออันดับตันๆ ของโลก เราย่อมนึกถึงวอร์เรน บัฟเฟตต์ แต่ถ้าถามว่าใครคือผู้จัดการกองทุนที่มีผลตอบแทนที่ดีที่สุด ต้องเป็นเขาผู้นี้เท่านั้น ปีเตอร์ ลินช์ หลายๆ คนรู้จักกันดีในฐานะที่เขาเป็นผู้จัดการกองทุน Fidelity ที่ทำผลตอบแทนได้ถึง 29.2% ติดต่อกันถึง 13 ปี จนทำให้เงินกองทุนจาก 100 ล้านเหรียญ เติบโตขึ้นเป็นเงินถึง 13,000 ล้านเหรียญ
ด้วยความรู้ที่เขามี และประสบการณ์ที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน จึงก่อให้เกิดหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ One Up on Wall Street ชื่อภาษาไทยคือ เหนือกว่าวอลสตรีท ที่ตลอดทั้งเล่มจะว่าด้วยเรื่องของการหาหุ้นเติบโตและหุ้น 10 เด้ง ซึ่งหนังสือเล่มนี้ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้นักลงทุนหลายคนหันมาวิเคราะห์กิจการเชิงคุณภาพกันมากขึ้น
แน่นอนว่า คำสอนจากคนเก่งย่อมได้รับการยอมรับและเชื่อถือได้อย่างสนิทใจ แต่ต้องไม่ลืมว่า ปีเตอร์ ลินช์ ก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีโอกาสผิดพลาดได้เสมอ และการที่เราชื่อเขาแบบไม่ไตร่ตรองให้ดีเสียก่อน จะนำไปสู่ความคิดแบบลำเอียงได้
ซึ่งอาการนี้เราเรียกว่า Peter Lynch Bias
ลงทุน
ในสิ่งที่คุณเข้าใจ
หนึ่งในคำแนะนำของลินช์ที่คอยแนะนำนักลงทุนเสมอๆ ก็คือ "ให้ลงทุนในสิ่งที่คุณเข้าใจ" ความหมายของข้อความนี้ก็ง่ายมาก หากเราเป็นคนที่ชอบดูละครเมีย 2018 ซึ่งเป็นของช่อง One 31 แน่นอนเรารู้ว่าละครเรื่องนี้เรตติ้งดี ค่าโฆษณาย่อมสูง รายได้ย่อมสูงตาม และเราก็รู้ว่าช่อง One 31 นั้นเป็นของ GMM Grammy ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เสียด้วย ก็ให้เข้าลงทุนในหุ้น GRAMMY
ฟังคอนเซปแล้วดูดี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า GRAMMY จะเป็นหุ้นที่ดีหรือธุรกิจที่ดี เนื่องจากการเข้าซื้อเพียงเพราะสินค้าชิ้นเดียวของบริษัทที่ขายดี (ซึ่งในที่นี้ก็คือละครเมีย 2018) ไม่ได้หมายความว่า สินค้าที่ขายดีนั้นจะนำพาให้บริษัทรุ่งโรจน์และมีผลประกอบการที่ดีอย่างมีนัยได้ หากเราไปตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียด บริษัทแกรมมี่เองก็มีรายได้จากหลากหลายทาง ค่าโฆษณาละครเรื่องนี้จึงเป็นเพียงแค่รายได้ส่วนหนึ่งเท่านั้นเอง
การเข้าซื้อเพียงหุ้นที่เข้าใจในสินค้า ชอบในสินค้า และทำตามที่ลินช์บอกว่าให้ลงทุนในสิ่งที่คุณเข้าใจ นี่คือ Peter Lynch Bias
จะแก้อาการ
นี้ยังไง
1) ให้เปรียบเทียบสินค้านั้นๆ กับคู่แข่ง รวมถึงดูด้วยว่ามันมีผลกระทบต่อบริษัทขนาดไหน จากตัวอย่างละครเมีย 2018 ซึ่งเป็นของ GRAMMY สมมติละครเรื่องนี้ฉายพร้อมกับบุพเพสันนิวาศซึ่งเป็นของ BEC (ช่อง 3) ก็ต้องดูต่อว่าละคร (สินค้า) เรื่องไหนที่ดีกว่ากัน สร้างเรทติ้งได้มากกว่า ค่าโฆษณาสูงกว่า และจะทำให้ผลประกอบการของบริษัทดีขึ้นได้แค่ไหน
2) ทำตามกฎและวินัยการลงทุนของตนเองอย่างเคร่งครัด การหาหุ้นที่ตัวเองเข้าใจอาจเป็นขั้นตอนแรกในการวิเคราะห์แบบเจาะลึก เราอาจเพิ่งรู้จักหุ้น GRAMMY จากละครเมีย 2018 แต่เมื่อประเมินมูลค่าหุ้นแล้ว พบว่าราคายังต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงอีกมาก ในกรณีนี้ก็สามารถเข้าซื้อหุ้นแกรมมี่ได้ เพราะเราทำตามแผนที่วางไว้ ไม่ใช่เพียงเพราะเชื่อลินช์
3) วิเคราะห์อย่างเป็นกลาง ถามตัวเองว่าหุ้นที่เราคิดว่ามันมีสินค้าขั้นเทพ มันเป็นสินค้าที่ดีจริงหรือเปล่า เพราะบางครั้งความชอบอาจทำให้เราเลือกหุ้นโดยใช้อารมณ์นำหน้าเหตุผลก็ได้ ดังนั้น จงวิเคราะห์แบบไร้อคติ
ทุกคนมี
เคล็ดลับ
คำพูดของลินช์ที่บอกว่าจงลงทุนในสิ่งที่คุณเข้าใจ อันที่จริงมันก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิด กลับเป็นคำแนะนำที่ดีเสียด้วยซ้ำ เพียงแต่ว่าในการลงทุนจริงๆ กระทั่งตัวลินช์เองอาจนั่งประเมินมูลค่าหุ้นแบบข้ามวันข้ามคืนเลยก็ได้ เพียงแต่นี่คือสิ่งที่เขาไม่ได้บอกเราทั้งหมด
ลองนึกภาพรายการทำอาหารสักรายการ พ่อครัวอาจจะบอกส่วนผสมทุกอย่าง บอกวิธีการทำทุกอย่าง แต่มันอาจมีเคล็ดลับหรือรายละเอียดบางอย่างที่เขาบอกเราก็ได้ ไม่ใช่ลองทำอาหารตามที่รายการบอกเป๊ะๆ เราจะรู้ว่ารสชาติไม่เคยเหมือนที่เขาทำให้ดูเลย
Peter Lynch Bias ไม่ใช่เรื่องผิด ลงทุนในสิ่งที่เราเข้าใจก็ช่วยลดความเสี่ยงได้ แต่การเชื่อใครแบบไม่ไตร่ตรองต่างหาก คือความเสี่ยงที่แท้จริง
Cr.Absolute Wealth Academy