อาการลูกสำลักออกจมูก เป็นอันตรายไหม มีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง พร้อมแนะนำวิธีป้องกัน
ลูกสำลักออกจมูก
สำหรับอาการ ลูกสำลักออกจมูก อาจเกิดขึ้นได้บ่อยเพราะเด็กๆ ยังไม่รู้วิธีการช่วยเหลือตัวเอง หรือป้องกันตัวเองจากการสำลัก ซึ่งการสำลักโดยทั่วไปมักไม่เป็นอันตรายค่ะ แต่หากปล่อยให้มีอาการแบบนี้บ่อยๆ ก็สามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพของลูกในระยะยาวได้
ลูกสำลักออกจมูก เกิดจากอะไร
สาเหตุที่ทำให้ลูกน้อยมีอาการสำลักออกจมูกเกิดได้จากทั้งปัจจัยภายนอก และปัจจัยภายใน คือ
ปัจจัยภายใน
- อวัยวะภายในในส่วนของทางเดินอาหารของลูกยังพัฒนาไม่เต็มที่ เช่น หูรูดกระเพาะอาหารยังไม่แข็งแรง เป็นต้น
- สาเหตุเกิดขึ้นจากเด็กๆ มีปัญหาเกี่ยวกับปอดหรือหัวใจทำงานผิดปรกติ
- ทารกมีแก๊สในกระเพาะมากเกินทำให้สำรอกของเหลวที่กินเข้าไปออกมา
- ทารกหิวเกินไป ดูดนมเร็วเกินไปทำให้ผิดจังหวะ
ปัจจัยภายนอก
- สิ่งเร้ารอบตัว เช่น การหยอกล้อ เสียงทีวี เป็นต้น ทำให้เด็กๆ ไม่จดจ่อกับการดูดนม อาจทำให้ดูดนมผิดจังหวะทำให้สำลัก
- น้ำนมของแม่ไหลเร็วหรือแรงไป ทำให้ลูกกลืนนมไม่ทัน
- เลือกใช้จุกนมผิดขนาด ไม่สัมพันธ์กับการกินนมของลูก
- ผู้ปกครองให้นมผิดท่าหรือผิดวิธี ทำให้เด็กดูดนมไม่ถนัดและสำรอกหรือสำลักนมได้
การที่ลูกสำลักออกจมูก เป็นอันตรายหรือไม่
อาการสำลักที่ไม่รุนแรง คือ เศษอาหารหรือของเหลวไม่ได้ถึงขั้นเข้าไปปิดกั้นทางเดินหายใจของทารกทั้งหมด ส่วนมากมักไม่เป็นอันตราย ร่างกายก็จะตอบสนองด้วยการไอ และสำรอกเศษอาหารที่หล่นเข้าไปนั้นออกมา เมื่อร่างกายขจัดสิ่งแปลกปลอมนั้นไปได้ ก็จะสามารถกลับมาหายใจได้เป็นปรกติ
อย่างไรก็ตาม หากเศษอาหารที่หล่นเข้าไปปิดกั้นทางเดินหายใจเกือบทั้งหมดหรือทั้งหมด ในกรณีนี้สามารถเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ค่ะ ผู้ปกครองจะต้องเร่งทำการช่วยเหลือเบื้องต้นเพื่อเคลียร์เศษอาหารที่หล่นเข้าไปปิดกั้นระบบทางเดินหายใจโดยทันที โดยสามารถทำตามขั้นตอนดังนี้
วิธีป้องกันอาการลูกสำลักออกจมูก
การป้องกันอาการสำลักของลูก ช่วยลดความเสี่ยงจากอาการสำลักรุนแรงที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ และยังช่วยลดความเสี่ยงที่ลูกอาจเป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารเรื้อรังอย่างโรคกรดไหลย้อน ได้อีกด้วยค่ะ
โดยวิธีป้องกันอาการสำลักของเด็กๆ มีดังนี้
1.หยุดใช้อุปกรณ์ช่วยค้ำ ยัน หรือจับขวดนมลูก การให้นมเด็กๆ ควรอยู่ในความดูแลของพ่อแม่หรือคนใกล้ชิด เพื่อลดความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึงการสำลักออกจมูกด้วยค่ะ
2.จับเรอทุกครั้งหลังการให้นม เพราะระบบทางเดินอาหารของทารกยังมีพัฒนาการที่ไม่สมบูรณ์พอ การจับเรอช่วยไล่ลมในกระเพาะอาหาร และยังช่วยให้ของเหลวไหลลงสู่กระเพาะไม่ขย้อนหรือสำลอกออกมาภายหลังด้วย
3.เลือกใช้จุกนมที่เหมาะสมกับวัยของเด็กๆ หรือถ้าหากลูกกินนมจากเต้าแล้วน้ำนมคุณแม่ไหลแรง ให้ใช้เทคนิคการใช้นิ้วกดบริเวณฐานหัวนม หรือบีบน้ำนมออกเล็กน้อยก่อนให้นมลูกเพื่อลดความแรงของน้ำนมที่ไหลออกมา
4.ให้ลูกกินนมในท่าทางที่เหมาะสม คือ เอียง 45 องศา ช่วยป้องกันการสำลักได้
5.เลือกสถานที่ให้นมลูกในที่ๆ เงียบ ปราศจากสิ่งเร้าเช่น บริเวณที่มีเสียงดังๆ หรือไม่ควรหยอกหรือเล่นกับลูกขณะที่ลูกใช้สมาธิกินนมอยู่
ผู้ใหญ่อย่างเราเองก็สามารถมีอาการสำลักอาหารได้ อาการสำลักจึงอาจดูเป็นเรื่องปรกติธรรมดา แต่ต้องไม่ลืมว่าสำหรับเด็กที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ อาการสำลักออกจมูก อาจเพิ่มความเสี่ยงของอาการสำลักที่มีความรุนแรงถึงชีวิตได้เลยทีเดียวค่ะ