ทำความรู้จักกับกองกำลังรบอเมริกัน ที่ไม่ใช่ทหารอาชีพ
ในการประชุมสภาคองเกรสหรัฐฯ เมื่อคืนวันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 2021 ตามเวลาท้องถิ่น เพื่อประกาศรับรองผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2020 ที่ผ่านมา โดยข้อสรุปของผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นนั้น โจ ไบเดน เป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ
โดยในระหว่างการประชุมสภาร่วมระหว่างสภาผู้แทนราษฏรและวุฒิสภาเพื่อยืนยันผลคะแนนโหวตจากคณะผู้เลือกตั้ง กลุ่มผู้สนับสนุนโดนัลด์ ทรัมป์ ก่อเหตุจลาจลโดยบุกเข้าไปยังในพื้นที่ของสภาคองเกรส สหรัฐฯ ทำให้การรับรองผลการเลือกตั้งที่กำลังเกิดขึ้นนั้นต้องหยุดชะงัก หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวมีการเสริมกำลังจากกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิเพื่อควบคุมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งมีผลจนถึงวันที่ 24 มกราคม โดยครอบคลุมถึงพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของ โจ ไบเดน ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 20 มกราคม นี้ด้วย
ภาพที่ได้ปรากฏขึ้นบนสื่อต่างๆ นั้นได้ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่ารัฐบาลสหรัฐฯ มีการนำกองกำลังทหารสหรัฐเข้ามาใช้ในการปราบปรามจลาจลของผู้ชุมนุมในเมืองต่างๆ ของประเทศ แต่สิ่งที่เราเห็นในภาพนั้นในความเป็นจริงแล้วก็คือ กำลังพลอาสาสมัครเท่านั้น หรือที่เรียกกันว่า “กองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิ หรือ National Guard” หาใช่กองกำลังทหารจากกองทัพ
การสั่งการให้ “กองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิ” เข้ามาควบคุมสถานการณ์ ทำให้หลายคนสงสัยว่า กองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิคือหน่วยงานอะไร และทำไมสหรัฐฯต้องใช้ทหารในการควบคุมประชาชน เราจะไปทำความรู้จักกองกำลังทหารที่ถูกฝึกมาเพื่อรับมือกับประชาชนในประเทศโดยเฉพาะ
กองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิไม่ใช่ทหารอาชีพ พวกเขาเป็นกองกำลังหน่วยพิเศษในระบบกำลังสำรองของกองทัพสหรัฐฯ ที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้ว่าการมลรัฐ และสำนักงานกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิ หรือ National Guard Bureau ซึ่งเป็นหน่วยงานส่วนกลางของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ จัดเป็นกองกำลังส่วนหนึ่งของประเทศ ประกอบไปด้วย 2 หน่วยงานหลักคือ กองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิ กองทัพบก (The Army National Guard) และกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิ กองทัพอากาศ (Air National Guard) ส่วนสาเหตุที่ไม่มี Navy National Guard กับ Marine National Guard นั้นเพราะตามกฎหมายแห่งสหรัฐอเมริกา หมวดที่ 10 ว่าด้วยเรื่องบทบาทของกองทัพให้กองทัพเรือและเหล่านาวิกโยธินเป็นกองกำลังรบนอกประเทศ ด้วยเหตุนี้จึงไม่มี Navy National Guard กับ Marine National Guard ส่วนเหล่ายามฝั่ง (Coast Guard) ยิ่งไม่ใช่ไปใหญ่
กำลังพลของ National Guard แม้จะถูกฝึกเหมือนทหารทุกอย่าง แบบเดียวกับทหารประจำการ (Active Duty) ในกองทัพบกและกองทัพอากาศสหรัฐฯ และมีระบบอาวุธเหมือนกองทัพ แต่ต่างกันตรงที่พวกเขาเหล่านั้น “ไม่ใช่ทหารอาชีพ” หรือ ทหารกองประจำการปกติ (ถึงแม้ว่าบางรายจะสมัครใจไปรบนอกประเทศ) ที่ทำงานเต็มเวลา อารมณ์ประมาณเหมือนคนทำงาน Part-Time ซะมากกว่า ไม่ต้องเข้างานเต็มเวลาก็ได้ ด้วยความที่รัฐธรรมนูญสหรัฐฯไม่ให้ใช้กำลังทหารภายในประเทศ ทำให้ National Guard ขึ้นตรงกับผู้ว่าการรัฐต่างๆ การจะใช้กำลังของ National Guard จะต้องมีการประกาศใช้ State of Emergency มีเหตุจำเป็นที่ต้องเรียกตัวไป (ใช่แล้วครับ จันทร์ถึงศุกร์คุณอาจจะเป็นหมอฟัน ครูสอนคณิตศาสตร์ ช่างซ่อมรถ นายธนาคาร ฟรีแลนซ์ หรืออะไรก็ตาม แต่วันหยุดคุณสามารถเปลี่ยนบทบาทมาเป็นนักบินขับไล่ นักบินเฮลิคอปเตอร์ ทหารราบ ทหารม้า หรือทหารปืนใหญ่ได้ทั้งนั้น)
ซึ่งภารกิจหลักๆ ของ National Guard จึงเป็นการรักษาความสงบและช่วยเหลือด้านความมั่นคงภายในรัฐที่ประจำอยู่เป็นหลัก โดยมีหน้าที่หลักคือ การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในมลรัฐตามคำสั่งของผู้ว่าการมลรัฐ เช่น การเข้าควบคุมสถานการณ์ในภาวะฉุกเฉิน อาทิ การจลาจล การก่อการร้าย และการบรรเทาสาธารณภัยจากภัยพิบัติต่างๆ ส่วนหน้าที่ในระดับชาติ ก็คือการปฏิบัติงานตามคำสั่งของรัฐบาลกลาง เช่น การรักษาความสงบเรียบร้อยหลังการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ หรือ ภาวะสงคราม เป็นต้น โดยหน่วยงาน National Guard ทั้งหมดจะขึ้นตรงต่อ National Guard Bureau และขึ้นตรงกับผู้ว่าการรัฐ อีกทีนึง
ที่ผ่านมา กองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิ เคยเข้าควบคุมสถานการณ์ความวุ่นวายภายในประเทศมาแล้วหลายครั้ง เช่น ในปี ค.ศ. 1970 มีการเข้าควบคุมกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงต่อต้านสงครามเวียดนาม ที่มหาวิทยาลัยเคนท์สเตท มลรัฐโอไฮโอ เหตุการณ์ครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิต 4 รายจากการใช้กระสุนจริงเข้าสลายการชุมนุม จากฐานข้อมูลในเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิสหรัฐ พบว่า เท่าที่ผ่านมาในรอบกว่า 1 ศตวรรษ เคยมีการใช้อำนาจประธานาธิบดี สั่งการเรียกพลจากกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิ เข้าควบคุมเหตุการณ์ความไม่สงบภายในประเทศสหรัฐประมาณ 12 ครั้ง ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในสมัยการประท้วงเรียกร้องสิทธิพลเมือง
อาจกล่าวได้ว่า กองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิ คือกองทหารของมลรัฐและเขตปกครองพิเศษของสหรัฐฯ ซึ่งมีหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยและบรรเทาสาธารณะภัยภายในมลรัฐเป็นหลัก ไม่ใช่การทำสงครามกับศัตรูภายนอกประเทศโดยตรง และแม้ว่าจะถูกฝึกหรือให้รับมือกับการจลาจลและประชาชนมาโดยเฉพาะ แต่การที่พวกเขาสามารถใช้อาวุธปราบปรามผู้ชุมนุมหรือใช้อาวุธในการควบคุมสถานการณ์ ก็อาจทำให้เกิดการสูญเสียถึงชีวิตขึ้นได้
บางคนเรียกกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิว่า “ทหารบ้าน” ทำหน้าที่ควบคุมดูแลความสงบเรียบร้อยในมลรัฐที่สังกัดอยู่ ส่วนหนึ่งก็เป็นประชาชนคนธรรมดาที่ไปรับการฝึกแล้วมาทำงานในค่ายเป็นบางเวลาเท่านั้น ต่างกับกำลังพลที่ทำเต็มเวลามักจะเป็นนายทหารชั้นประทวนและสัญญาบัตร
หากพิจารณาในโครงสร้างทางทหารของกองทัพบกอเมริกัน กองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิ ( National Guard ) หรือบ้างก็เรียกกันว่า ‘กองกำลังพิทักษ์ชาติ’ มีสถานะเป็นกำลังสำรองในระบบของกองทัพสหรัฐ กองกำลังส่วนนี้อยู่ในอำนาจความรับผิดชอบโดยตรงของผู้ว่าการรัฐ คือเป็นกำลังพลทหารที่ขึ้นอยู่กับผู้ว่าการรัฐต่างๆ และผู้ว่าในแต่ละรัฐสามารถประกาศระดมพลเพื่อใช้ในภาวะฉุกเฉินได้ตามที่ต้องการ ในส่วนงบประมาณนั้น กองกำลังส่วนนี้ได้รับงบสองทางจากทั้งกระทรวงกลาโหมและจากรัฐนั้นๆ แต่ในกรณีที่มีสถานการณ์ฉุกเฉินขนาดใหญ่ รัฐบาลกลางสามารถใช้อำนาจในการระดมพลของกองกำลังป้องกันชาติ หรือนอกจากนั้นในกรณีพิเศษ ได้เช่น ภัยพิบัติทางธรรมชาติ การช่วยเหลือประชาชน การสนับสนุนกองทัพในด้านต่าง ๆ การฝึกร่วม/ผสมระหว่างประเทศ
โดยสรุปแล้ว กองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิจะทำหน้าที่ปฏิบัติภารกิจตามที่ผู้ว่าการรัฐหรือประธานาธิบดีกำหนด โดยเฉพาะอย่างยิ่งภารกิจด้านความมั่นคงต่างๆ ที่จะเป็นหน้าที่ของกองกำลังพิทักษ์รัฐ โดยกำลังพลเป็นพลเรือนที่ทำงานอื่นเต็มเวลาและมารับงานเป็นกองกำลังพิทักษ์รัฐนอกเวลา และจะเข้ารายงานตัวปฏิบัติหน้าที่ถ้ามีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดยผู้ว่าการรัฐหรือประธานาธิบดีมีคำสั่งเรียกระดมพล สำหรับกองทัพสหรัฐนั้นจะรับหน้าที่และภารกิจในการป้องกันประเทศและการรบนอกประเทศเท่านั้น
แม้ว่ากองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิ (National Guard) จะไม่ได้เป็นทหารเต็มตัวเหมือนทหารประจำการปกติ และถึงแม้กำลังพลบางรายจะสมัครใจไปรบในอัฟกานิสถานและอิรักมาแล้วก็ตาม แต่พวกเขาเหล่านั้นก็พร้อมเสมอ เมื่อประเทศชาติต้องการพวกเขา สมดั่งคำขวัญที่ว่า
ที่มา: Behind The Scene: Digital Publishing